ชักเย่อกับอารมณ์

ชักเย่อกับอารมณ์



ชักเย่อกับอารมณ์
โดย  พระอาจารย์อังคาร   อคฺคธมฺโม 
  
      “... ก็เพราะพวกเรางานยุ่ง เพราะพวกเรามันสมองดีเลิศจึงคิดแต่จะส่งจิตออกนอกจนเลยเขตเลยแดนนั่นแหล่ะ มันจึงทำให้พวกเราต่างคนต่างเครียด ซึ่งหากว่าไม่มีความยับยั้งชั่งใจแล้วล่ะก็ อย่างน้อยๆก็ทำให้ตัวเองหงุดหงิด มากกว่านั้นก็เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนรอบข้างทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน ผัวเมีย ญาติพี่น้อง หมูหมากาไก่ หรือแม้กระทั่งบางครั้งข้าวของเครื่องใช้ก็ยังพลอยโดนหางเลขเข้าไปด้วย... ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้ให้มาดูลมหายใจเข้า-ออกนั้นก็เพื่อจะให้พวกเราได้รู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของพวกเรา ตัวที่จะนำสุขนำทุกข์มาสู่พวกเราทั้งชาตินี้และชาติหน้าตราบเท่าที่พวกเรายังมีความสำคัญมั่นหมายอยู่กับสรรพสิ่งนั่นแหล่ะ ... จิต” คำเดียวสั้นๆ มันคือ “ผู้รู้” มันเป็นนามธรรม มันเป็นธาตุรู้ มันจะต้องออกรู้จะให้มันอยู่เฉยๆ ลอยๆ ไม่ได้หรอกในเบื้องต้น เนื่องจากการรู้ของมันยังไม่มีวุฒิภาวะพอ เหมือนเด็กเล็กๆที่คอยสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับพ่อแม่นั่นแหล่ะ... เดี๋ยวก็เรื่องนั้นเดี๋ยวก็เรื่องนี้.. จนกว่าเขาจะเล่นจนเหนื่อยแล้วก็หลับไปเองนั่นล่ะ พ่อกับแม่ถึงจะพอได้หายใจ หายคอ โล่งสะดวกขึ้นบ้าง..ฉันใดก็ฉันนั้น..จิตก็เหมือนกันเราจึงต้องหาเครื่องอยู่หรือของเล่นให้มันเล่น อย่างเช่นให้มันรู้อยู่ หรือเล่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือเพิ่มคำบริกรรมเข้าไปด้วยก็ได้เช่น หายใจเข้าก็พุท  หายใจออกก็โธ โดยอาศัย “สติ” คือความระลึกได้ “สัมปชัญญะ”   ความรู้ตัวเป็นพ่อเป็นแม่ช่วยกันประคับประคองคอยกำกับ ดูแลลมหายใจมันกระทบที่ไหนชัดเจนก็ให้สติคือความระลึกได้กำหนดดูอยู่ที่นั่นมันจะแว้บหนีจากลมหายใจ จากคำบริกรรมไปเที่ยวที่ไหน ก็ให้สัมปชัญญะความรู้ตัว พยายามรู้ให้เท่าทันแล้วดึงมันมาแว้บไปก็ดึงมา...แว้บไปก็ดึงมา...ทำอยู่อย่างนั้นแหล่ะเหมือนเล่น“ชักเย่อ” กันเดี๋ยวก็พุท..โธ ..ๆๆ  เดี๋ยวมันก็แว้บไป เรื่องการเรื่องงาน เรื่องบ้านเรื่องช่อง เรื่องรักเรื่องชัง เรื่องดีเรื่องชั่ว เดี๋ยวก็อดีตเดี๋ยวก็อนาคต เราก็พยายามดึงให้มันมาอยู่กับปัจจุบัน คือ หายใจเข้าก็พุท..หายใจออกก็โธ..เอาอยู่อย่างนี้แหล่ะ วันละ 5 นาที 10 นาที ก็ยังดีใครอินทรีย์แก่กล้ามีเวลามากก็ทำให้มาก เจริญให้มาก ทำจนจิตมันสงบเยือกเย็นจนเป็นสมาธิได้ ก็ยิ่งจะเป็นบุญเป็นกุศลอันมหาศาลแก่ตัวเอง แต่ถึงแม้นว่า มันยังไม่สงบลึกจนเป็นสมาธิอะไรก็ตามก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจอะไร อันจะเป็นการไปเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองเปล่าๆ ก็ต้องหัดคิดให้เป็นไปในทางบวกบ้างว่า..ช่างมันเถอะอย่างน้อยๆเราก็ไม่ได้ไปสร้างบาปสร้างเวรอะไรกับใคร อย่างน้อยมันจะต้องสงบอารมณ์บ้างล่ะ (ถือซะว่าได้เซฟสมองไว้ใช้งานในวันต่อไป) อย่างน้อยๆก็จะได้รู้ได้เห็นความเป็นไปของจิตบ้างล่ะ (เดี๋ยวก็โดดไปคว้าเรื่องนั้นจับเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา) หรืออย่างน้อยๆ ก็จะต้องรู้จักการยับยั้งชั่งใจ รู้จักการผิดหวังบ้างล่ะ (คือเคยคิดเคยปล่อยอารมณ์ตามสบายเรื่อยเฉื่อยตลอดมาแต่พอเวลานั่งภาวนากลับต้องถูกเบรคอารมณ์ ถูกเบรคความคิดไงล่ะ)

