อันตรายใน กระเป๋านักเรียนใบหนัก ของลูก!
ภาพของเด็ก ๆ ที่สะพายกระเป๋าจนหลังโก่ง เป็นภาพชินตาที่ไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาจริงจังเสียที ถึงแม้จะมีข้อมูลจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคก่อนหน้านี้ ระบุว่า เด็กในระดับชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 ไม่ควรแบกกระเป๋านักเรียนหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว แต่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษายังใช้กระเป๋าหนักเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว ซึ่งถือว่าวิกฤติมาก
นับเป็นอันตรายที่พ่อแม่จะนิ่งนอนใจไม่ได้อีกต่อไป โดย ทีมงาน Life & Family ได้สอบถามไปยัง นพ.สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า การสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก ๆ ส่งผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกสันหลังของเด็กจริง หากต้องสะพายกระเป๋าหนัก ๆ ไปโรงเรียนทุกวัน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามมาได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการปวดหลังเรื้อรัง และส่งผลต่อรูปร่างของกระดูกสันหลังในอนาคตอีกด้วย
โดยมีการศึกษาชัดเจนพบว่า หากมีอาการปวดหลังตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ โตขึ้นไป อาการปวดหลังจะเกิดเรื้อรังได้ โดยในต่างประเทศนั้น คนที่ปวดหลังเรื้อรัง เช่น ในวันแรงงานก็มีปัญหามาตั้งแต่วัยเด็ก และวัยรุ่น ยิ่งถ้าแบกกระเป๋าที่หนักมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวจะเห็นได้เลยว่าลักษณะของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ความโค้งงอของกระดูกสันหลังจะผิดปกติไป
ไม่เพียงแต่จะส่งผลโดยตรงต่อร่างกายเท่านั้น ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กด้วย ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็คุณหมอท่านนี้บอกว่า การที่เด็กสะพายกระเป๋านักเรียนหนัก ๆ เป็นประจำ กล้ามเนื้อทั้งไหล่ ทั้งเอวจะเมื่อยล้า เป็นไปได้ที่สมาธิในการเรียนรู้ของเด็กจะลดลง
"ก็เหมือนผู้ใหญ่นั่นแหละ หากต้องแบก หรือยกอะไรหนัก ๆ ก็ต้องเมื่อยล้าเป็นธรรมดา แต่สำหรับเด็กผมคิดว่ากระเป๋ามันหนักเกินไปนะ ต้องมีใครเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโรงเรียนที่ควรเข้ามามีส่วนช่วยเด็ก โดยหาตู้ หรือโต๊ะเพื่อไว้เก็บสัมภาระ หรือหนังสือ รวมถึงสอนเด็กจัดตารางสอนให้พอดี และถือของเท่าที่จำเป็นไปโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่ และโรงเรียนต้องให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ด้วยครับ" ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและข้อเผย
ด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มีข้อเสนอแนะไว้เป็นทางเลือกว่า
- เลือกใช้กระเป๋ามีล้อเข็น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อ ลดน้ำหนักกดทับกระดูกสันหลัง อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนก็ยังคงต้องแบกหิ้วกระเป๋าล้อเข็นขึ้นลงรถโดยสาร หรือบันไดอยู่ดี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้ง่าย พ่อแม่ควรพิจารณาน้ำหนักโดยรวมทั้งหมดต้องไม่ควรเกิน 20 % ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กน้ำหนักประมาณ 20 ก.ก. น้ำหนักกระเป๋าไม่ควรเกิน 4 ก.ก.
- การใช้กระเป๋าแบกหลังต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับเด็ก มีช่องว่างใส่ของเพียงพอ และจัดวางอย่างเหมาะสมโดยให้น้ำหนักกระจายไปทั่วกระเป๋า สายสะพายไหล่ควรมีความกว้างกว่า 6 ซ.ม. สายที่เล็กจะทำให้กดทับบริเวณไหล่ ซึ่งอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทได้
- การใช้กระเป๋าสะพายหลัง ต้องปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ต่ำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว และผู้ใช้ต้องเดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้า
- การแบกกระเป๋าต้องใช้สายสะพายไหล่ทั้งสองข้างเพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวอย่างสมดุล การสะพายไหล่ข้างเดียวจะมีความเสี่ยงสูงต่อการปวดต้นคอ ไหล่ และหลังได้ เพราะน้ำหนักถ่วงไม่สมดุลย์นั่นเอง
ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทั้งหลาย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที เพราะไม่เช่นนั้น เด็กในวันนี้อาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมาในอนาคตได้ นั่นหมายความว่า คุณภาพในการใช้ชีวิตของเด็กอาจด้อยลงตามไปด้วย