ฟังกูรูนักอุตุนิยมวิทยาต่างประเทศวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย

ฟังกูรูนักอุตุนิยมวิทยาต่างประเทศวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย


เดวิด แชลเลนเจอร์ แห่งซีเอ็นเอ็น ได้สัมภาษณ์แบรนดอน มิลเลอร์

นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโส เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายประเทศแถบเอเชีย ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ทั้งนี้ มีบทสนทนาหลายตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย มติชนออนไลน์ จึงขออนุญาตนำบางส่วนของคำถาม-คำตอบเหล่านั้นมาถ่ายทอดต่อดังนี้


ปี 2011 เป็นปีปกติ หรือว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมากันแน่?


ฤดูกาลของพายุเขตร้อนทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกในปีค.ศ.2011 ถือว่าเป็นปกติ ไม่ได้มีความรุนแรงสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ เราต้องเผชิญหน้ากับพายุที่เกิดติดต่อกัน 2-3 ลูก  ซึ่งส่งผลให้เกิดเหตุแผ่นดินถล่มในประเทศฟิลิปปินส์และฝนตกหนักในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปลายกันยายนถึงต้นตุลาคม แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญจริงๆ ของสถานการณ์ดังกล่าวกลับไม่ใช่ลมมรสุม หากเป็นลักษณะการเคลื่อนตัวของพายุอันเกิดจากความกดอากาศสูงเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ส่งผลให้เศษส่วนที่หลงเหลืออยู่ของพายุเหล่านั้นสามารถเคลื่อนตัวเข้าไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในระยะไกลมากยิ่งขึ้นกระทั่งเป็นการขยายขอบเขตของร่องมรสุม จนประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม มีอัตราฝนตกมากกว่าปริมาณโดยเฉลี่ย เช่น ปริมาณฝนของพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยประจำปีนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ตั้งแต่ 15 ไปจนถึง 25%


บางพื้นที่ในทวีปเอเชียถูกบันทึกว่ามีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป เช่น ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้ต้องรับฝนมากกว่าปกติถึง 58% ทำไมลมมรสุมจึงก่อให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรงกว่าธรรมดาในปี 2011?


ลมมรสุมบางชนิดก็มีกำลังแรงกว่าลมมรสุมลูกอื่นๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันเก้า ปริมาณฝนจากลมมรสุมในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีจำนวนมากขึ้นเพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบอากาศต่างๆ ในเขตร้อนกับร่องมรสุม นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลที่ซับซ้อนกว่านั้น คือ ร่องมรสุมอาจมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพอากาศในระบบใหญ่และภูมิอากาศที่เต็มไปด้วยความแปรปรวนอื่นๆ เช่น ปรากฏการณ์ เอลนิโญ หรือ ลานีญา ยิ่งกว่านั้น อุณหภูมิของพื้นผิวทะเลซึ่งสูงหรือต่ำกว่าปกติ ก็สามารถนำไปสู่ความผันแปรของปริมาณฝนจากลมมรสุมได้เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องศึกษาว่า องค์ประกอบเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกันอย่างไร จนก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันขึ้นมา


ทั้งนี้ ลมมรสุมอาจมีกำลังแรงในพื้นที่หนึ่ง แต่กลับอ่อนกำลังลงในอีกพื้นที่ ดังเช่นสถานการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งร่องมรสุมมีกำลังแรงมากบริเวณภาคกลางของประเทศไทย แต่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ กลับมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป


จากสภาพทั่วไป ลมมรสุมฤดูร้อนของทวีปเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การมีพลังทำลายล้างมากกว่าปกติ หรือว่ายังดำเนินไปตามวงจรของมัน?


ผมเชื่อว่านี่เป็นแค่วงจรปกติของลมมรสุม ซึ่งอย่างที่พูดไปข้างต้นว่า วงจรดังกล่าวขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอันหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของมันกลับเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อประชากรและตัวเมืองได้เติบโตขยับขยายเคียงคู่ไปกับแม่น้ำสายสำคัญๆ อันส่งผลให้พวกเขาได้รับผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้นในช่วงหน้ามรสุม


ทวีปเอเชียจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในการช่วยบรรเทาผลกระทบจากปริมาณฝนที่สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยปกติ?


การวางผังเมืองและกลยุทธป้องกันน้ำท่วมที่ดีกว่านี้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดที่จำเป็นต้องทำ น้ำท่วมจากลมมรสุมนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ และน้ำจากแม่น้ำก็เอ่อนองเข้าท่วมพื้นที่ชายตลิ่งอยู่เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ถ้าประชาชนยังคงสร้างอาคารต่างๆ อยู่บนพื้นที่เปราะบางเหล่านั้น หายนภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบ่อยครั้งขึ้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์