พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้
ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต
มีคนขี้สงสัยบางคนเปรยว่า
อ่านพุทธวจนะบางตอนแล้ว ฟังดูคล้ายพระพุทธองค์ทรงยกย่อง พระองค์เอง ผมถามว่าทำไมรู้สึกอย่างนั้น เขาบอกว่าไม่ทราบ แต่ทำไมพระพุทธวจนะจึงมักตรัสว่าเราเป็นคนเลิศในโลก เราหาคนเปรียบปานมิได้ ทำนองนี้
ท่านผู้ขี้สงสัยนั้นกล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่ตรัสตอบอุปกาชีวก อุปกาชีวกเพียงถามว่า
ท่านบวชอุทิศใคร
พระพุทธเจ้ากลับตอบในทำนองยกย่องพระองค์เองเสียยืดยาวว่า
เราเอาชนะทุกอย่าง ตรัสรู้ทุกอย่าง ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวงหลุดพ้นเพราะทำลายตัณหา เราตรัสรู้เองแล้วจะพึงอ้างใครว่าเป็นครูของเราเล่า
คนเช่นเราไม่มีใครสอน คนเช่นเราไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาหาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะเป็นผู้ดับเย็นแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว
ผมตอบท่านผู้ขี้สงสัยว่า
ไม่เห็นเป็นการ ยกย่อง ตนเองเลย ผมกลับมองไปว่าพระพุทธองค์ตรัสความจริง ความจริงมันเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์ไม่เป็นเช่นนั้นจริงสิ จึงจะถือว่าทรงยกย่องพระองค์เอง
ทุกอย่างที่ตรัสเป็นความจริงหมด เช่น
พระพุทธองค์ไม่มีครูสอน พระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง
อาจสงสัยว่า อ้าวแล้วครู (วิศวามิตรและท่านอื่น ) ผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการให้ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อาฬารดาบาสอุทกดาบสผู้ประสาทวิชาโยคะให้จนบรรลุสมาบัติขั้นแนวสัญญานาสัญญายตนะเล่า มิใช่ครูของพระองค์หรือ ทำไมตรัสว่าไม่มีครู
ใช่ครับ ท่านเหล่านั้นเป็นครูของพระองค์ วิศวามิตรเป็นต้นเป็นครูทางศิลปวิทยาการ ดาบสทั้งสองเป็นครูทางฌานสมาบัติ
แต่ครูในทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณไม่มี
ที่ว่าพระองค์ไม่มีใครสอน คือไม่มีใครสอนทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณให้ ครูในทางตรัสรู้ไม่มีครับ พระองค์ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง
นี่ก็เป็นความจริง ที่ว่าคนเช่นพระพุทธองค์ไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
หมายความว่ามนุษย์ทั้งปวงในมนุษย์โลก และเทวดาทั้งปวงในสวรรค์ไม่มีใครเท่าพระองค์ เพราะมนุษย์และเทวดาเหล่านั้นยังตกอยู่อำนาจกิเลสอยู่ ไม่พ้นวงจรการเวียนว่ายตายเกิด จะเทียบเท่าพระสัมมาสัมพุทธะได้อย่างไร
นี่ก็เป็นความจริงอีกนั่นแหละ
การตรัสความจริง ไม่เห็นจะเป็นการยกตนเองเลย
ที่ตรัสว่า ในโลกนี้ ทรงจำกัดกาลสมัยด้วยคือ ในยุคนี้ ไม่มีสัมมาสัมพุทธะผู้ประเสริฐเท่าพระองค์ ประเสริฐเท่าพระองค์ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธด้วยกัน ซึ่งก็ต้องอยู่ในยุคอื่น
พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งปวงและพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน (คือพระโคตมะพุทธ) เสมอภาคกันในการตรัสรู้ ไม่มีพระองค์ใดยิ่งหย่อนกว่าพระองค์ใด
นี้ก็เป็นความจริงอีก
พระสารีบุตร อัครสาวกก็เคยประกาศด้วยความมั่นใจว่าในปัจจุบันไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้า
พระสารีบุตรประกาศด้วยความมั่นใจเช่นนี้ ไม่ได้คิดเอาเองส่งเดช หรือเพื่อเอาพระทัยพระพุทธเจ้าแต่เป็นการพูดความจริง โดยอาศัย แนวแห่งธรรมที่ท่านรู้ (ธมฺมนฺวโย วิทิโต) ดังที่ท่านกราบทูลต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ว่า
"ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณหยั่งรู้พระทัยของพระสัมมาสัมพุทธะ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
แต่ข้าพระองค์รู้แนวธรรม เปรียบเสมือนเมืองใหญ่มีประตูสำหรับเข้า-ออกทางประตูนี้ สัตว์เล็กก็เข้า-ออกทางประตูนี้ ฉันใด แนวแห่งธรรมก็ฉันนั้น
ข้าพระองค์รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงละนิวรณ์ได้ ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต และในปัจจุบัน ก็อาศัยแนวทางนี้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเช่นกัน"
คำ พูดของพระสารีบุตรหมายความว่า ไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้าปัจจุบัน
ถึงท่าน (พระสารีบุตร) ไม่มีญาณหยั่งรู้ใจของพระพุทธเจ้าในอดีต และอนาคต ท่านก็ยืนยันได้ว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็ไม่มีองค์ใดรู้เกินกว่าพระพุทธองค์ปัจจุบัน
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงรู้เท่า ๆ กัน ไม่มีองค์ไหนรู้เกินกว่าองค์ไหน
พระสารีบุตรท่านยืนยันข้อสรุปนี้ มิได้เดาเอา หากแต่อนุมานเอาตามแนวแห่งการตรัสรู้ธรรม อนุมานอย่างไร ก็เหมือนดูเมืองทั้งเมืองไม่เห็นมีรูมีช่องไหนเลย ยกเว้นประตูใหญ่ประตูเดียว ก็อนุมานเอาว่า ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ย่อมเข้า-ออกผ่านประตูนี้ประตูเดียว นี้คือวิธีอนุมาน
อนุมานคืออาศัยหลักฐานที่ประจักษ์ชัดแล้วสาวไปหาข้อสรุปหรือคำตอบ
พระสารีบุตรท่านยกประสบการณ์ที่ตนเองประจักษ์ว่า
การละนิวรณ์ได้ การบำเพ็ญสติปัฏฐานและ โพชฌงค์ ทำให้บรรลุธรรมได้เพราะตัวท่านก็บรรลุพระอรหัตผลผ่านทางนี้
แล้ว ก็อนุมานต่อไปว่า
พระโคตรมะพุทธองค์ปัจจุบันก็บรรลุผ่านทางนี้ พระพุทธเจ้าในอดีต และอนาคตก็ผ่านทางนี้ ไม่มีพระองค์ใดบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณผ่านทางอื่น
เพราะฉะนั้นจึง ไม่มีใครเกินกว่าพระพุทธเจ้าในทางตรัสรู้ พระพุทธเจ้าอื่น ๆ ก็ไม่เกิน เพราะตรัสรู้เรื่องเดียวกัน และตรัสรู้เท่า ๆ กัน
แต่สำหรับมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าโลกไหนยุคไหน หาผู้เสมอเหมือนพระสัมมาสัมพุทธะมิได้แล
ที่มา พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ใน บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต, หน้า ๔๓-๔๖)