เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน

เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน


ทุกคนต่างมีความน่าเวทนาอยู่ในทางใดทางหนึ่ง ต่อให้เป็นบุคคลที่เหมือนอิ่มเอมเปรมสุข เป็นที่อิจฉาของสังคมขนาดไหน ก็ย่อมรู้ในใจเขาเองว่าชีวิตยังมีข้อขัดข้องประการใดบ้าง

ทำไมชีวิตถึงมีความขัดแย้ง เหตุใดจึงไม่มีใครเป็นสุขได้แต่ถ่ายเดียว?

ก็เพราะคนเราไม่รู้แล้วก่อกรรมดีบ้างเป็นบางครั้ง และเพราะคนเราไม่รู้แล้วก่อกรรมชั่วบ้างเป็นบางคราว ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความรู้ว่าทำดีต้องเสวยผลดี ทำชั่วต้องเสวยผลชั่ว จะช้าเร็วไม่มีใครหนีแรงสะท้อนกลับของบาปบุญได้พ้น

คนทั่วไปจะมีความเชื่อทางศาสนา หรือเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายอย่างไรก็ตาม สำรวจแบบชำแหละตัวเองแล้วก็ต้องพูดกันตรง ๆ ว่านอกจากอาการปักใจเชื่อ แทบไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริงราวกับตาเห็นรูปกันสักกี่ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเชื่อมั่นและอยากไปสวรรค์ อยากเข้าถึงนิพพาน ก็ยิ่งน้อยเท่าน้อยชนิดนับหัวได้ที่จะทราบทางไปอย่างแท้จริง ชนิดติดความจำขึ้นใจ และถือประพฤติปฏิบัติตนบนเส้นทางกรรมอันนำสู่สุคติภูมิ

พระพุทธเจ้ามีคำตอบ มีคำอธิบาย มีความรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องกรรมวิบากและภพภูมิทั้งปวง บางวันผู้เขียนนึกเสียดายขึ้นมาว่าธรรมะในพระไตรปิฎกอันเปรียบประดุจภูเขาทองยังกองอยู่อย่างเปิดเผย แต่น้อยคนจะเหลือบแลไปเห็น และน้อยคนที่เห็นแล้วเต็มใจจะอ่าน จึงเป็นที่มาของหนังสือชื่อ ‘เสียดาย… คนตายไม่ได้อ่าน’ เล่มนี้

จุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเป้าหมายแรกคือให้รู้และเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปเกี่ยวกับกรรม ชนิดที่อ่านแล้วได้คำตอบน่าพอใจให้กับความสงสัยของคนทั่วไป ส่วนเป้าหมายปลายทางสุดท้ายคือให้ประจักษ์แนววิธีรู้แจ้งเรื่องกรรมด้วยตนเอง ชนิดที่อ่านแล้วไม่ต้องเถียงใครอีก รู้เฉพาะตนว่ากรรมวิบากเป็นเรื่องจริง เป็นสัจจะ เป็นอมตะไม่แปรผันตามกาล

แม้อ่านอย่างคร่าวที่สุด อย่างน้อยผู้อ่านก็น่าจะเปิดตาขึ้นเห็นโลกด้วยมุมมองที่แตกต่างไป เหลือบแลไปตามท้องถนนก็สามารถเห็นผลกรรมปรากฏฟ้องอยู่บนรูปร่างหน้าตาและบุคลิกนิสัยของใครต่อใครอย่างชัดเจน กระทั่งเมื่อเบิ่งจ้องมองกระจกเงา หรือเฝ้าพินิจความสุขความทุกข์อันเป็นปัจจุบันกาลของตนเอง ก็สามารถเห็น ‘ความจริง’ เกี่ยวกับกรรมวิบากได้ทุกวินาทีอยู่แล้ว

ผู้เขียนประสงค์จะเรียบเรียงเรื่องกรรมวิบากตามลำดับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ นั่นคือให้ทราบที่มาว่าเราเป็นอย่างนี้ด้วยกรรมเก่าอันใด จากนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าในธรรมชาติมีช่องชั้นภพภูมิใดรองรับกรรมประเภทต่างๆอยู่บ้าง แล้วจึงสรุปลงที่ความน่าจะเป็น หรือสิ่งที่น่าจะทำขณะยังมีลมหายใจของความเป็นมนุษย์นี้อยู่

แนวคิดข้างต้นทำให้โครงสร้างของหนังสือแบ่งเป็น ๓ ภาค หรือ ๓ บรรพ (อ่านว่าบัพพะ)

บรรพแรกคือการตอบคำถามว่าพวกเรา เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?
บรรพที่สองคือการตอบคำถามว่า พวกเราตายแล้วไปไหนได้บ้าง?
บรรพสุดท้ายคือการตอบคำถามว่าพวกเรา ยังอยู่แล้วควรทำอะไรดี?


ซึ่งก็แปลว่าครอบคลุมเรื่องกรรมวิบากและภพภูมิทั้ง ๓ กาลคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ผู้เขียนขอถวายกุศลทั้งหมดจากการเขียนหนังสือเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ถ่ายทอดความรู้อันเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่พระสาวก เพื่อพระสาวกจะได้สืบทอดความรู้ทั้งหลายให้แก่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัย ตราบกระทั่งตกทอดมาถึงผู้เขียนในกาลปัจจุบัน.

เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์