ออมเงินแบบ ‘สัจจะสะสมทรัพย์'
หากคิดที่จะเก็บเงิน เราคงคิดถึงการฝากเงินไว้กับธนาคารสักแห่ง ไม่ว่าจะฝากแบบออมทรัพย์ ที่ฝาก-ถอนได้ตลอดเวลา หรือจะฝากประจำสะสมทรัพย์ ที่ฝากได้เพียงอย่างเดียวห้ามถอนจนกว่าจะครบกำหนด และต้องฝากเท่ากันทุกเดือน หากจะฝากในอีกรูปแบบหนึ่งโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและสัจจะวาจา เข้ามาเกี่ยวข้องล่ะ จะเป็นอย่างไร
สัจจะสะสมทรัพย์แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
ชาวบ้านที่ต.หัวไผ่ จ.สิงห์บุรี เขาได้รวมตัวกันออมเงินในรูปแบบสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นมา โดยมีนายก อบต. เป็นผู้ดำเนินระบบและดูแลเรื่องการเงิน ซึ่งสัจจะสะสมทรัพย์ของที่นี่ คือ การออมเงินรายวัน-รายเดือนของชาวบ้าน โดยมีการให้สัจจะกับตนเองในเรื่องการออม และต้องปฏิบัติให้ได้ตามสัจจะวาจาที่กล่าวไว้ เพราะนอกจากชาวบ้านจะได้รู้จักการเก็บเงินแล้ว ยังสามารถกู้ยืมเงินในส่วนนี้เพื่อนำไปเป็นต้นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการ ประกอบอาชีพ หรือสำหรับการศึกษาของลูกหลานได้อีกด้วย
เริ่มแรกชาวบ้านจะมารวมกันเพื่อพูดคุยถึงการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ พอมีคนสนใจมากขึ้นก็จัดตั้งเป็นคณะกรรมการ เพื่อดูแลเรื่องการเงินต่างๆ ร่างระเบียบและเงื่อนไขของกลุ่มร่วมกัน ให้ทุกคนได้ทราบและสามารถปฏิบัติได้จริง แล้วก็เปิดรับสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
จากนั้นก็ออมเงินครั้งแรกขั้นต่ำคนละ 10 บาทขึ้นไป เมื่อมีรายได้เพิ่มมากขึ้นก็สามารถออมได้มากขึ้น และหากใครจะมากู้เงินก็ต้องพิจารณากันสักหน่อยว่าคนนั้นมีความจำเป็นมากน้อย แค่ไหน หากมากู้พร้อมกันหลายคน ก็ต้องพิจารณาจาก ความจำเป็นและระดับรายได้เป็นหลักก่อน ทุกคนในกลุ่มก็ต้องเข้าใจ และยอมรับในการแสดงความคิดเห็นของกันและกันด้วย
ส่วนเรื่องของการเบิก-ถอนเงินนั้น แน่นอนเรื่องสัจจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องมีระเบียบการและเงื่อนไข โดยทุกครั้งที่ มีการเบิกถอน ต้องให้สมาชิกทุกคนรับทราบเพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของการเบิก-ถอนได้อย่างสะดวก และทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจว่า เงินที่พวกเขาออมนั้น ยังอยู่ที่เดิม หรือมีชาวบ้านคนไหนใช้สิทธิ์ในการกู้เงินส่วนนี้ไป ชาวบ้านผู้ที่กู้ไปนั้นก็ต้องมีสัจจะ มีระเบียบวินัยในตนเอง ต้องคืนเงินตามระเบียบที่กำหนดขึ้น ต้องฝากเงินออมทุกเดือน ต้องคืนเงินกู้ เพื่อที่คนอื่นจะได้มีเงินส่วนนี้ในการกู้ต่อไปได้ส่วนเรื่องจำนวนเงินของ การส่งเงินกู้นั้น จะคิดตามกำลังทรัพย์ของชาวบ้านคนนั้นๆ ว่า เขาจะสามารถส่งเงินคืนได้เดือนละเท่าไหร่ ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว แต่เมื่อบอกว่าเดือนนี้จะจ่าย 200 บาท เดือนหน้าก็ต้องจ่าย 200 บาทพร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะครบวงเงินที่กู้ไป
แต่หากชาวบ้านผู้กู้เดินมาบอกว่า ไม่มีเงินส่ง นายก อบต.หัวไผ่เขามีวิธีการแก้ปัญหาหนี้เสียด้วยการจ้างงานชาวบ้านคนนั้นให้ทำ งานในสำนักงาน หรือที่บ้านของนายก อบต.คิดเงินเป็นจำนวนวันที่มาทำงาน เช่น ต้องส่งเดือนละ 500 บาท หากไม่มีเงิน ก็มาทำงานบ้านนายก อบต. 2 วัน วันละ 250 บาท ก็จะเป็นการจัดการเรื่องหนี้เสียและได้งานไปในตัว
สัจจะสะสมทรัพย์ในลักษณะนี้จะเป็นการออมเงิน พร้อมเป็นแหล่งเงินกู้โดยการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน เมื่อสมาชิกเพิ่มมากขึ้น วงเงินในส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น ก็สามารถกู้ได้ในวงเงินที่มากขึ้น จัดสรรผู้กู้ได้มากขึ้น แต่หากจะถอนเงินเฉพาะของตัวเองเพื่อนำไปใช้จ่ายก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีการ คืนเงินในรูปแบบเดียวกับการกู้เงินเช่นกัน เพราะในแต่ละเดือนจะต้องมีวงเงินหมุนเวียนในระบบเหมือนเดิมนั่นเอง
เรื่องเงินเป็นเรื่อง ที่ใช้เพียงสัจจะคงเป็นไปได้ยาก เพราะวัตถุทางจิตใจของคนเราเปลี่ยนไปมาก อาจจะใช้กับคนเมืองได้ไม่ดีนัก แต่ที่ต่างจังหวัดในหลายๆ พื้นที่ได้นำระบบสัจจะสะสมทรัพย์เข้ามา เพื่อความสามัคคี เอื้ออาทรต่อชาวบ้านด้วยกันเอง ส่งผลให้บรรยากาศในชุมชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลองเริ่มนำสัจจะสะสมทรัพย์นี้ไปใช้ในครอบครัว อาจจะเป็นการเพิ่มกิจกรรมของคนในครอบครัวได้ดีอีกอย่างหนึ่ง
ข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี : มีสัจจะต่อตนเอง สร้างวินัยในการเก็บเงิน มีเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น และแสดงพลังของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ข้อเสีย : เป็นแหล่งเงินกู้เพิ่มขึ้น (ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ : เป็นหนี้) อาจโดนกดขี่ทางการเงินโดยผู้มีอำนาจในคณะกรรมการ หรือสมาชิกเองขาดการเอาใจใส่ที่จะตรวจสอบที่มาที่ไปของการเบิก-ถอนเงิน