หากจะตั้งคำถามว่า อะไรมีค่าที่สุดในชีวิตแต่ละคนคงจะมีคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่คงจะมีคนจำนวนมากตอบว่า ชีวิตคือสิ่งมีค่ามากที่สุดเราแต่ละคนดิ้นรนต่อสู้กับปัญหารอบตัว เช่น การทำงาน การเจ็บป่วย การศึกษา เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุข
ชีวิตของใคร คนนั้นก็ต้องดูแลเองใช่หรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ โลกนี้คงจะแห้งแล้งไม่น่าอยู่คงจะมีหลายคนที่ชีวิตเฉาตายไป ในความเป็นจริงเราต้องดูแลเอาใจใส่กันตั้งแต่ในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน ที่ทำงาน โดยเฉพาะในยามที่มีความทุกข์ เราก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น คนอื่นเมื่อมีทุกข์ เขาก็ต้องการความช่วยเหลือจากเราเช่นกัน เวลาที่มีความทุกข์เราจะต้องการเพื่อนมากที่สุด ต้องการคนที่จะมารู้มาเข้าใจว่าเรากำลังทุกข์กาย ทุกข์ใจ ช่วยอยู่เป็นเพื่อน รับฟังปัญหาช่วยหาแนวทางแก้ไข เห็นใจ ปลอบใจ ให้กำลังใจ สิ่งนี้เป็นน้ำใจที่เราทุกคนต้องการมากที่สุด
ฉะนั้น ถ้าคนรอบตัวท่านกำลังมีความทุกข์ขอให้เราให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่ ไม่มีใครหรอกอยากจมอยู่ในกองทุกข์ ถ้าเราไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เขาอาจจะหาทางออกหรือแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนใกล้ชิด บางคนกว่าจะคิดได้ว่าถ้าเราสังเกตเขาสักนิดซักถามเขาสักหน่อย อยู่เป็นเพื่อนเขาบ้างเหตุการณ์ร้ายๆ คงจะไม่เกิดขึ้น เมื่อคิดได้มันก็สายไปแล้ว ฉะนั้นการดูแลกันในยามทุกข์จึงเป็นสิ่งมีค่า ที่ท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน
ความทุกข์เป็นของคู่กับมนุษย์ทุกคนไม่เลือกเพศ ฐานะหรือวัย เด็กก็ทุกข์ประสาเด็ก คนแก่ก็ทุกข์ประสาคนแก่ คนที่มีฐานะการเงินดีมีชื่อเสียงเกียรติยศในสังคมก็ยังหนีไม่พ้น ใครจะทุกข์มาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองความทุกข์ที่เกิดขึ้นอย่างไร และมองเห็นทางแก้ไขผ่อนคลายความทุกข์นั้นหรือไม่
โดยปกติแล้ว คนทุกคนจะพยายามแก้ไขความทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่ในบางครั้งบางปัญหาแก้ไขเองไม่ได้ จะทนแบกรับต่อไปก็ไม่ไหว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนใกล้ชิด คนในครอบครัวหรือชุมชนเดียวกัน ต้องให้ความสนใจ เข้าใจ เห็นใจและให้ความช่วยเหลือ อย่าให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเขาทุกข์อยู่คนเดียว แต่ควรทำให้เขารู้สึกว่า เมื่อเขาทุกข์แล้ว เขายังมีคนที่ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจในการแก้ไขความทุกข์ ให้ทุกข์นั้นผ่อนคลาย โดยเฉพาะบางคนทุกข์มาก แต่อายที่จะให้คนอื่นช่วยและไม่กล้าร้องขอ
คนที่ทุกข์ใจ มีความทุกข์จนทนต่อไปไม่ได้ย่อมรับปัญหานั้นไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ไม่มีคนช่วยเหลือ หรือหาทางหนีก็ไม่ได้ ผู้อยู่ใกล้ชิดควรช่วยเหลือ ดังนี้
