ความเชื่อ : บัว : ดอกไม้มงคล กับสารพันความหมาย


ความเชื่อ : บัว : ดอกไม้มงคล กับสารพันความหมาย


“ ดอกบัว ” นับเป็นดอกไม้ที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เพราะใช้ในการบูชาพระอยู่เป็นประจำ แม้แต่การแสดงความเคารพด้วยการประนมมือของเรา หากดูดีๆก็จะเห็นว่าคล้ายรูปดอกบัว การที่ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ใช้ในพิธีมงคล
         คงเป็นเพราะธรรมชาติกำเนิดของดอกบัวได้แสดงให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ แม้จะเกิดในโคลนตม แต่เมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่างแล้ว กลีบดอกกลับสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดแปดเปื้อน เสมือนคนที่เกิดมาแล้ว หากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวงได้ อย่างไรก็ดี ดอกบัว มิได้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราเพียงแค่เป็นดอกไม้บูชาพระเท่านั้น
         แต่ “ บัว ” ยังมีบทบาทต่อวิถีชีวิตไทยในอีกหลากหลายลักษณะ ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะขอนำบางส่วนจากหนังสือ “ ปกิณกคดีวิถีชีวิตไทยในเรื่องบัว ” ของนางฤดีรัตน์ กายราศ มาเสนอเพื่อเป็นความรู้ดังต่อไป


ความเชื่อ : บัว : ดอกไม้มงคล กับสารพันความหมาย



บัวกับชื่อของคน การที่บัวได้รับความนิยมว่าเป็นไม้มงคล ทำให้ถือว่าเป็นมงคลนาม จึงมีการนำไปตั้งชื่อหญิงสาวทั้งในวรรณคดี และชีวิตประจำวันมากมาย เช่น นางปัทมาวดี ในนิทานเวตาล นางปทุมเกสร ในบทละครเรื่องพระอภัยมณี นางบัวคลี่ ในเสภาขุนช้างขุนแผน ส่วนชื่อพื้นบ้านก็ได้แก่ สายบัว บัวแก้ว บัวเผื่อน บัวผัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการประยุกต์นามขึ้นใหม่โดยนำคำจากภาษาบาลีสันสกฤตมาสมาสและสนธิจนเกิดเป็นคำที่ออกเสียงไพเราะ เหมาะที่จะใช้เป็นชื่อบุรุษและสตรี เช่น คำว่า “ กมล ” มีความหมายว่า ใจ หรือขยายเป็น กมลา หมายถึง พระลักษมี คือ ผู้อยู่ในดอกบัว กมลวรรณ แปลว่า ผู้มีวรรณะดังดอกบัว โกมุท โกเมศ หมายถึง บัวสายสีขาว บงกช แปลว่า ผู้เกิดแต่ตม บุษกร หมายถึง บัวสีน้ำเงิน บุษบง บุษบัน หมายถึง ดอกบัวเผื่อน บุณฑริก หมายถึง ดอกบัวขาว ลินจง เป็นชื่อบัวสีชมพูและบัวสีแดง จงกล หรือ จงกลนี เป็นชื่อบัวสายที่มีกลีบซ้อนกันหลายชั้นสีชมพูอ่อน สาโรธ หรือ สาโรช แปลว่า ดอกบัว อรพินท์ คือ ดอกบัว และ กรณิกา หมายถึง ฝักบัว เป็นต้น

บัวกับความเชื่อเรื่อง “ ฝัน ” มีความเชื่อโบราณทำนายความฝันเกี่ยวกับดอกบัวว่า ถ้าผู้ใดฝันเห็นดอกบัว จะมียศฐาบรรดาศักดิ์ นำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล ถ้าฝันเห็นดอกบัวและได้ถือดอกบัวในมือ จะได้ลาภหรือข้าทาสบริวาร หรือได้ข่าวอันเป็นมงคลจากพี่น้อง หญิงมีครรภ์ หากฝันถึงดอกบัว จะได้บุตรเป็นชาย แต่ถ้ายังไม่แต่งงาน ฝันเห็นดอกบัว หมายถึง อาจจะได้คู่ครองในไม่ช้านี้ ถ้าฝันว่าดมดอกบัว จะได้พบญาติพี่น้องจากแดนไกล ถ้าฝันว่าได้บริโภคเง่ารากและใบบัวกับผลาหารอันมีรส จะหายจากโรค เป็นต้น


บัวในตำราพิชัยสงคราม
ในการออกศึกสงคราม แม่ทัพผู้บัญชาการรบ จะพิจารณาเลือกการจัดทัพตามลักษณะพยุหะ(กระบวนทัพ)ที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงครามให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขณะยกทัพ หรือการตั้งค่าย เพื่อความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ทุกขณะ ซึ่งการจัดทัพรูปทรงดอกบัวที่ชื่อ ว่า “ ปทุมพยุหะ ” ก็มีอยู่ในตำราด้วย กล่าวคือ เป็นการจัดผังเป็นรูปดอกบัวตูม กำหนดการวางทัพโดยมีกองร้อยอยู่ส่วนยอดลดหลั่นลงมาเป็น พลทวน กองม้า กองช้าง กองเขน กองไล่ ส่วนทัพใหญ่และทัพรองตั้งมั่นอยู่ตรงส่วนฐาน การจัดทัพแบบปทุมพยุหะเหมาะกับภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกลางทุ่ง ใช้ได้ทั้งการตั้งค่ายและยาตราทัพ

