ครีมกันแดด เลือกอย่างไรดี



หลายคนอาจสงสัยว่า การจะเลือกซื้อครีมกันแดด ควรพิจารณาอะไรบ้าง พญ. ธวลิดา เวชชวณิชย์ ศัลยแพทย์ความงามและแก้ไขโครงหน้า ผิวหนัง เวชศาสตร์ชะลอวัย Bangkok Beauty Clinic เล่าว่า ผลิตภัณฑ์กันแดดคือสารปกป้องการทำลายเซลล์ผิวหนังจากรังสี UVA และ UVB ในแสงแดด อันเป็นต้นเหตุของมะเร็งเซลล์ผิวหนังและยังทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีใต้ผิวหนัง

โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์กันแดดจะมีคำว่า “SPF” หรือ “Sun Protection Factor” ซึ่งเป็นค่าที่บอกระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นสามารถปกป้องผิวเราจากรังสี UVB ว่านานแค่ไหน เช่น ถ้าผิวเราทนแดดได้แค่ 10 นาที แล้วเราใช้สารกันแดดที่มีค่า SPF เท่ากับ 35 ก็หมายความว่า จะช่วยให้ผิวเราทนแดดได้นานขึ้น 35 เท่า คือทนแดดได้ 350 นาที นอกจากนี้ยังมี ค่า “PA” หมายถึง ค่าที่บ่งบอกว่าสารกันแดดชนิดนี้สามารถกันรังสี UVA ได้ในระดับไหน

สารกันแดดโดยทั่วไป แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. Chemical Sunscreens เป็นสารกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมี ทำหน้าที่ปกป้องแสงแดด โดยการดูดซับรังสีแสงแดดเข้าไว้ในผิว ซึ่งหลังจากโดนแดดสักพัก สารเคมีเหล่านี้ก็เสื่อมสภาพ ตัวอย่างสารกันแดดประเภทนี้ได้แก่ Cinnamates, PABA, Salicylates, Benzophenones, Dibenzoylmethanes, Anthranilates เป็นต้น

และ ประเภทที่ 2. Physical Sunscreens เป็นสารกันแดดที่สามารถสะท้อนรังสี UVA และ UVB ออกไปจากผิวหนัง ซึ่งสารในกลุ่มนี้จะมีผลระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยกว่าสารกลุ่ม Chemical sunscreen แต่มีข้อด้อยกว่าคือ ครีมกันแดดประเภทนี้ไม่สามารถให้ SPF ที่สูงๆได้ และเมื่อทาบนผิวหนังแล้วหน้าดูขาวมาก เนื่องจากสารจะเคลือบบนผิวชั้นบนเพื่อรอแสงกระทบ จึงมีการดูดซึมสู่ผิวน้อย ตัวอย่างสารกันแดดประเภทนี้ได้แก่ Zinc oxide, Titanium dioxide

ครีมที่มี SPF สูงๆ ดีจริงหรือไม่? โดยทั่วไปเราก็มักเข้าใจว่า ยิ่งมี SPF สูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะช่วยป้องกันผิวเราจากแสงแดดได้ดีขึ้น แต่จริงๆแล้วทาง The American Academy of Dermatology ได้แนะนำว่า ผู้ใหญ่และเด็ก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 ก็เพียงพอแล้ว ส่วนเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรจะสัมผัสแสงแดดโดยตรง รวมทั้งไม่ควรใช้ครีมกันแดดด้วย เพราะผิวของเด็กๆ นั้นยังไม่สามารถทนต่อสารเคมีในครีมกันแดดได้

ในบางคนอาจแพ้สารเคมีในครีมกันแดดกลุ่ม PABA (Para-aminobenzoic acid) ซึ่งเป็นสารกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) ส่วนสารประกอบอื่นๆก็อาจทำให้เกิดอาการได้เช่นกันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งวิธีการทดสอบก็คือ สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด แล้วลองทาครีมกันแดดในบริเวณที่เรากำหนด จากนั้นไปสัมผัสกับแสงแดด ถ้าผิวหนังบริเวณที่เราทาครีมกันแดด เกิดอาการผิวไหม้จากแสงแดด คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดตัวนั้น

สำหรับผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีที่สุด ควรจะมีลักษณะ คือ ใช้แล้วไม่แพ้ ไม่ระคายเคือง ราคาไม่สูงนัก ทาแล้วเนื้อครีมบางเบา ไม่เหนียวเหนอะหนะ และสาระสำคัญที่ระบุไว้ในผลิตภัณฑ์ ควรประกอบด้วยสารหลายชนิดผสมกัน เพราะสารแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติกรองรังสี UV ในขนาดความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน การใช้สารหลายๆ ตัว จะปกป้องรังสีได้ในระดับความยาวคลื่นที่กว้าง

มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับครีมกันแดดที่ควรรู้ ดังนี้...ครีมกันแดด ไม่ได้ใช้เพื่อป้องกันฝ้า กระ รอยดำเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนัง, ครีมกันแดดที่ดี ต้องกันได้ทั้ง ยูวี เอ (ค่า PA) และ ยูวี บี (ค่า SPF), ยิ่ง SPF และ PA สูงมาก ยิ่งมีส่วนประกอบของสารกันแดดมาก โอกาสแพ้ก็จะง่ายกว่า, ควรทาครีมกันแดดประมาณ 1 กรัม ต่อ 1 หน้า คือ 2 ข้อนิ้วมือ (ลองนึกภาพบีบครีมเป็นเส้นยาว 2 เส้น ที่นิ้วชี้ จากปลายนิ้วชี้ถึงเส้นข้อปล้องแรกนับจากปลายนิ้ว) จึงเกิดประสิทธิภาพในการกันแดดที่เต็มที่ โดยควรทาที่ใบหูด้วยเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนัง, และแม้จะทำงานภายใน ออฟฟิศซึ่งไม่โดนแดด ก็ควรทาครีมกันแดด อย่างน้อย SPF 15, SPF 30 เพราะรังสียูวี สามารถผ่านกระจกได้.


ครีมกันแดด เลือกอย่างไรดี

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์