ไก่ฟ้าพญาลอ


ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) มีชื่อสามัญว่า Siamese fireback pheasant ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lophura diardi เป็นไก่ฟ้าที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของไทย กองอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมป่าไม้ได้เสนอให้ไก่ฟ้าพญาลอเป็นนกประจำชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528



สารบัญ



ตำนานไก่ฟ้าพญาลอ


ถ้าหากเอ่ยถึง ไก่ฟ้า (Pheasant) หลายคนคงรู้จักกันดี เพราะเคยเห็นในสวนสัตว์ หรืออาจจะเคยเห็นในหนังสือ แต่ถ้าเอ่ยถึง พญาลอ หรือ ไก่ฟ้าพญาลอ (Siamese Fireback) หลายคนคงไม่รู้จัก หรืออาจจะเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ยังไม่เคยเห็นตัวจริง ทั้งๆ ที่ชื่อไก่ฟ้าชนิดนี้เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว เพราะวรรณกรรมหลายเรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยนั้นได้เอ่ยถึงไก่ฟ้าชนิดนี้ไว้ด้วย แต่ในสมัยนั้น บางครั้งใช้คำว่า พระยาลอ แต่บางครั้งใช้คำว่า พญาลอ


         สุนทรภู่ได้เอ่ยถึงไก่ฟ้าชนิดนี้ไว้ในวรรณกรรมที่ท่านแต่งด้วยเช่นกัน ดังปรากฏให้เห็นใน นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ข้างต้นนั้น โดยใช้ว่า พระยาลอ แต่ในวรรณกรรมบางเรื่องของท่าน บางครั้งท่านใช้คำว่า พญาลอ เช่นในโคลงนิราศสุพรรณ ข้างล่างนี้


         ……….รวังไพรร่ายร้องกร่อ……….กร๋อกรอ


         แอ้แอ่แอ้แอ๊อุลอ……………………เลียบร้อง


         พญาลอล่อล้อคลอ…………………เคล้าคู่…..อยู่แฮ


         กะหรอดกรอดกร๊อดกร๋อกร้อง…… กระรอกเต้นเล่นกระแต




         นอกจากไก่ฟ้าพญาลอจะมีชื่ออยู่ในวรรณคดีไทยเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ไก่ฟ้าพญาลอยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะพระองค์ได้ทรงจัดส่งไก่ฟ้าพญาลอ 1 คู่ ไปพร้อมกับสัตว์ป่า 4 เท้า ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งไปให้พิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์แห่งจักรพรรดิ์ (Imperial Zoological Museum) ซึ่งทำให้พระจักรพรรดิ์แห่งประเทศฝรั่งเศสทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงเท่ากับว่า ไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น


         ไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นนับว่าเป็นไก่ฟ้าพญาลอคู่แรกที่ชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศสได้รู้จัก ชาวยุโรปจึงเรียกไก่ฟ้าชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยว่า Siamese Fire-backed Pheasant ซึ่งแปลว่า “ ไก่ฟ้าหลังสีเพลิงแห่งประเทศสยาม “ มาตั้งแต่บัดนั้น และในปี พ.ศ. 2409 ไก่ฟ้าพญาลอคู่นั้นได้ออกไข่และฟักออกมาเป็นลูกไก่ฟ้า ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


         ในปัจจุบันชื่อที่ใช้เรียกไก่ฟ้าพญาลอได้ถูกย่อให้สั้นลงเหลือเพียง Siamese Fireback เท่านั้น เพื่อความกระชับ ซึ่งเป็นชื่อที่นักเลี้ยงไก่ฟ้าทั่วโลกนิยมใช้เรียกกัน นักดูนกจึงได้เรียกไก่ฟ้าชนิดนี้ว่า Siamese Fireback ตามนักเลี้ยงไก่ฟ้าไปด้วย


         ด้วยเหตุที่ไก่ฟ้าพญาลอเป็นนกที่มีสีสันสวยงามราวกับจิตรกรได้บรรจงแต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ อย่างสวยสดงดงาม จนทำให้ถูกเอ่ยถึงในวรรณคดีไทยอยู่บ่อยๆ และยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น คุณสมทบ นรพรรคพฤติกร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมของสมาคมอนุรักษ์ไก่ฟ้าแห่งชาติ ในระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2533 จึงได้จัดส่งรายละเอียดของไก่ฟ้าพญาลอไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อพิจารณาให้เป็นนกประจำชาติของประเทศไทย เพราะทางราชการได้ประกาศให้เอกชนช่วยกันคิดว่า นกชนิดใดสมควรถูกเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ และในที่สุดทางราชการจึงได้เลือกไก่ฟ้าพญาลอเป็นนกประจำชาติไทย นับตั้งแต่บัดนั้น


