ยุติธรรมไทยรั้งเกือบท้ายอันดับโลก

ยุติธรรมไทยรั้งเกือบท้ายอันดับโลก


โครงการด้านความยุติธรรมโลก รายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม จากการสำรวจข้อมูลโดยละเอียดนาน 5 ปี ใน 97 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับกลางจนเกือบท้าย ขณะที่ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียติด 5 อันดับแรก

โครงการด้านความยุติธรรมโลก รายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม จากการสำรวจข้อมูลโดยละเอียดนาน 5 ปี ใน 97 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับกลางจนเกือบท้าย ขณะที่ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียติด 5 อันดับแรก

World Justice Project หรือ โครงการด้านความยุติธรรมโลก เปิดเผยรายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม ประจำปี 2555 ซึ่งดัชนีดังกล่าว สำรวจข้อมูลจาก 90 ประเทศทั่วโลก และขอบเขตอำนาจศาลที่ครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรบนโลกใบนี้

การจัดทำรายงานฉบับนี้ ใช้เวลานานกว่า 5 ปี เพื่อการพัฒนา ทดสอบ และตรวจสอบข้อมูล ที่ได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละประเทศกว่า 97,000 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อีกกว่า 2,500 คน

ซึ่งมี 8 ประเด็นหลักในการชี้วัด คือ

1. อำนาจรัฐที่มีจำกัด โดยประเทศใดที่ปล่อยให้รัฐบาลมีอำนาจมากจนเกินไป จนบดบังระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อาจเป็นต้นเหตุให้คะแนนในข้อนี้ตกลงมาได้ ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 55 จากทั้งหมด 97 ประเทศ ส่วนประเทศที่ได้อันดับที่ 1 นั้น คือประเทศเดนมาร์ก

ปัจจัยที่ 2 คือปลอดคอรัปชั่น ใน 4 กลุ่มอำนาจหลักของประเทศ นั่นก็คืออำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ รวมถึงกลุ่มตำรวจและทหาร โดยกำหนดว่าทั้ง 4 กลุ่มไม่ควรใช้อำนาจในทางที่ผิด เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องหรือตนเอง ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 65 จากทั้งหมด 97 ประเทศ ส่วนประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลกนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป เนื่องจากประเทศเหล่านี้ มีการคอรัปชั่นที่ต่ำมาก

ปัจจัยที่ 3 คือเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งโครงการด้านความยุติธรรมโลกมองว่า การที่รัฐปล่อยให้เกิดปัญหาอาชญากรรม เท่ากับว่ารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในข้อนี้ ไทยอยู่อันดับที่ 71 ขณะที่ สิงคโปร์ เพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน อยู่ในอันดับที่ 1 หรือทำหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดีที่สุดในโลก

ปัจจัยที่ 4 การปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยประเทศใดที่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมนั้น ประชาชนจะได้รับการปกป้องสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็น โดยไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 38 ส่วนประเทศที่ได้ลำดับที่ 1 นั้นคือประเทศสวีเดน ขณะที่ประเทศจีน ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 94 จากทั้งหมด 97 ประเทศ

ปัจจัยที่ 5 การที่รัฐบาลเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งประเด็นดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักนิติธรรม โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งในข้อนี้ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 42 ส่วนอันดับที่ 1 นั้นคือประเทศสวีเดน

ปัจจัยที่ 6 การรักษากฎระเบียบในสังคม เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกัน รัฐต้องไม่กระทำการอันเกินกว่าเหตุหรือเกินขอบเขตอำนาจของกฎหมาย ซึ่งปัจจัยข้อนี้ ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 53 ส่วนประเทศญี่ปุ่น ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 และอันดับ 1 คือประเทศสวีเดน

ปัจจัยที่ 7 กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพ ในที่นี้หมายถึงการดำเนินการตัดสินคดีความของศาล ต้องมีความยุติธรรมไม่ล่าช้า และประชาชนสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน และหลังจากที่มีการตัดสินคดีความแล้ว จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายตามการตัดสินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 80 จาก 97 ประเทศ ส่วนนอร์เวย์ครองอันดับที่ 1

ปัจจัยสุดท้ายคือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญของสังคมที่ยึดหลักนิติธรรม โดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดอาญาอย่างเหมาะสม และในขณะเดียวกัน สิทธิของผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาและเหยื่อของคดีดังกล่าว ก็ต้องได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 35 ขณะที่ เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 1 ส่วนสิงคโปร์นั้นอยู่ที่อันดับ 3

โครงการด้านความยุติธรรมโลก เป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร ที่มุ่งส่งเสริมหลักนิติธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาชุมชน ให้มีโอกาสและความเท่าเทียมทั่วโลก ก่อนหน้านี้เคยจัดทำการสำรวจระดับโลกมาแล้ว 2 ครั้ง




ที่มา news.voicetv

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์