ฆราวาสธรรม 4 นิยามความรักในพุทธศาสนา

ฆราวาสธรรม 4 นิยามความรักในพุทธศาสนา


ไม่มีใครบนโลกนี้เลยที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากความรัก และเชื่อได้ว่าหลายคนคงเคยได้ลองให้นิยามความรักในแบบฉบับของตนเองมาก่อน เช่น "รัก คือ การให้" "รัก คือ ความจริงใจ" "รัก คือ การเข้าใจซึ่งกันและกัน" "รัก คือ การอดทน" ไปจนถึง "รัก คือ ความทุกข์" การนิยามความรักของแต่ละบุคคลจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แต่ละคนประสบมา

ในพระพุทธศาสนามีคำกล่าวที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์" ซึ่งอาจตีความหมายคำว่า รักว่า คือ ความทุกข์ ได้เช่นเดียวกับคำนิยามของหลายๆ คน แต่อย่างไรก็ดี ในหลักคำสอนของพุทธศาสนาก็ยังมีการกล่าวถึงหลักธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติตนสำหรับทุกคนที่มีความรักด้วยเช่นกัน เราเรียกหลักธรรมดังกล่าวนี้ว่า "ฆราวาสธรรม 4"

ฆราวาสธรรม 4 เป็นคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหลักธรรมที่พระองค์ทรงมอบสำหรับผู้ครองเรือนได้ปฏิบัติ เพื่อเสริมให้มีความสุขในชีวิตยิ่งขึ้น ประกอบด้วยหลักธรรม 4 ข้อ ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ

สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อบุคคลที่รัก

การคบหาสมาคมระหว่างบุคคลในสังคมไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จำต้องมีหลักธรรมสัจจะข้อนี้อยู่ด้วยเสมอ เพราะการแสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์และความจริงใจต่อบุคคลที่เรารู้จักถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะสามารถสานต่อในระยะยาวต่อไปอีกได้หรือไม่

สำหรับคนที่มีความรัก การมีความซื่อสัตย์และความจริงใจ ให้แก่กันก็ย่อมจะทำให้เกิดความไว้วางใจ ความเชื่อใจระหว่างตนทั้งคู่ หากบุคคลใดขาดสัจจะต่อคนรัก ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร้าวฉาน ซึ่งยากนักที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนหลายคนได้ให้นิยามความรักว่าคือความจริงใจให้แก่กัน นั้นเพราะเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่บุคคลที่รักกันพึงมีให้แก่กันเป็นอันดับแรก หรืออาจกล่าวได้ว่า สัจจะ เป็นหลักธรรมพื้นฐาน สำหรับทุกคนที่มีความรัก พึงจะระลึกและปฏิบัติอยู่เสมอ

ทมะ คือ การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ การข่มใจ การปรับตัว

การอยู่ร่วมกันในสังคม หรืออยู่กับคนที่เรารักนั้น เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากแต่ละคนต่างมาจากพื้นฐานชีวิต และประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงไม่มีใครที่สามารถเป็นได้ทุกอย่างตามที่ใจของเราคิด และเช่นเดียวกัน ตัวเราเองก็อาจไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ทุกอย่างดังที่คนอื่นต้องการ หลักธรรมในข้อ ทมะ จึงเป็นการฝึกข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน เพื่อที่จะทำให้เรายอมรับในจุดเด่น และข้อบกพร่องของตัวบุคคลรอบข้าง

หลักธรรม ทมะ เป็นหลักธรรมที่เน้นในเรื่องของการใช้ปัญญาในการตัดสินใจ ควบคุมจิตใจ ในการทำความเข้าใจคนที่เรารัก เมื่อที่ขาดธรรมข้อนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการขาดการใช้สติปัญญาในการพิจารณา ปล่อยให้ข้อแตกต่างปลีกย่อยทางอุปนิสัยและการอบรม กลายเป็นเหตุแตกแยกสามัคคีใหญ่โต และถ้าไม่สามารถปรับตนเข้าหากันได้ ก็เป็นอันต้องทำลายชีวิตคู่ครองแยกทางขาดจากกัน

เมื่อทุกคนต่างรู้ดีว่าไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง ผู้ที่มีความรักทุกคนจึงปราถนาที่จะได้รับความเข้าใจ จากคนผู้ที่เรารัก ผู้ที่ให้คำจำกัดความของความรักว่าคือความเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงแสดงให้เห็นได้ชัดว่า หลักทมะ มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่รักอย่างไร

ขันติ ความอดทน อดกลั้น

การใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันนอกจากจะต้องมีความซื่อสัตย์ ความจริงใจ และความเข้าใจกันแล้ว จะต้องมีความอดทนอดกลั้น เพราะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนอกจากจะมีข้อขัดแย้งแตกต่างทางด้านอุปนิสัยการอบรม ประสบการณ์เดิม บางคนอาจมีเหตุล่วงเกินรุนแรง ซึ่งอาจเป็นซึ่งอาจะเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไปความร้ายจึงจะระงับลงไป

