“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

       “ตักบาตรพระ 1,000,000 รูป ถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองพระพุทธชยันตี 2,600 ปี”

ป้ายนี้ติดประกาศอยู่ทั่วไป พร้อมกับกำหนดการสถานที่ต่างๆ กัน ในการตักบาตรเพื่อให้ครบ 1 ล้านรูปตามโครงการ ทำให้เราได้ความรู้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว 2,600 ปี

ที่เราได้เห็นคือ ภาพพุทธศาสนิกชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ศรัทธา” หลั่งไหลเข้าร่วมกิจกรรมนี้

และนี่ก็ทำให้เรานึกถึงภาพของพลัง “ศรัทธา” ที่มีต่อศาสนาอื่นๆ ในอีกหลายประเทศที่ผ่านทาง

หนึ่งในประเทศที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำก็คือ “อินเดีย” ประเทศที่มั่งคั่งและหลากหลายไปด้วยอารยธรรมที่สืบทอดมายาวนาน และยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณีของไทยอยู่ไม่น้อย


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

“อินเดียมีประชากรกว่าพันล้านคน และนับถือศาสนาฮินดูราว 80%”

ใครบางคนในกลุ่มของเราพูดขึ้นขณะที่พวกเราเดินทางถึง “กรุงนิวเดลี” เมืองหลวงของ “อินเดีย”

       ความเจริญด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหัวข้อหลักของการสนทนา และทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเชื่อ และพลังศรัทธาอันยาวนานของชาวอินเดียหรือไม่

       นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเราพร้อมใจกันเดินทางออกนอกเมืองเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง ตี 4 คือเวลานัดหมาย ออกจากกรุงนิวเดลี พร้อมกับ “เพื่อนชาวอินเดีย” เจ้าของคำชวน เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดในช่วงเช้าที่ดูราวไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน

       แต่ที่หนักหนากว่าเห็นจะเป็น “เสียงแตร” ที่ดังสนั่นหวั่นไหวจนเป็นที่ร่ำลือไปทั่วโลก

จากนิวเดลีไปยังจุดหมายปลายทางมีระยะทางราว 200 กม. แต่เราต้องใช้เวลา 5-6 ชม.

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสภาพถนนที่แคบ ขรุขระ และเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดเส้นทาง


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

       แต่เราก็มาถึงยังจุดหมายปลายทางจนได้ เพื่อพบกับเมือง “หริดวาร์” (Haridwar) หรือที่มักจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “หริทวาร” อันหมายถึง “ประตูสู่พระเจ้า” นั่นเอง

“หริทวาร” เป็นหนึ่งในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของ “อินเดีย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้

       “เพื่อนชาวอินเดีย” เล่าให้ฟังว่า ชาวฮินดูนับถือเทพเจ้า ซึ่งมีเป็นจำนวนนับร้อยนับพันองค์ และทำให้ที่เมือง “หริทวาร” เป็นที่ตั้งของเทวาลัยจำนวนมาก ที่มีไว้เพื่อบูชาเทพเจ้าแต่ละองค์ตามความนับถือของผู้คน

และก็นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เพราะในวันที่เราไปถึง “หริทวาร” บังเอิญเป็นช่วงเทศกาลแห่งการบูชาเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งซึ่งคนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “พระคเณศ” หรือ “พระพิฆเนศ”

       “พระพิฆเนศ” เทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้าง เป็นโอรสของพระศิวะกับพระอุมา


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

เทศกาลบูชา “พระคเณศ” เรียกกันว่า “คเณศจตุรถี” ทั่วทั้ง “อินเดีย” จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองด้วยการแห่เทวรูป “พระคเณศ” ไปทั่วเมือง ขณะที่ผู้คนจะพากันแต่งกายด้วยสีสันสวยงามออกมาร่วมขบวนแห่

ขบวนจะมุ่งหน้าสู่ “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งที่เมือง “หริทวาร” ก็คือ “แม่น้ำคงคา”

ความสำคัญของเมือง “หริทวาร” นอกจากจะเป็น “ประตูสู่พระเจ้า” และเป็นสถานที่ซึ่งมีเทพสถิตอยู่เป็นจำนวนมากตามความเชื่อของชาวฮินดูแล้ว

ยังเป็นที่ซึ่ง “แม่น้ำคงคา” อันเป็น “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์” มีกำเนิดจาก “เทือกเขาหิมาลัย”

ไหลลงสู่พื้นราบเป็นที่แรกอีกด้วย

“แม่น้ำคงคา” หรือที่ชาวอินเดียออกเสียงว่า “Ganga” เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา และผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวฮินดู นับตั้งแต่เกิดจนตาย


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

       เราเห็นเด็กเกิดใหม่อายุประมาณ 9 เดือน ถูกพามายัง “แม่น้ำคงคา” เพื่อที่จะทำพิธีตัดผมครั้งแรก และลอยผมไปตามแม่น้ำ เพื่อเป็นการชำระล้างบาป และลอยสิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไปจากตัว

