จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
การฝึกจิตเป็นความดี
พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า การฝึกจิตที่ข่มยาก ที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ ย่อมเป็นความดี เพราะว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
จิตที่ข่มยาก หมายความว่า จิตเป็นสิ่งที่บังคับยาก ไม่อยู่ในอำนาจใครง่ายๆ เปรียบเหมือนคนเป็นคนดื้อ ยากแก่การสั่งสอนอบรม
จิตที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ หมายความว่าจิตอ่อนแอ พ่ายแพ้ง่ายต่ออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เมื่อพบเห็นสิ่งใดเป็นที่ต้องตาต้องใจ ก็อ่อนแอตกอยู่ในอำนาจของสิ่งนั้น ไม่มีกำลังเข็มแข็งที่จะพิจารณาให้เห็นความควรไม่ควร จึงกล่าว่า จิตเบา หรือจิตอ่อน
แต่ไม่ว่าจิตจะเป็นสิ่งที่บังคับยาก หรืออ่อนแอเพียงไรก็ตาม ผุ้มีปัญญาย่อมสามารถแก้ไขได้ สามารถบังคับจิตตนเองได้ สามารถแก้จิตที่อ่อนให้เป็นจิตที่เข้มแข็งได้ สำคัญที่ว่าต้องมีปัญญาเพียงพอ จึงจะมีความเข้มแข็งเพียงพอ ที่จะเอาชนะจิตที่ดื้อ ที่ข่มยาก ที่เบา คืออ่อนแอได้ ปัญญาต้องเพียงพอ ความเข้มแข็งต้องเพียงพอ ต้องทันกับจิต ไม่เช่นนั้นก็จะเอาชนะจิตไม่ได้ จิตก็จะเป็นฝ่ายชนะ
จิตที่ว่าอ่อนแอนั้นมีความอ่อนที่เป็นภัย เพราะอ่อนให้แก่ความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ไม่อ่อนให้แก่ความดีงาม ตรงกันข้ามจิตที่อ่อนจะแข็งกับความดีงามอย่างยิ่ง ต้องให้ความดีงามที่ประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยความเชื่อมั่น ต้องศรัทธาจริงจังว่า การข่มจิตให้ลงอยู่ใต้อำนาจของความดีความถูกต้องนั้นเป็นการดี เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง
พุทธศาสนสุภาษิตกล่าวว่า การฝึกจิตการข่มจิตเป็นความดี เพราะว่าถ้าทำได้สำเร็จก็จะมีความสุข เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละจสามารถนำสุขมาให้ได้จริง ฝึกจิตข่มจิตได้เพียงใด ก็จะมีความสุขเพียงนั้น
ความจริงมีอยู่ว่า ความสุขของทุกคนไม่ได้เกิดแต่อื่น แต่เกิดแต่จิตของตนเท่านั้น ที่เข้าใจว่าความสุขอยู่ที่นั่นอยู่ที่นี่ ความสุขอยู่ที่คนนั้นอยู่ที่คนนี้ หรือความสุขอยู่ที่สิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นเป็นความเข้าใจผิด
ที่จริงความสุขเกิดแต่จิต ความสุขอยู่ที่จิต ถ้าจิตไม่เป็นสุขแล้ว ผู้ใดอื่น อะไรอื่น ก็หาอาจทำให้เกิดความสุขได้ไม่ เงินทองแม้มากมายมหาศาล ยศฐาบัดาศักดิ์แม้ยิ่งใหญ่ บ้านเรือนตึกรามแม้มโหฬาร วงศ์สกุลแม้สูงส่ง ก็ไม่อาจทำให้เป็นสุขได้ ถ้าใจไม่เป็นสุข ถ้าจิตเป็นทุกข์ คือเร้าร้อนอยู่ด้วยกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ
อารมณ์ที่น่าใคร่ทั้งหลายที่มักจะมีอำนาจเหนือจิตใจที่เบา ที่อ่อน นั่นแหละเป็นเหตุสำคัญแห่งความทุกข์ความร้อนของจิต เมื่อเห็นความจริงนี้แล้ว ก็ย่อมจักยินดีอบรมจิตของตนให้พ้นจากอำนาจของกิเลส ให้เป็นจิตที่อ่อนต่ออำนาจของความดีงาม แต่ให้หนักให้แข็งต่ออำนาจของความไม่ดีไม่งามทั้งหลาย
เมื่อใดสามารถอบรมจิตได้ ข่มจิตได้ แม้เพียงพอสมควร จึงจิตให้พ้นจากความอ่อนต่อความชั่วร้าย คือสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลาย แม้เพียงพอสมควร ก็จะได้รู้รสความสุขที่แตกต่างจากความสุขที่เป็นความร้อนเช่นที่พากันเสวยอยู่ พากันคิดอยู่ว่า เป็นความสุขที่พอใจแล้ว
: บุญ เป็นหลักใหญ่ของโลก
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก