การดูแลตนเองถือเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนมีวิธีการดูแลตนเองที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต
แต่ถึงแม้ว่า..เราดูแลตนเองเป็นอย่างดีแล้ว โรคภัยก็ยังถามหาได้อยู่เสมอ และหากเกิดโรคภัยที่มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ต้องดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างเมื่อฉบับที่แล้ว นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการห้ามเลือดเมื่อเกิดบาดแผลชนิดต่างๆ ขึ้น ฉบับนี้ก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สารเคมี หรือสัตว์มีพิษกัด ซึ่งเรามีวิธีการที่เป็นขั้นตอนสำหรับผู้ที่ได้รับพิษเข้าไปเพื่อเป็นการฝึกเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นแบบกะทันหันการได้รับสารพิษเข้าไปในที่นี้จะขอกล่าวถึงใน 3 ประเด็นได้แก่ การได้รับสารพิษจากสารเคมี สัตว์มีพิษกัด และงูกัด
การได้รับสารพิษเข้าไปจากสารเคมี สิ่งที่ควรกระทำได้แก่
1. หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ควรจัดให้นอนตะแคงหันหน้าไปด้านข้าง
2. กรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นก่อน หากไม่ทราบวิธีการให้รีบพาส่งโรงพยาบาล
3. แต่หากผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ให้ดื่มนมหรือน้ำเย็น 4–5 แก้ว หรือกลืนไข่ขาวดิบ 5–10 ฟอง ก็จะช่วยให้พิษยาถูกดูดซึมได้น้อยลง
4. เมื่อผู้ป่วยอาเจียนสารพิษออกมา ให้เก็บสิ่งอาเจียนไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกาย
การได้รับสารพิษจากการถูกสัตว์กัด สิ่งที่ควรกระทำได้แก่
1. ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้การช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นเสียก่อน
2. หากมีบาดแผล ให้ทำความสะอาดด้วยการล้างด้วยน้ำสบู่
3. เมื่อมีเลือดออก ให้ห้ามเลือดโดยการกดบาดแผลโดยตรงไว้
4. ให้ไปรับการรักษาพยาบาล เช่น ทำแผล เย็บแผล ให้ยาฆ่าเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และโรคพิษสุนัขบ้า ทุกราย
5. หากสามารถนำสัตว์ที่กัดไปให้เจ้าหน้าที่ดูได้ด้วยก็จะดีต่อการวินิจฉัยรักษา
6. ผู้ป่วยที่ถูกสัตว์กัดควรได้รับการฉีดวัคซีนทุกรายหรือปรึกษาแพทย์เรื่องการฉัดวัคซีนทุกครั้ง
7. ในกรณีที่สามารถสังเกตอาการของสัตว์ได้ เช่น ถ้าสัตว์มีอาการซึม หรือตาย ให้นำสัตว์ไปตรวจที่สถานเสาวภาทันที
การได้รับสารพิษจากการถูกงูกัด ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งูพิษในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1) งูพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม เป็นต้น ลักษณะอาการเมื่อได้รับพิษจากการถูกกัด จะทำให้มีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และอาจเป็นอัมพาตได้
2) งูพิษต่อระบบโลหิต ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น ลักษณะอาการเมื่อได้รับพิษจากการถูกกัด จะทำให้บวมบริเวณที่ถูกกัด มีเลือดซึมตามรอยเขี้ยว จ้ำเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเป็นสีดำ รวมทั้งอาจมีเลือดปน
3) งูพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล ลักษณะอาการเมื่อได้รับพิษจากการถูกกัด จะทำให้เจ็บปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ตะโพกและไหล่
สิ่งที่ควรกระทำได้แก่
1. กรณีที่ผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นก่อน
2. ให้ดูรอยแผลที่งูพิษกัด ว่ามีรอยเขี้ยว 1 หรือ 2 จุด (งูไม่มีพิษ แผลจะเป็นรอยถลอก)
3. จัดให้มือหรือเท้าที่ถูกกัด อยู่ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าระดับหัวใจ
4. บีบเลือดบริเวณปากแผลออกให้มากที่สุด บาดแผลที่ถูกกัด ควรล้างด้วยสบู่และน้ำ
5. ให้ยาระงับความเจ็บปวดได้ แต่อย่าให้ยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ
6. ใช้ความเย็นประคบบริเวณแผล เพื่อให้พิษเข้าสู่หัวใจช้าลง
7. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด และให้นอนลง
8. ปลอบโยนให้กำลังใจผู้ป่วย
9. ถ้าจับงูได้ให้นำงูมาให้เจ้าหน้าที่ด้วย
เหล่านี้คือวิธีการเบื้องต้นที่ผู้ถูกสัตว์มีพิษกัดเข้า หรือได้รับสารพิษจากเคมี ควรศึกษาวิธีการไว้ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะที่พิษเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าสู่ระบบโลหิต และระบบหัวใจ อีกข้อแนะนำหนึ่งก็คือ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนที่สุด.
พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง/นพ.พงศ์ศิษฏ์ สิงหทัศน์