พิษร้าย...ยานอนหลับ

พิษร้าย...ยานอนหลับ


พิษร้าย...ยานอนหลับ
ภญ.อัมพร อยู่บาง


    
 หลายท่านคงเคยมีปัญหานอนไม่หลับ และมีประสบการณ์การใช้ยานอนหลับกันบ้างนะคะ และอีกหลายๆ ท่านในกลุ่มนี้เช่นกันที่มีปัญหากับการใช้ยานอนหลับด้วย สำหรับคำถามที่ดิฉันมักได้ยินบ่อยๆ เวลาจ่ายยา เช่น ติดยานอนหลับค่ะ
ถ้าไม่ได้กินคือจะนอนไม่ได้เลย เป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว จะทำยังไงดีค่ะ หรือคุณหมอเปลี่ยนยานอนหลับให้หลายตัวแล้ว แต่ก็ยังนอนไม่หลับอีก มียานอนหลับที่แรงกว่านี้มั้ยค่ะ หรือไม่ได้นอนไม่หลับซะหน่อย แต่ทำไมคุณหมอจ่ายยานอนหลับให้ค่ะ
เป็นต้น ดังนั้นฉบับนี้เรามาทำความรู้จักกับยานอนหลับให้มากขึ้นกว่าเดิมกันดีกว่าค่ะ


     ยานอนหลับ คือ ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนและมักช่วยบรรเทาอาการตึงเครียดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม
บางท่านที่ไม่มีปัญหานอนไม่หลับ แต่กลับได้รับยานอนหลับมากิน ในขณะที่บางท่านอาจจะรู้สึกเครียด หรือวิตกกังวล ซึ่งยานอนหลับ
ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีค่ะ

       ทางการแพทย์ถือว่ายากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษซึ่งจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยตนเองจากร้านขายยาทั่วไป ดังนั้นในกรณีที่มีการจำหน่ายยากลุ่มนี้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันนี้การใช้ยานอนหลับในการรักษาอาการนอนไม่หลับได้รับความนิยมอย่างสูง และมียานอนหลับในท้องตลาดหลากหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งอาจทำให้หลายท่านเข้าใจว่า การใช้ยานอนหลับเป็นการรักษาอาการนอนไม่หลับ
แต่ความจริงแล้วการใช้ยานอนหลับ
ไม่ได้รักษาอาการนอนไม่หลับ เพียงแค่ทำให้อาการนอนไม่หลับของท่านทุเลาลงเท่านั้น 


      นอกจากนี้ยังมีมิจฉาชีพบางประเภทที่นำคุณสมบัติของยานอนหลับมาใช้มอมยาเหยื่อ เพื่อล่วงละเมิดทางเพศหรือลักทรัพย์ดังที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อยๆ

ผลเสียของยานอนหลับ

     การใช้ยานอนหลับอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการซื้อยามากินเอง ทำให้เกิดอันตรายมากกว่าที่คิด เช่น การใช้ยานอนหลับ
บางชนิดที่ออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานาน หรือในผู้สูงอายุที่ร่างกายมีความสามารถในการกำจัดยาลดลง อาจทำให้ยังมียาสะสมอยู่ในร่างกายเมื่อตื่นนอนแล้ว บางคนจึงยังรู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย หรือมึนงง ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ในคนที่ต้องขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เนื่องจากอาการง่วงซึมแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลต่อการตัดสินใจและการเคลื่อนไหวที่ต้องการความรวดเร็ว
ทำให้เชื่องช้าลงได้ หรือในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้

      นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคปอด หรือผู้ที่นอนกรนอย่างมาก หรือผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่กดประสาทส่วนกลาง
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เนื่องจากยานอนหลับบางชนิดออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางได้เช่นกัน
ซึ่งจะทำให้ศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกดไปด้วย อาจเป็นสาเหตุให้ร่างกายหยุดหายใจได้ หรือในกรณีที่การใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่อง
เป็นระยะเวลานาน ก็อาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น

      การดื้อยา คือการใช้ยานอนหลับขนาดเดิมติดต่อกันสักระยะหนึ่งแล้วพบว่าได้ผลการรักษา (การทำให้นอนหลับได้) น้อยลง จนต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขนาดยาดังกล่าวอาจมากเกินกว่าขนาดปกติที่ใช้ในการรักษาจนเกิดพิษจากยาได้

      การติดยา คือเมื่อใช้ยาติดต่อกันสักระยะหนึ่งแล้วหยุด อาจทำให้อาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นอีกครั้ง จนต้องกลับมาใช้ยาต่อเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้

      เซ็กซ์เสื่อม มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับยานอนหลับบางชนิดเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายได้

      ความจำเสื่อม ยานอนหลับอาจส่งผลต่อระบบความจำในระยะยาวได้ ทำให้ไม่สามารถจำเหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่างๆ ได้ยาวนานเหมือนคนปกติทั่วไป