1. สร้างสัมพันธภาพด้วยการพูดคุยซักถาม เช่น “ดูหน้าตาไม่ค่อยสบายเป็นอะไรหรือเปล่า” ถามถึงทุกข์สุขในครอบครัวหรือการทำมาหากินเป็นอย่างไร
2. พูดคุยเพื่อหาปัญหาเช่น “ดูท่าทางปัญหาครั้งนี้จะทำให้ไม่สบายใจมากกว่าธรรมดาถ้าพูดออกมา นอกจากได้ระบายทุกข์ออกมาบ้างแล้วอาจจะหาทางช่วยกันได้”
3.ถ้าเขาเต็มใจพูดคุย ก็ควรถามรายละเอียดของปัญหาและผลที่ตามมาจนไม่สบายใจ เช่น
- เรื่องราวเป็นมาได้อย่างไร
- ใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
- ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกอย่างไร
- เรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนความรู้สึกของตัวเองมากแค่ไหน
- ที่ผ่านมาแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือมีคนอื่นมาช่วยแก้ไขด้วยหรือไม่
4.พูดคุยเพื่อให้ผู้ทุกข์ใจเข้าใจสาเหตุและการเกิดปัญหานี้ ขึ้นโดยใช้คำถาม เช่น ใครบ้างที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ทำให้เกิดได้อย่างไรตัวเขามีส่วนด้วยหรือไม่
5. ช่วยกันคิดหาทางออกของปัญหา ตามแนวทางดังต่อไปนี้
- พิจารณาว่ามีปัญหาอะไรบ้างพยายามหาทางออกในการแก้ปัญหาหลายทาง เพื่อเป็นทางเลือก
- ชั่งน้ำหนักของแต่ละปัญหา และเรียงลำดับปัญหาตามความรีบด่วน จากด่วนมากไปจนถึงเรื่องที่รอได้หรือเรื่องที่แก้ได้ยากไปจนถึงเรื่องแก้ได้ง่าย
- เริ่มแก้ปัญหาจากปัญหาที่ง่ายไปหาปัญหาที่ยาก หรือเรื่องที่ด่วนมากไปจนถึงเรื่องที่รอได้เรียงลำดับก่อนหลังว่าแต่ละอย่างจะแก้อย่างไร โดยดูว่า
o มีใครเกี่ยวข้อง
o ใครจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง
o ต้องไปหาใครก่อน/หลัง หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยตัวเอง
o คิดไว้ก่อนว่าจะพูดอย่างไร ทำอย่างไร
o เตรียมใจไว้เผื่อไม่เป็นไปตามที่คิดหวังไว้
บางปัญหาสามารถแก้ไขได้โดยตรง ทันทีตามที่เราต้องการ แต่บางปัญหาอาจต้องชะลอยืดเวลาออกไป เพื่อตั้งหลักหาทางแก้ไข หรือต้องประนีประนอม พบกันครึ่งทาง ถึงแม้ว่าจะแก้ไขปัญหาตามที่ต้องการไม่ได้ทั้งหมด ก็ยังดีกว่าไม่ได้แก้ไขอะไรเลย
ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย คงต้องให้ผู้ทุกข์ใจยอมรับความจริง ยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ผู้ที่สามารถยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นคนที่เข้มแข็งกล้าหาญในการเผชิญกับสิ่งที่ไม่ดี ล้มเหลวในชีวิตแต่สามารถสู้ชีวิตต่อไปได้เปรียบเสมือนคนที่ล้มแล้วพยายามลุกขึ้นเดินต่อไป ย่อมจะมีโอกาสดีกว่าคนที่ไม่ยอมลุกขึ้น
- ถ้ายังทำใจไม่ได้ หรือในรายที่เคยมีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อน ควรจะไปพบผู้ที่มีความรู้ที่สามารถให้การช่วยเหลือได้ที่สถานบริการสาธารณสุขต่างๆ ที่ใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาล
- ติดตามเพื่อประคับประคองทางจิตใจและทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งด้วยการถามถึงความเป็นอยู่ ช่วยแนะนำและร่วมปรับวิธีการในการแก้ปัญหาครั้งต่อ ๆไป