มันไม่เที่ยง (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
มันไม่เที่ยง
โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
พระท่านบอกว่ามันไม่ เที่ยง ของที่มันแตกได้มันก็ต้องแตก ของตายได้มันก็ต้องตาย ของที่มันอาจจะหายได้มันก็ต้องหาย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เอามาไว้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจปลอบโยนใจไม่ให้เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น เช่นว่าของที่เรารักตกแตก ถ้าเราไม่รู้ธรรมะก็ไปเสียดมเสียดาย บางทีก็ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับเอาเลยทีเดียวเพราะว่าของนั้นเก่าราคาแพง เราไปติดใจในสิ่งเหล่านั้น
แต่ถ้าเรานึกถึงธรรมะว่าสิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงแล้วมันก็แตกได้ พอนึกได้อย่างนั้นมันก็สบายใจว่าโอ้ธรรมดามันเป็นอย่างนั้นนั่นแหละธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไปทุกข์มันจะได้อะไรขึ้นมา เราทุกข์ของนั้นมันก็ไม่คืนมา ของตายแล้วมันก็ไม่ฟื้น เช่นว่ามีใครตายขึ้นมาในครอบครัว แล้วเราไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าศพ ร้องทำไมร้องไปศพก็ไม่ฟื้นแล้ว ตายแล้วไม่ฟื้นแล้วไปนั่งร้องไห้เสียน้ำตาเปล่าเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ
ความจริงเราไม่ควรร้องไห้เราควรพิจารณาว่าคนเราเกิดมาแล้วชีวิตมันก็ไหล ไปเรื่อยๆ ผลที่สุดมันก็หยุดไหลมันก็เป็นอย่างนี้แหละ อย่าว่าแต่คนนี้เลยแม้แต่ตัวฉันเองวันหนึ่งก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราหนีจากความเป็นอย่างนี้ไม่ได้ พอคิดได้อย่างนั้นก็หยุดร้องไห้ เพราะเกิดปัญญาเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเราก็ไม่ต้องนั่งร้องไห้ต่อไป
บางทีมันคิดไม่ได้คิดไม่ทันพอเจอปัญหาเข้าก็กระทบกระเทือนจิตใจ บางคนเป็นลมไปเลย เป็นลมเพราะคิดไม่ทันเพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนนั่นเอง แต่นี่พระพุทธเจ้าสอนให้เราคิดไว้ล่วงหน้า เช่นหลักธรรม ๕ ประการสอนให้คิดว่า เราต้องแก่เป็นธรรมดาหนีความแก่ไปไม่ได้ เราต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดาหนีความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราต้องตายไปวันหนึ่งหนีความตายไม่พ้น เราต้องพลัดพรากจากของรัก เราทำกรรมอย่างไรเราได้อย่างนั้น ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
คิดไว้บ่อยๆ คิดไว้บ้างเป็นเครื่องเตือนใจ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร พอมีอะไรเกิดขึ้น เราก็...อ้อ มันเป็นอย่างนี้ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเอง ธรรมดาเป็นอย่างนั้นเองเราก็ไม่ต้องร้องไห้เพราะร้องไห้ก็ไม่ได้อะไรคืนมา เสียเวลาเปล่า
ในสมัยโบราณมีตัวอย่าง พ่อคนหนึ่งลูกตาย ลูกตายแล้วไปนั่งร้องไห้ที่ป่าช้าทุกวันๆ ที่หลุมศพ ลูกที่ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาเพราะทำกรรมดี เห็นพ่อไปนั่งร้องไห้ที่หลุมศพในป่าช้าทุกวัน ก็อยากให้พ่อคิดได้ ก็เลยมาปรากฏตัวเป็นชายนั่งป้อนหญ้าให้วัวที่ตายแล้วอยู่ตรงปากทางที่พ่อจะ ไปป่าช้า เอาหญ้ามาป้อนเอาน้ำมาให้วัวที่ตายแล้วกิน แล้วบอกวัวว่าลุกขึ้นเถิดกินหญ้าที่ฉันนำมามอบไว้
พ่อเดินมาเห็นเข้าก็เลยถามว่า “เธอกำลังทำอะไร”
“กำลังเอาหญ้าให้วัวตัวนี้กิน”
“วัวมันตายแล้วเอาหญ้าให้กินได้อย่างไร มันจะกินได้อย่างไร”
“อย่างนั้นหรือ ผมเอาหญ้าให้วัวตายกิน ท่านเอาอาหารไปให้ลูกชายที่ตาย วัวตายนอนอยู่ฉันเห็นตัวมัน แต่ลูกชายของท่านนี่ตายแล้วไปไหนก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นแล้วจะกินได้อย่างไร”
พอพ่อได้ยินอย่างนั้นพ่อก็นึกขึ้นมาได้ว่า อ้อ..เรานี่มันไม่เข้าเรื่อง เอาอาหารไปวางให้ศพที่อยู่ใต้ดินมากินนี่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็เลยรู้สึกตัวแล้วก็ไม่เศร้าโศก และไม่ทำอย่างนั้นต่อไป เกิดความละวางและความคิดที่ถูกต้องขึ้นมา
คนอื่นทำนี่เรามองเห็น ตัวเองทำนี่ไม่รู้ตัว โบราณเขาว่า “หัวเราแตกเรามองไม่เห็น แต่หัวคนอื่นแตกนี่เรามองเห็นง่าย”