บัวกับชื่อโรค คือ ฝีฝักบัว หมายถึง ฝีชนิดหนึ่ง ที่มีหลายหัวคล้ายฝักบัว หรือมีหัวรวมใหญ่เป็นหัวเดียว มักขึ้นตามหลังและต้นคอ (ฝี หมายถึง โรคที่มีอาการบวมนูนและกลัดหนอง ขึ้นตามที่ต่างๆในร่างกาย สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อรา บักเตรี หรือไวรัส )

บัวกับชื่อจังหวัดต่างๆ
เช่น ปทุมธานี เป็นเมืองเก่า มีมาแต่แรกสถาปนาพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ บ้านสามโคก ครั้นต่อมาขยายเป็นชุมชนใหญ่ เพราะมีชาวรามัญที่อพยพหนีภัยมาอยู่มากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงมีน้ำพระทัยเมตตาต่อครอบครัวชาวรามัญเป็นอย่างมาก เคยเสด็จฯทางชลมารคมาเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุข ชาวรามัญต่างพากันถวายดอกบัวเพื่อแสดงความจงรักภักดี จึงได้พระราชทานนามเมืองใหม่ให้ เพื่อเป็นสิริมงคลว่า “ เมืองประทุมธานี ” มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้เปลี่ยนคำว่า “ ประทุมธานี ” เป็น “ ปทุมธานี ” แทน พร้อมทั้งเปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด เมืองสามโคกเป็นเมืองที่อุดมด้วยดอกบัวมาแต่โบราณ จึงมีประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าพระมหาอุปราชจะเสด็จลงเรือมาเก็บดอกบัวเบญจพรรณนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินในการพระราชพิธีเทศน์มหาชาติเป็นประจำทุกปี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จฯมาเก็บดอกบัวที่เมืองนี้เช่นกัน ส่วน อุบลราชธานี มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีความหมายเป็นเครื่องระลึกถึงดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษ คือ เมืองหนองบัวลุ่มภู หรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน รวมทั้งนามของผู้สถาปนาเมืองคนแรกคือ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ นอกจากสองจังหวัดนี้แล้ว ยังมี หนองบัวลำภู เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณมีอายุประมาณ ๙๐๐ ปีครั้นสมัยอยุธยาก็ขึ้นกับอาณาจักรอยุธยาเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

บัวกับชื่อวัด ในประเทศไทยมีวัดจำนวนน้อยที่มีชื่อสัมพันธ์กับบัว เช่น วัดรางบัว วัดบึงบัว วัดบัวผัน วัดฉัตรแก้วจงกลนี วัดบัวขวัญ วัดอุบลวนาราม วัดบัวทอง วัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ วัดปทุมทอง วัดบางกอบัว วัดบัวโรย วัดสระบัว วัดบัวแก้วเกษร เป็นต้น

สำนวนที่เกี่ยวกับบัว
ได้แก่ บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น มีความหมายว่า รู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน มิให้กระทบ กระเทือน รู้จักถนอมน้ำใจไม่ให้ขุ่นเคือง บางคนก็ใช้ว่า บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น บัวใต้น้ำ เป็นคำเปรียบคนที่มีสติปัญญาทึบ ไม่มีโอกาสบรรลุธรรม โดยปริยาย หมายถึง คนโง่ บัวบังใบ เป็นคำเปรียบหมายถึง เห็นผิวเนื้อรำไร ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด หมายถึง ความชั่วหรือความผิดร้ายแรงที่คนรู้กันทั่วแล้ว จะปิดปังอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เป็นต้น

นอกจากนี้ “ บัว ” ยังมีความหมายอื่นๆ เช่น บัวคอเสื้อ หมายถึง ปกคอเสื้อแบบหนึ่งเป็นแผ่นผ้าโค้งรอบคอ ปลายมน และเรียกเสื้อชนิดนี้ว่า เสื้อคอบัว บัวนาง หมายถึง นมผู้หญิง บัวบาท หมายถึง บัวที่ผุดขึ้นมารองรับบาทของพระพุทธเจ้า โดยยกย่องหมายถึงพระบาทของพระเจ้าแผ่นดินด้วย และ บัวลอย ก็หมายถึง ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นเม็ดกลมๆเล็กๆ ต้มในน้ำกะทิผสมน้ำตาล และ บัวลอย ยังเป็นชื่อเพลงไทยทำนองหนึ่ง ใช้บรรเลงในงานศพ มุ้งสายบัว คือ ห้องคุมขังนักโทษ กบบัว คือ เครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับไสไม้หน้าโค้ง พานกลีบบัว เป็นพานทรงกลม ที่ปากพานจะเป็นจักรๆคล้ายปลายกลีบบัวเรียงซ้อนขึ้นไปโดยรอบ กระทะใบบัว คือ กระทะที่มีลักษณะกลม ปากผาย ก้นตื้น มีหูสำหรับจับสองข้าง ใช้สำหรับประกอบอาหารคาวหวานได้ทั้งการหุง ต้ม ทอดและกวน

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับ “ บัว ” ซึ่งหวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็น “ ดอกบัว ” ในความหมายที่หลากหลายมากกว่าดอกไม้บูชาพระมากยิ่งขึ้น





ขอบคุณบทความดีๆจาก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์