ความกลัวคืออะไร?

ความกลัวคืออะไร?


ความกลัวคืออะไร?


พจนานุกรมให้คำจำกัดความของความกลัวว่า

กลัว [กฺลัว] ก. รู้สึกไม่อยากประสบสิ่งที่ไม่ดีแก่ตัว รู้สึกหวาดเพราะคาดว่าจะประสบภัย เช่น กลัวความยากจน กลัวถูกตำหนิติเตียน กลัวเจ็บป่วย กลัวสูญเสียสิ่งที่รัก หรือของรัก กลัวแก่ชรา กลัวตาย ฯลฯ ความรู้สึกกดดันที่เกิดจากความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น, หรืออันตราย หรือสิ่งเลวร้าย และอื่น ๆ หรือโดยความคิดเช่นนั้น ความกลัวจึงเป็น ต้นเหตุของความทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความอยากทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น คือความเกลียดชัง ความกลัวต่างๆ ไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะเจอ ตัณหาทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาในจิตใจ ถ้าไม่มีตัณหาก็จะไม่มีความทุกข์

การเกิดขึ้น ต้นเหตุหรือมูลเหตุสำคัญของความกลัว


คือ อุปาทาน ซึ่งแตกตัวออกมา เป็นกามบ้าง เป็นความรักบ้าง เป็น สิ่งที่รักบ้าง เป็นตัณหาบ้าง อย่างพระพุทธพจน์ที่ว่า ความกลัวเกิดจากกาม ความกลัวเกิดจากสิ่งที่รัก ความกลัวเกิดจากความรัก ความกลัวเกิดจากตัณหา

ถ้าจะตัดต้นเหตุของความกลัว จะขจัดความกลัวต้องทำอย่างไร

เคยอ่านเจอในหนังสือชัยชนะแปดประการ ของอาจารย์วศิน อินทสระ บอกว่า ถ้ามีกำลังพอก็ตรงเข้าตัดที่ต้นเหตุเลย เช่น ตัดอุปาทาน ไปเสียเลย ตัดรักไปเลย ตัดตัณหาไปเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอก็ ค่อยๆ บรรเทาให้เบาบางลง โดยพยายามทำความดีทั้งทางโลกและทางธรรม สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการจะทำได้ และตระหนักเสมอว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วใจของคนผู้นั้นจะได้ที่พึ่งที่ประเสริฐ แล้วก็จะตัดต้นเหตุของความกลัวไปได้มาก หรือเอาชนะความกลัวด้วยความกล้าหาญ แต่ถ้าจะถามว่าทำอย่างไรถึงจะกล้าหาญ ตอบว่า ขอให้หลักย่อๆ เอาไว้

1. สร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยึดไว้เป็นที่พึ่ง เช่นว่า คุณความดีจะคุ้มครองเรา เพราะเรายึดความดี ไว้เป็นที่พึ่ง ก็ให้มั่นใจว่าคุณความดีจะช่วยเรา ฉะนั้น ความกล้า ก็เกิดขึ้น ไม่กลัว ความกล้าที่จะทำสิ่งที่ควรทำก็เกิดขึ้น สร้าง ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยึดไว้เป็นที่พึ่ง ใครที่เห็นอะไรเป็นที่พึ่งได้ยึด สิ่งนั้นเอาไว้เชื่อมั่น

2. อย่าคิดถึงสิ่งที่กลัว กลัวสิ่งใดก็อย่านึกสิ่งนั้น ให้นึกอย่างอื่น ส่งใจไปที่อื่นเสีย คือเมื่อกำลังนึกถึงสิ่งอื่น ไม่นึกถึงสิ่งที่กลัว ในธชัคคสูตร พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถึงภิกษุที่อยู่ป่าแล้วก็กลัว ท่านให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เล่าถึง เทวาสุรสงคราม เทพกับอสูรรบกัน ท้าวสักกะท่านให้ดูธง ให้ดูยอดธง ไว้เป็นกำลังใจ เขาดูยอดธงก็ไม่กลัวฉันใด ภิกษุทั้งหลายเมื่อเกิดความกลัว ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ ถ้ายังไม่หายก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ ถ้ายังไม่หายก็ระลึกถึงพระสังฆคุณ ก็จะหายกลัว ก็คือเอาใจไปไว้ที่อื่น ไม่ไว้ที่ผีหรือที่ความกลัว

3. กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว ขอยกตัวอย่างพุทธจริยา ในภยเภรวสูตร พระสูตรที่แปลว่า พระสูตรที่น่ากลัว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเอาไว้ว่าเมื่อยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ทรงเสพเสนาสนะป่า แล้วก็ทรงสะดุ้งกลัวในบางคราว ทรงมีวิธีฝึกให้หายกลัว โดยยืนอยู่ที่ใด นั่งอยู่ที่ใด เมื่อรู้สึกกลัวก็จะยืนอยู่ตรงนั้นจนกว่าจะหายกลัว เดินอยู่ที่ไหน เกิดความกลัวก็จะเดินอยู่ตรงนั้น นั่งอยู่ตรงไหนเกิดความกลัวก็จะนั่งอยู่ตรงนั้น จนกว่าจะหายกลัว นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า ฝึกลงไปตรงๆ เผชิญหน้ากับความกลัวตรงๆ




ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักร

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์