       และเมื่อมีคนเสียชีวิตก็จะมีการแห่ศพมายังริมแม่น้ำ ทำพิธีเผาศพที่ริมฝั่ง เมื่อศพมอดไหม้ลงเหลือแต่เถ้าถ่านและกระดูกก็จะถูกกวาดลงแม่น้ำคงคา ซึ่งเปรียบเสมือนการได้ไปสู่สวรรค์

       ด้วยความเชื่อที่ว่า “แม่น้ำคงคา” เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากสวรรค์

ภาพที่ปรากฏตรงหน้าของพวกเรา ณ เมือง “หริทวาร” คือผู้คนนับหมื่นกำลังลงอาบน้ำใน “แม่น้ำคงคา” ซึ่ง “เพื่อนชาวอินเดีย” อธิบายว่า การอาบน้ำใน “แม่น้ำคงคา” หมายถึงการชำระบาปออกจากร่างกาย

       เราสังเกตเห็นด้วยว่า เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วพวกเขาจะเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ในทันที


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

และนี่ก็อาจจะเป็นความปรารถนาของชาวฮินดูทุกคน ที่จะได้ลงอาบน้ำชำระบาปใน “แม่น้ำคงคา” ที่เมืองศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายรวมถึงเมือง “หริทวาร” ด้วยนั่นเอง

เรายังมองเห็น “ขวดน้ำสีขาว” วางขายอยู่ทั่วไปบริเวณท่าน้ำ ซึ่งเมื่อสอบถามก็ได้คำตอบว่า ขวดน้ำเหล่านี้ ขายให้กับผู้คนที่ต้องการจะนำน้ำจากแม่น้ำคงคา ที่เมือง “หริทวาร” กลับบ้าน

ว่ากันว่า นอกจากจะนำไปฝากคนที่บ้านซึ่งไม่ได้เดินทางมาด้วยกันแล้ว ยังเก็บรักษาไว้ใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เพราะเชื่อกันว่าเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” อีกด้วย


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

“เพื่อนชาวอินเดีย” เล่าให้ฟังว่า ในตอนเย็นของทุกวันที่ท่าน้ำซึ่งเรียกกันว่า “หรกีเปารี” อันหมายถึง “รอยเท้าของพระวิษณุ” จะมีพิธีสำคัญที่เรียกกันว่า “อารตีบูชา” หรือการ “บูชาไฟ” ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

และเมือง “หริทวาร” ก็ยังเป็น 1 ใน 4 เมืองสำคัญของอินเดีย ที่เชื่อกันว่า “น้ำอมฤต” จะตกลงมาในทุก 3 ปี ซึ่งจะมีการทำพิธีใหญ่ ที่เรียกว่า “กุมภเมลา” โดยจะมีผู้คนนับล้านหลั่งไหลมารวมกันที่ริมฝั่งแม่น้ำ

“แม่น้ำคงคา” มีความยาวกว่า 2,500 กม. ไหลผ่านเมืองต่างๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ และจะไปรวมกับ “แม่น้ำพรหมบุตร” ที่ “บังกลาเทศ” ก่อนไหลลงสู่ทะเล

ทุกๆ วันจะมีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมาทำพิธีต่างๆ ที่ “แม่น้ำคงคา”

บางทีเราก็อดสงสัยเหมือนกับอีกหลายๆ คนไม่ได้ ถึงความสะอาดของสายน้ำ

แต่ภาพที่เห็นตรงหน้าก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นถึง “ความเชื่อ” และ “ศรัทธา” ของ “ชีวิต” ซึ่งสะท้อนผ่านผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดู ที่ไม่เคยคิดสงสัยถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ “แม่น้ำคงคา” แม้แต่น้อย


“หริดวาร์-หริทวาร” ประตูสู่พระเจ้าและศรัทธา

       “เพื่อนชาวอินเดีย” ขอตัวไปลงอาบน้ำใน “แม่น้ำคงคา” แต่ก่อนที่จะสัมผัสสายน้ำ เขาก็ชี้ให้ดูลานตรงเกาะกลางซึ่งมีบันไดอำนวยความสะดวกสำหรับเดินลงแม่น้ำอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการสร้างรั้วที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายให้กับผู้ที่กำลังทำกิจกรรมบริเวณริมน้ำ เพราะนอกจากน้ำในแม่น้ำคงคาจะมีความเย็นมากแล้ว ยังไหลเชี่ยวอีกด้วย

       พวกเราทุกคนถือโอกาสสัมผัส “แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์” โดยถ้วนหน้า กับครั้งหนึ่งของชีวิต พร้อมกับประทับ “ภาพแห่งความศรัทธา” ที่ปรากฏให้เห็นตรงหน้าเพื่อบันทึกในความทรงจำ

ตราบที่มี “ศรัทธา” ก็มีพลังอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานขนาดไหนก็ตาม…


ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์