1. จับเข่าคุยกัน เปิดใจไปเลยว่าคุณเป็นคนใช้เงินแบบไหน “ชอบซื้อของทุกครั้งที่เงินเดือนออก?” แล้วเขาล่ะ? เขาเป็นคนชอบเก็บเงินหรือไม่มีเงินเก็บ แต่ละฝ่ายมีรายได้ รายจ่าย โบนัสเท่าไหร่ รับพฤติกรรมการใช้ เงินของแต่ล่ะฝ่ายได้ไหม เรื่องนี้เซ้นซิทีฟ ดังนั้น ต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆทำความเข้าใจกัน แต่ถ้าเขาเป็นหนุ่มไม่มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้เอาเสียเลย ก็ถึงเวลาที่คุณต้องทบทวนความสัมพันธ์ใหม่
2. เมื่อจะลงเอยกันแล้ว “คู่รักควรมีประเป๋าสตางค์ร่วมกัน” ปรึกษากันซะว่า “บัญชีร่วม” ที่จะออมด้วยกันนี้ เพื่อไว้ใช้จัดการกับอะไรบ้าง บ้าน รถ การท่องเที่ยว ลูกๆ หรือเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน วินัยด้านการเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกครอบครัว เป็นสิ่งที่คู่รักควรทำความคุ้นเคย และตกลงกันว่าเงินก้อนนี้จะนำมาใช้ได้เมื่อไหร่
3. รายจ่ายในครอบครัว ใครจ่าย เธอหรือฉัน? คุณหวังให้เขาดูแลทั้งชีวิต และรับผิดชอบทุกอย่างเกี่ยวกับคุณ (ถ้าเขามีเงินเหลือเฟือ และเป็นคนดี) หรือเป็นสาวมั่น ที่มีความสุขในการทำงาน รักการแบ่งปัน? คงจะดีถ้าคุณทั้งคู่ยังมีเงินเหลือพอสำหรับความสุขส่วนตัวบ้าง ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันก็ควร “ร่วมกันแบ่งเบาภาระด้วยความเข้าใจ” ไม่สำคัญว่าต้องแบ่งกันจ่ายคนละครึ่งถึงจะแฟร์ ในบางคู่ฝ่ายชายมีรายได้สูงกว่า ในขณะที่บางคู่ฝ่ายหญิงมีรายได้มากกว่า คุณอาจจ่ายน้อยกว่าก็ได้ ที่สำคัญคือ ทั้งคู่มีส่วนร่วมในการดูแลชีวิตของแต่ละฝ่าย