บันได 3 ขั้น เลี้ยงลูกยุคไอที



สิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกในสังคมเทคโนโลยีนั้น พ.ญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ แนะนำบันได 3 ขั้น คือ เวลา ความเข้าใจ และความรู้ ในการเลี้ยงลูก เพราะเด็กยุคนี้แตกต่างและไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีเรื่องเทคโนโลยีและกระแสวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา ซึ่งอาจทำให้โจทย์ในการเลี้ยงดูยากขึ้นไปอีก


บันไดขั้นที่ 1


ต้องมีเวลาที่มีคุณภาพให้กับลูก
             
พูดคุยกันระหว่างแม่กับลูกหรือพ่อกับลูก มีเวลาไปเดินเล่น ดูหนัง ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี แต่แม่หรือพ่อบางคนมักอาศัยช่วงเวลาตอนเช้าและเย็นขับรถไปรับส่งลูกที่โรงเรียน เอาเวลาที่อยู่บนรถเป็นเวลาพูดคุยกับลูก เพราะหาโอกาสและเวลาที่จะคุยกันได้ยาก

บางครั้งการคุยกันบนรถอาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป เนื่องจากเวลาพูดคุยกันนั้นลูกอาจจะไม่ได้สนใจ อาจจะเออออไปด้วย แต่มืออาจจะเล่นเกม ให้ความสนใจกับเกมในมือถือ เล่นเฟซบุ๊ก ทำให้แม่กับลูกไม่ได้เห็นหน้าค่าตากัน ไม่ได้มองเห็นการแสดงออกของอีกฝ่าย ปฏิกิริยาหรือการใช้ภาษากาย การใช้เวลาพูดคุยกับลูกต้องเป็นการใช้เวลาที่มีคุณภาพแม้จะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม

ควรแบ่งเวลาเอาไว้สำหรับลูกบ้าง หากไม่มีธุระด่วนหรืองานเร่งด่วนกะทันหัน ควรพูดคุยถามถึงปัญหาของลูกด้วยความห่วงใย ไม่ใช่จับผิด การพูดคุยแบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจและกล้าเล่าให้พ่อแม่ฟังเมื่อมีปัญหา

 "โดยทั่วไปแล้วธรรมชาติของเด็กตั้งแต่วัยประถมขึ้นไปถือว่าเป็นวัยที่เริ่มมีความเกรงใจ หากพ่อแม่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่ถ้าหากลูกมีปัญหาอะไรก็ให้มาปรึกษา เช่น มีปัญหาเรื่องการเรียน เพื่อนรังแก ทะเลาะกับครู หรืออกหัก ตามธรรมชาติแล้วเด็กจะไม่ปรึกษาพ่อแม่ เขาจะคิดว่าไม่อยากเอาภาระไปให้ หากพ่อแม่บอกว่าไม่มีเวลาเด็กก็เลยแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ถ้าหากพ่อแม่ไม่เอะใจหรือระแวงว่าลูกจะเกิดความเกรงใจและอาจเก็บปัญหาเอาไว้ เมื่อเกิดความผิดพลาดไปแล้วจะมาเสียใจและเสียดายที่ไม่มีเวลาให้ลูก ซึ่งไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีสำหรับพ่อแม่ เหมือนโยนความรับผิดชอบให้ลูก"


บันไดขั้นที่ 2


ต้องเข้าใจลูกว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

พ่อ แม่ควรรู้ว่าลูกต้องการสิ่งไหน และนิสัยใจคอของลูกเป็นอย่างไร เพราะเรื่องความเข้าใจเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลี้ยงลูกยุคนี้ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจลูกว่าลูกชอบหรือต้องการสิ่งไหน ก็จะไม่รู้และพยายามเลือกสิ่งต่างๆ ให้กับลูกด้วยเหตุผลของตัวเอง

เหตุผลที่รู้มาว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนั้นเหมาะกับลูก อาจมองข้ามความชอบที่แท้จริงของลูก ความต้องการและความเหมาะสมกับบุคลิก อารมณ์ นิสัยของลูกไป ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย อาจจะทะเลาะกันรุนแรงได้ ทำให้พ่อแม่กับลูกมีปัญหาด้านสัมพันธภาพ ต่อไปอาจทำให้ลูกต่อต้านหรืออาจทำอะไรที่ไม่คาดคิด เช่น หนีออกจากบ้าน หรือแอบไปทำอะไรที่ไม่ดีไม่เหมาะสม เพราะเด็กเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองว่าเขามีสิทธิ์และต้องการจะเลือก

"แม้พ่อแม่หลายคนในปัจจุบันจะพยายามเป็นพ่อแม่ที่ดี โดยการทำอะไรก็ตามที่เห็นลูกออกมาดี แต่ทางอ้อมอาจไม่ได้ตั้งใจ จึงคาดหวังกดดันลูก โดยไม่รู้ตัว คิดว่าเป็นความปรารถนาดี อยากให้ลองเช็กดูว่าตัวเราเป็นกลางหรือเปล่า เห็นอกเห็นใจเข้าใจลูกแค่ไหน เพราะการที่ลูกได้รับสิ่งดีๆ เยอะแยะมากมายที่แม่พยายามทำและเลือกให้นั้น แท้จริงแล้วเขาอาจเข้าใจในความหวังดีและเหตุผลที่พ่อแม่มีต่อลูก แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นพ่อแม่อาจไม่เข้าใจลูกเลยว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านั้นจริงๆ หรือไม่ เขาอาจต้องการอะไรที่แตกต่างออกไป ความต้องการที่แท้จริงของเขาอาจแตกต่างจากสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้"



บันไดขั้นที่ 3


ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงลูก

เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่บางคนใช้ความรู้และวิธีที่ตนเองเคยประสบความสำเร็จมา บางทีก็ได้ผลและไม่ได้ผล พ่อแม่ควรมีสติ คอยสังเกต อย่าไปยึดติดกับลูกและยึดติดกับสิ่งที่เคยได้ผล หากไม่ได้ผลควรเปลี่ยนวิธีเลิกใช้ และหาแนวทางวิธีใหม่ๆ แทน ซึ่งสามารถหาความรู้ได้มากมายทั้งจากอินเตอร์เน็ต หนังสือ การอบรม สัมมนาต่างๆ หรืออาจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็ได้ เพราะบางทีเพื่อนร่วมงานอาจมีลูกวัยใกล้เคียงกันหรือโตกว่าเล่าถึง ประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้กันได้ เช่น แม่บางคนอาจใช้วิธีทำโทษลูกแบบนี้แล้วไม่ได้ผล แต่สำหรับพ่อแม่บางคนใช้อีกวิธีลูกกลับเข็ดหลาบและไม่กล้าทำอีก อาจลองนำวิธีที่ได้ผลของพ่อแม่อีกคนไปใช้ดู

 ที่สำคัญ พ่อแม่ควรเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟังวิธีการใหม่ๆ จากเพื่อนๆ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนที่ได้ผลและมีประโยชน์ในการเลี้ยงลูก


ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างโรงพยาบาลมนารมย์ และวิชาการดอทคอม


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์