                ...โดยปกติคนเรานั้นจะชอบทำอะไรตามใจตัวเองอยู่แล้ว อยากคิดก็คิด อยากทำอะไรก็ทำ แต่ปานนั้นก็ยังบ่นว่าทุกข์ว่าไม่สบาย ว่าไม่ได้ดั่งใจเลย ในเมื่อมันเป็นเช่นนั้น พวกเราก็มาลองทำตามพระพุทธเจ้าดูบ้าง จากน้อยไปหามาก วันละ 5 นาที 10 นาที ก็ไม่น่าจะทำให้อะไรเสียหาย นอกจากกิเลสมันจะเสียความรู้สึกบ้างที่เราไปแข็งข้อกับมัน เพราะในขณะที่เราฝึกปฏิบัติจิตนั้น เราจะต้องฝืนความคิด ความเห็นเดิมๆของเราหมด อยากคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไม่ให้ไปคิดไปปรุง ดึงให้มาอยู่กับลมหายใจนี่ซะ หายใจเข้าก็พุท  หายใจออกก็โธ พุท..โธ..ๆๆ ..อยากจะลุกจะเดินจะนอนจะไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่อะไรต่างๆเหล่านี้ เราก็ต้องฝืนต้องใช้ขันติ ความอดทนอดกลั้นเอา มันไม่ตายหรอก
ทำบ่อยๆทำให้มาก เจริญให้มาก สติสัมปชัญญะก็จะเข้มแข็งขึ้น จนรู้เท่าทันอาการของจิต จนกระทั่งสามารถควบคุมจิตได้ จิตใจก็จะเริ่มมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังแห่งสติปัญญา วลามีเรื่องอะไรมากระทบกระทั่งก็จะได้รู้จักหยุดพิจารณา รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดบวกลบคูณหาร ถึงผลที่จะตามมาภายหลังก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจพูดหรือตัดสินใจทำลงไปในทุกๆเรื่อง ถ้าจิตของพวกเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ พวกเราก็จะรู้เองนั่นแหล่ะว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนหรอก ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์แบบหรอก ไม่มีอะไรดีไปหมด ไม่มีอะไรชั่วไปหมดมันจะต้องคละเคล้ากันอยู่อย่างนี้ เราไม่สามารถไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้อย่างใจเราหวังหรอก พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกให้พวกเรารู้จักทำใจไงล่ะ...ทำใจให้มันนิ่งๆซะบ้างเพื่อที่จะได้รู้ได้เห็นถึงความแปรปรวนต่างๆ ชัดเจนขึ้น จะได้เห็นโทษเห็นคุณของความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงกับความนิ่งนั้นว่ามันทุกข์ มันสุขต่างกันอย่างไร ถึงที่สุดก็จะได้รู้จักกับการ..ปล่อยวาง..ตามกำลังแห่งสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของตัวเอง .. ปล่อยวางมากก็สุขมากทุกข์น้อย....ปล่อยวางน้อยก็สุขน้อยทุกข์มาก..ทำเอาเองทั้งนั้นแหล่ะ...เอวัง...”

ชักเย่อกับอารมณ์


ขอบคุณทำดีดอทเนต

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์