หนังสือไทยโบราณทั้งหลาย เช่น หนังสือพงศาวดาร ประกาศกฏหมายเก่า หรือ ตำราต่างๆ ฯลฯ มักลงศักราช ไว้ต่างๆ กัน
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อจะลงศักราชบอกเวลาเป็นปี นิยมใช้ "จุลศักราช"
หนังสือที่ตีพิมพ์ตั้งแต่พุทธศักราช 2431 หรือในตอนกลางรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น หนังสือราชการ ตำรา และแบบเรียน ฯลฯ ใช้ "รัตนโกสินทรศก" แทน "จุลศักราช" ทั้งสิ้น
แต่การลงศักราชเป็น "รัตนโกสินทรศก" นั้น กระทำอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะปรากฏว่า ตั้งแต่พุทธศักราช 2455 เป็นต้นมา หนังสือราชการและสิ่งพิมพ์ต่างๆ หันมาใช้ "พุทธศักราช" แทน "รัตนโกสินทรศก" ตราบจนทุกวันนี้ ประโยชน์ของการเปรียบเทียบศักราช เป็นสิ่งควรจำสำหรับใช้ประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้าตำราเก่า
ศักราชเท่าที่ปรากฏในหนังสือไทยโบราณ มีด้วยกัน 5 ชนิด คือ
1. มหาศักราช
2. จุลศักราช
3. ศักราชจุฬามณี (ศักราชกฏหมาย)
4. รัตนโกสินทรศก
5. พุทธศักราช
มหาศักราช มีกำหนดแรกบัญญัติ นับแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว 621 ปี เป็นศักราชที่แพร่หลายเข้ามาใช้ในเมืองไทยก่อนศักราชอื่น ประมาณว่า ตั้งแต่เริ่มมีการจารึกหนังสือไทย ใช้มหาศักราชเป็นส่วนใหญ่
จุลศักราช เป็นศักราชที่ตั้งขึ้น และใช้ในเมืองพม่ามาแต่ก่อน ต่อมาได้แพร่หลายเข้ามาใช้ในราชการ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา (2112- 2133) ซึ่งขณะนั้นกรุงศรีอยุธยา ติดต่อเกี่ยวกับเมืองหงสาวดี ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชอยู่ถึง 15 ปี เนื่องจากเสียกรุงแก่พม่าครั้งแรก
ความเป็นมาของ จุลศักราช มีว่า "สังฆราชบุตุโสระหัน" เมื่อสึกจากสมณเพศได้ชิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 ในราชวงศ์สมุทฤทธิ์ในประเทศพุกาม ได้บัญญัติจุลศักราชขึ้น เมื่อพุทธศักราช 1182 (กำหนดแรกบัญญัติตั้งแต่วันพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว 1181 ปี) และต่อมาก็เลิกใช้ เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจุลศักราช 1250 ได้มี "ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่" ว่า :
"มีพะบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงวิธีนับวัน เดือน ที่ใช้กันอยู่ในสยามมณฑล และที่ใช้ในประเทศน้อยใหญ่ เป็นอันมากในโลกนี้ เป็นวิธีต่างกันอยู่มาก คือกล่าวโดยย่อ ก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดำริห์ว่า วิธีนับวัน เดือน ปี อย่างดีที่สุดนั้น ควรจะประกอบด้วยเหตุอันควร 3 ประการคือ
1. ให้ถูกต้องใกล้ชิดกับฤดูกาล
2. ให้มีประมาณอันเสมอไม่มากไม่น้อยไปกว่ากันนัก กับ
3. ให้คนทั้งปวงรู้ง่ายทั่วไปดีกว่าอย่างอื่น ทั้ง 3 ประการนี้ จึงจะสมควรที่จะใช้ในประชุมชนทั้งปวง…"ผลการประกาศฉบับนี้ ศักราชที่เคยใช้มาก่อนทั้งมวลเป็นอันงดใช้ และให้ใช้ "รัตนโกสินทรศก" เว้นแต่ในทางพระพุทธศาสนา คงใช้พุทธศักราชเท่านั้น
รัตนโกสินทรศก เป็นศักราชที่ใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำหนดแรกบัญญัติ ตั้งแต่ปีที่ตั้งกรุงเทพพระมหานคร เป็นทางราชการ คือ ในปีพุทธศักราช 2325 เพราะฉะนั้น รัตนโกสินทรศก 1 ก็คือปีพุทธศักราชล่วงมาแล้ว 2324 ปี แต่รัตนโกสินทรศก ใช้กันอยู่ไม่นานนัก ก็เป็นอันเลิกใช้ใน ร.ศ.131 เป็นต้นมา สิ่งพิมพ์ต่างๆ และหนังสือราชการ ก็หันมาลงศักราช เป็น"พุทธศักราช" ในมาตรฐานเดียวกัน
พุทธศักราช ซึ่งทางราชการไทยใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีคติตั้งแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยไทยถือตามมติของลังกา คือถือว่า ทรงปรินิพพาน 543 ปีก่อนคริสต์ศักราช แม้ว่าเราจะใช้พุทธศักราชกันมานานแล้ว แต่ทางราชการเพิ่งจะบังคับใช้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรมประกาศลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 131 ความว่า
"...ทรงพระราขดำริว่า พระพุทธศักราชนั้น ได้เคยใช้ในราชการทั่วไป ถ้าจะให้ใช้พระพุทธศักราชแทนปีรัตนโกสินทรศกแล้ว ก็จะเป็นการสะดวก แก่การอดีตในพงศาวดาร ของกรุงสยามมากยิ่งขึ้นฯลฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระพุทธศักราช ในราชการทั้งปวงทั่วไป ฯลฯ " หลังประกาศฉบับนี้ หนังสือไทยทุกประเภท จึงลงศักราช เป็นพุทธศักราชมาจนทุกวันนี้
ศักราชจุฬามณี เป็นคำระบุศักราช ที่พบในตำราหนังสือไทยเก่าๆ ยังไม่มีผู้ใดสืบหลักฐานที่มาได้ เพียงแต่สอบได้ความว่า ถ้าปรากฏศักราชชนิดนี้ ในบานแผนกกฎหมายต้องใช้เกณฑ์เลข 258 ลบ ผลลัพธ์ เป็นจุลศักราช
คริสตศักราช เป็นศักราชที่มีต้นกำเนิด และใช้ในหนังสือต่างประเทศ หนังสือไทยโบราณทุกสมัยก่อนๆ ไม่ปรากฏว่าได้เคยใช้ศักราชแบบนี้เลย
เกณฑ์ตัวเลขสำหรับการเปรียบเทียบศักราช เพื่อเป็นพุทธศักราช
1. ถ้าพบว่าเป็น "มหาศักราช" ให้เอา 621 บวก
2. ถ้าพบว่าเป็น "จุลศักราช" ให้เอา 1181 บวก
3. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชรัตนโกสินทร์" ให้เอา 2324 บวก
4. ถ้าพบว่าเป็น "ศักราชจุฬามณี" หรือ "ศักราชกฏหมาย" ให้เอา 258 ลบ ผลลัพธ์เป็นจุลศักราช แล้วจึงเปลี่ยน "จุลศักราช" เป็น พุทธศักราช
5. ถ้าพบว่าเป็น "คริสตศักราช" ให้เอา 543 บวก
ว่าด้วยเรื่อง พ.ศ.
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!