      ดังนั้นการรักษาอาการนอนไม่หลับที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้ยานอนหลับที่มีขนาดต่ำที่สุดที่มีประสิทธิภาพในระยะเวลาสั้นๆ (ไม่ควรเกิน 2 – 4 สัปดาห์) ร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ ร่วมกับการปฏิบัติสุขอนามัยการนอนที่ดีด้วยคะ

      การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย แต่ภาวะทางสังคมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ
แม้แต่มลพิษจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราสามารถเกิดความตึงเครียด วิตกกังวลได้ ซึ่งอาจส่งผลไม่น้อยต่อการนอนหลับ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเพราะอะไรอาการนอนไม่หลับจึงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนเราในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา แบ่งความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับออกเป็น 3 ระดับ คือ

     นอนไม่หลับชั่วคราว หมายถึงการนอนไม่หลับที่เป็นอยู่ช่วงระยะสั้น ๆ มักไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การได้รับสารกระตุ้นการทำงานของร่างกาย เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง หรือในผู้ที่ต้องเดินทางบินข้ามทวีป (Jet Lag) อาจทำให้เกิดการนอนไม่หลับชั่วคราวได้ แต่เมื่อสิ่งที่มากระตุ้นเหล่านี้หมดไป ร่างกายก็จะกลับมานอนหลับเป็นปกติได้

      นอนไม่หลับระยะสั้น หมายถึงการนอนไม่หลับเป็นระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ อาจเกิดจากความเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งความเจ็บป่วย
บางชนิดนั้นก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบการนอนได้ เช่น โรคหัวใจ การไอเรื้อรัง ไทรอยด์ ปัญหาต่อมลูกหมาก ติดยา เป็นต้น ทั้งนี้หากปล่อยไว้โดยไม่ได้แก้ไข อาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นอาการนอนไม่หลับเรื้อรังในที่สุด

      นอนไม่หลับระยะยาว หมายถึงการนอนไม่หลับ เป็นระยะเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเป็นอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท และจิตเวช เช่น โรคสมองเสื่อม ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
หากเกิดปัญหาการนอนไม่หลับทั้ง 3 ชนิดนี้ขึ้น ย่อมส่งผลให้ช่วงระยะเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อนหรือเวลาหลับสนิทลดน้อยลงกว่าปกติ ซึ่งจะมีผลต่อความพร้อมและความสดชื่นของสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่สดชื่น แจ่มใส ง่วงเหงาหาวนอน ขาดสมาธิในการทำงาน ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานได้


สุขอนามัยในการนอนที่ดี ได้แก่

      ควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ไม่ว่าคืนก่อนจะนอนหลับหรือไม่ก็ตาม

      จำกัดเวลานอนให้เหมาะสม และเพียงพอ โดยทั่วไปวัยรุ่นต้องการเวลานอน 11 ชั่วโมง วัยทำงาน 8 ชั่วโมง และผู้สูงอายุ 6 ชั่วโมง
ต่อวัน

     การจัดห้องนอนและบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสมก็จะช่วยได้มาก เช่น อุณหภูมิห้องไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป ที่นอนไม่นุ่มหรือไม่แข็งเกินไป หมอนหนุนไม่สูงมากไม่ต่ำมาก ไม่มีเสียงรบกวน แต่เสียงพัดลมหรือ เสียงเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นเสียงสม่ำเสมอ เป็นตัวกลบเสียงรบกวนอื่น ก็อาจช่วยให้หลับได้ดีขึ้น ห้องนอนต้องไม่สว่างเกินไป ท่านอนที่ดีคือ ท่านอนหงาย

      ฝึกฝนการผ่อนคลายความตึงเครียดทุกเย็นอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือสมาธิ

      ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ประมาณ 3-4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ แต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงค่ำและก่อนนอน

      งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม โดยเฉพาะเวลาหลังเที่ยงวัน

       งดการดื่มสุรา สุราทำให้หลับเร็วขึ้น แต่จะทำให้หลับๆ ตื่นๆ

      แม้ว่าบางคืนจะนอนไม่หลับ ในเวลากลางวันสั้นๆ ไม่เกิน 30 นาที ก็ควรที่จะทำงานให้ยุ่งเสมอ แทนที่จะนอนพักผ่อน เว้นแต่
ในบางรายที่พบว่าการงีบหลับในระหว่างวัน ช่วยให้นอนหลับดีในเวลากลางคืน
สุขอนามัยในการนอนที่ดี ทั้งหมดนี้อาจฟังดูปฏิบัติตามได้ยากสักหน่อยในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับมานานแล้ว แต่หากท่านลองค่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยานอนหลับ

ท้ายนี้ขอให้ทุกคนนอนหลับฝันดี และตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่นนะคะ


healthtoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์