ลักษณะทั่วไป



เป็นนกในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) เป็นไก่ฟ้าที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ความยาววัดจาก จงอยปากถึงปลายหางยาว 24-32 นิ้ว (หากรวมหางตัวผู้จะยาวเพิ่มอีกประมาณ 14 นิ้ว) ลักษณะคล้ายไก่ รูปร่างผอมบางกว่าไก่ฟ้าชนิดอื่น ปีกกว้างสั้น บินได้แข็งแต่มักบินในระยะใกล้ๆ เท่านั้น


เพศผู้


ขาและบริเวณใบหน้ามีสีแดง เพศผู้มีขนหัวสีดำและมีขนเป็นพู่สีดำยื่นออกมาและโค้งไปข้างหลัง และจะตั้งชันเมื่อตกใจหรือเกี้ยวพาราสีตัวเมีย บริเวณลำตัวด้านบนตอนท้ายมีเนื้อแกมทอง ขนหางมีสีดำเหลือบเขียว คอและอกมีสีเทา มีเดือยยาวและแหลมคม


เพศเมีย


 มีขนหัวคอและคอหอยสีน้ำตาล บริเวณลำตัวทางด้านบนตอนหน้าและตอนล่าง ลำตัวมีสีน้ำตาลแกมแดงบริเวณท้องลายคล้ายเกล็ดสีขา ปีกสีดำไม่มีเดือย


ถิ่นที่อยู่


ถึงแม้ว่าไก่ฟ้าพญาลอจะเป็นนกประจำชาติไทย และได้ชื่อว่า Siamese Fireback แต่ไก่ฟ้าชนิดนี้มิใช่นกเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทย แต่เป็นนกเฉพาะถิ่นของคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งมีการแพร่กระจายอยู่ใน 4 ประเทศบนคาบสมุทรอินโดจีนเท่านั้น คือ ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ยกเว้นแคว้นตังเกี๋ยตะวันออก (East Tonkin) และแคว้นตังเกี๋ยตะวันตก (West Tonkin)


         ไก่ฟ้าพญาลอ ชอบอาศัยอยู่ในป่าดงดิบแล้งที่ราบต่ำและโปร่งซึ่งมีไผ่ขึ้นหนาแน่น ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบการกระจายพันธุ์ในเวียดนาม ตอนใต้ของลาว ตอนเหนือของกัมพูชา


         ส่วนในประเทศไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เช่นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง - ภูทอง อุทยาน แห่งชาติทุ่งแสวงหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติเขาสระบาป



ออกหากินเวลากลางวัน โดยเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารบนพื้นดินแล้วใช้ปากจิกกิน อาหารส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนอน แมลง และปลวก มีพียงส่วนน้อยที่เป็นพืช เช่น เมล็ดหญ้า เมล็ดพืช และผลไม้สุกที่หล่นจากต้น นอกจากนี้ยังชอบกินขุยไผ่และลูกไทรด้วย


ลักษณะนิสัยของไก่พญาลอ


ไก่ฟ้าพญาลอ มีนิสัยป้องกันอาณาเขตโดยเฉพาะแหล่งหากินอีกทั้งยังป้องกันคู่ผสมพันธุ์และครอบครัว มักจับคู่ผสมพันธุ์แบบผัวเดียวเมียเดียวในช่วงต้นฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำรังด้วยการขุดดินเป็นแอ่งเล็กๆ ตามซุ้มกอหญ้ากอไผ่ที่รกทึบ ออกไข่ครั้งละ 4-8 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 23-25 วัน


พฤติกรรมและการสืบพันธุ์


ชอบอยู่เป็นคู่ หรือครอบครัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่ตามป่าที่รกทึบ หรือ ป่าไผ่ไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ไม่ค่อยตื่นคน ทำให้มองเห็นได้ง่าย หากินในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนมักจะจับคอนนอนตามกิ่งไม้ ไก่ฟ้าพญาลอบินได้ดีพอสมควร แต่ไปไม่ไกลและไม่สูงนัก


         ไก่ฟ้าพญาลอเมื่ออายุเข้าปีที่ 3 จึงเริ่มผสมพันธุ์ได้ ผสมพันธุ์ช่วงฤดูร้อน ทำรังบนพื้นดินที่เป็นแอ่งตื้นใต้พุ่มไม้หนา ปูด้วยใบไม้ใบหญ้า บางครั้งอาจวางไข่ตามโพรงหรือซอกไม้ ออกไข่ครั้งละ 5 - 8 ฟอง ไข่วันเว้น 2 วัน ระยะฟักไข่ 24 - 25 วัน


สถานภาพปัจจุบัน


เป็นนกประจำถิ่น หายาก พบได้น้อย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535สวนสัตว์ดุสิต





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


- บ้านฝันดอทคอม


- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


- board.dserver.org/n/naturegates


- หมูหินดอทคอม


แหล่งที่มาของข้อมูล คลังปัญญาไทย









                                    


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์