จะไม่เดือดร้อนได้ แม้มีผู้ว่าร้าย

จะไม่เดือดร้อน แม้มีผู้นินทาว่าร้าย


โลกธรรม ๘ ประการ คือ...
ลาภ ความเสื่อมลาภ
ยศ ความเสื่อมยศ
นินทา สรรเสริญ
สุข ทุกข์.....

เป็นธรรมดาที่ไม่อาจมีผู้ปฏิเสธได้ว่าไม่เคยเกิดกับตนเอง หรือไม่
เคยเกิดกับผู้หนึ่งผู้ใดเลย ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ต้องเกิดกับทุกคน
ที่เกิดมาในโลก ไม่มียกเว้น การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ ได้นำ
ความจริงนี้มากล่าวหลายครั้งหลายหนแล้ว ด้วยปรารถนาว่า จะมี
ผู้ที่รับฟังแล้วสะดุดใจสะดุดปัญญา เกิดผลเป็นการคลายความยึดมั่น
ถือมั่นเมื่อต้องประสบโลกธรรมดังกล่าว เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดี
คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ยินดีพอใจจนเกิดความหลงลืมนึก
ถึงความจริงว่า เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดีได้ ก็จักประสบโลกธรรม
ฝ่ายไม่ดีได้เช่นกัน ไม่ปล่อยใจให้ฟูขึ้น ซึ่งจะฟุบแฟบเมื่อประสบโลก-
ธรรมฝ่ายไม่ดีคือเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ หากรักษาใจ
ไว้ไม่ให้ฟูขึ้นก็จะสามารถรักษาใจไว้ไม่ให้ฟุบแฟบลงได้ ความหวั่นไหว
ก็จะไม่เกิดแก่จิตใจ ความสงบราบเรียบก็จะปรากฏอยู่ อันความสงบ
ราบเรียบในจิตใจนั้นเป็นสิ่งมีค่า ควรเป็นที่ปรารถนาควรแสวงหาด้วย
การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมีขึ้นแก่ตน

จะพูดถึงโลกธรรมฝ่ายไม่ดีอีกประการหนึ่ง คือ 'นินทา'...ซึ่งทุกคนน่า
จะเคยประสบมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่ผู้มีอายุเป็นผู้ใหญ่แล้ว
หรือผู้รู้เดียงสาแล้วจะถูกนินทาเลย เด็กที่ยังไร้เดียงสาก็ยังมีที่ถูกนินทา
ดังคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่บ้างแล้ว เช่น เด็กคนนั้นเป็นอย่างนั้น
เด็กคนนี้เป็นอย่างนี้ แต่เด็กที่ไร้เดียงสาไม่รับรู้ จึงไม่เป็นทุกข์ด้วยความ
โกรธหรือความน้อยใจเสียใจ ผู้ใหญ่รู้เรื่องและรับรู้ ทั้งยังรับไปปรุงคิด
ผู้ใหญ่ที่ถูกนินทาจึงมักเป็นทุกข์เป็นส่วนมาก ความทุกข์ของผู้ถูกนินทา
ทั้งหลายจึงเกิดจากความรู้เรื่อง ความรับรู้ และความปรุงคิด ซึ่งมีความ
ปรุงคิดเป็นสำคัญที่สุด ถ้ารู้เรื่องรับรู้คำนินทาทั้งหลายแล้วไม่ปรุงคิดให้
เกิดเป็นความโกรธหรือความเสียใจน้อยใจขึ้น ก็จะไม่มีความทุกข์ ความ
ปรุงคิดจึงสำคัญที่สุดสำหรับทุกคนเมื่อได้รับรู้ว่านินทา

การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่จะกล่าวถึงวิธีปรุวความคิดเมื่อถูกนินทา
เพื่อมิให้เป็นเหตุก่อทุกข์ด้วยความโกรธ หรือความน้อยใจเสียใจ

คำพังเพยที่ว่า...."การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีด
มากรีดหิน"...นั้นถ้าจะนำมาคิดให้ดีเมื่อต้องถูกนินทาก็จะช่วยให้ไม่เกิด
ทุกข์ได้ คิดให้ง่ายที่สุดก็คิดว่าผู้ที่กำลังนินทาเรานั้น กำลังเทน้ำทิ้ง ไม่เห็น
มันจะเกี่ยวกับเราที่ไหน ออกจากปากแล้วหมดไป เหมือนเทน้ำแล้วน้ำก็
ออกจากภาชนะไป ผู้ที่อยากนินทาได้นินทาเสียแล้วความอยากก็หมดไป
ก็เท่านั้นเอง หยุดความคิดไว้เพียงง่ายๆ เท่านี้ได้ก็จะไม่เป็นทุกข์โกรธ
แค้นหรือน้อยใจเสียใจเพราะถูกนินทา หรือจะคิดว่ารับฟังคำนินทา เหมือน
ดูคนเอามีดกรีดหินก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร อยากนินทาได้ก็นินทาไป เขาเอา
มีดกรีดหินไม่เห็นจะทำให้เราสึกหรอแหว่งเว้าหรือชอกช้ำได้เลย

คิดเช่นนี้ ให้ความคิดหยุดเพียงเท่านี้ อย่าให้ปรุงวุ่นวายกว้างขวางออก
ไป แล้วก็จะไม่เดือดร้อน เวลาถูกนินทาท่อง..."การนินทากาเลเหมือนเท
น้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน"...ไว้ให้เหมือนท่องคาถาเลยก็ยัง
ได้ จะเกิดผลเป็นความไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์เพราะหวั่นไหวด้วยความโกรธ
หรือน้อยใจเสียใจ วิธีหลังนี้เรียกว่าเป็นวิธีทำใจให้สงบแบบเดียวกับทำ
สมาธิ ให้ใจรวมอยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่ง หรือบทใดบทหนึ่ง แม้
ไม่ต้องยกเหตุผลขึ้นมาปลอบใจเลย ใจก็จะสงบอยู่ได้และจะสงบอยู่ได้
อย่างน้อยก็ชั่วเวลาที่รวมใจบริกรรมอยู่นอกจากนั้น

เมื่อรักษาสติไว้ได้ให้รวมอยู่ได้แน่วแน่อยู่กับบทบริกรรมก็ยังอาจทำให้
เกิดปัญญา คือความเข้าใจในความหมายที่ว่า..."การนินทากาเลเหมือน
เทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน"...เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วข้าง
ต้น เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะบริกรรมด้วยแล้ว ใจก็จะสงบอยู่ได้
นานต่อไปแม้เมื่อไม่ได้บริกรรมแล้ว เรียกว่านอกจากจะสงบเพราะบริกรรม
แล้วยังมีปัญญามาช่วยประคับประคองความสงบให้ดำรงอยู่สืบไป
นานเท่าที่ปัญญาจะลึกซึ้งเพียงไหน...ฯ

~สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์