หลักขันติแตกต่างจากหลักทมะตรงที่มุ่งให้เกิดความอดทนโดยเน้นที่ร่างกาย ที่อดทนต่อความยากลำบากกับคนที่เรารัก เพราะในการใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เรารัก อาจต้องพบเจอกับความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่างๆ ในการประกอบการงานอาชีพเป็นต้น ดังนั้นการร่วมหัวจมท้ายที่จะอดทนเผชิญและฟันฝ่าต่อความยากลำบากด้วยกันถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักของคนทั้งสอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน จะต้องมีสติอดกลั้น คิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไข และมีความอดทนเพียรพยายามเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันก็จะสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ที่ร้ายไปด้วยกันได้ แต่หากชีวิตของคู่ครองที่ขาดความอดทน ย่อมไม่อาจประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นประดุจมรสุมแห่งชีวิตไปได้

หากใครเคยนิยามความรักของตนเองไว้ว่าคือการอยู่เตียงข้างกันไม่ว่าในเวลาที่ทุกข์หรือสุข นั่นก็หมายความว่า คุณกำลังพูดถึงขันติธรรมที่คุณรักคนรัก จะต้องยึดเป็นข้อปฏิบัติประจำใจ

จาคะ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปัน

"ทั้ง...ชีวิตจิตใจ ฉันมีแต่ให้.... ให้เธอ" ท่อนหนึ่งจากเพลงให้ ที่เคยโด่งดังในอดีตแสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของการให้ ว่าควรเป็นนิยามหนึ่งของความรัก ที่สอดคล้องกับหลักฆราวสธรรม 4 ในข้อจาคะ นี้

หากทุกคนลองสังเกตตัวเองเวลาที่เราทำอะไร หรือให้สิ่งใดกับผู้อื่นด้วยความเต็มใจ จะพบว่าความสุขของผู้ที่รับสิ่งนั้นจากเรา จะถูกส่งผ่านมาถึงตัวเราเองด้วย นั้นแสดงให้เห็นว่าการให้นั่นมอบความสุขให้กับคนทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้ และผู้รับ

การให้ในที่นี้ มิใช่หมายแต่เพียงการเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของอันเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีธุระกิจใหญ่เป็นต้น ก็เสียสละความสุขความพอใจของตน ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจได้โดยประการใดประการหนึ่ง ตามความเหมาะสมรวมความว่า เป็นผู้จิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว

ชีวิตครอบครัวที่ขาดจาคะ ก็คล้ายการลงทุนที่ปราศจากผลกำไรมาเพิ่มเติม ส่วนที่มีมาแต่เดิมก็คงที่หรือค่อยร่อยหรอพร่องไป หรือเหมือนต้นไม้ที่มิได้รับการบำรุง ก็มีแต่อับเฉา ร่วงโรย ไม่มีความสดชื่นงอกงาม

ประเด็นที่เกี่ยวกับการให้ อีกประเด็นหนึ่งที่อยากเสริมไว้ คือการให้ที่เรียกว่า การให้อภัยครับ เนื่องจากบางทีการให้อภัยแก่คนที่เรารักนี้อาจเป็นการบอกความหมายสรุปรวมของหลักฆราวาสธรรมอีกสามข้อข้างตนด้วย เพราะเมื่อคุณให้อภัยแก่คนที่คุณรัก นั่นเป็นการแสดงไมตรีจิตเรื่องความจริงใจของคุณ เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับความแตกต่าง และการเข้าใจในอีกฝ่าย และคุณก็เป็นผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นที่จะไม่ตอบโต้ และมุ่งร้ายกลับคืนพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกันอีกครั้ง

หลักฆราวาสธรรม ทั้ง 4 ข้อนี้ แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นมาสองพันกว่าปีแล้ว แต่หากพิจารณาดูจะพบว่ามีสามารถที่จะสื่อความหมายของความรักในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่แค่ให้เห็นถึงความหมายของรักว่าเป็นอย่างไร แต่ยังเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้มีความรักที่ดีด้วย ซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่เฉพาะระหว่างคู่ครอง 2 คนเท่านั้น แต่สามารถที่จะนำไปปฏิบัติกับทุกคนในสังคมที่เราอาศัยเพื่อที่จะทำให้สังคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักต่อกัน

ท้ายที่สุด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้จะได้นำหลักฆราวาสธรรม 4 นี้ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอ่านจบนำไปปฏิบัติทันทีกับทุกคน จะให้คุณทางเมตตามหานิยม มีเสน่ห์ เป็นที่รักของทุกคน หากปฏิบัติกับเพื่อนฝูง จะมีแต่มิตรแท้ หากปฏิบัติกับคู่รัก แฟนจะรักแฟนจะหลง หากไม่ปฏิบัติเลยจะถูกทอดทิ้งโดดเดี่ยว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์