'โคลิค' ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กน้อยที่มีอายุระหว่าง 2-3 สัปดาห์ แต่จะหายไปเมื่อเด็กอายุเลยวัย 3 เดือนไปแล้ว เด็กที่เป็นโคลิคจะสังเกตได้ง่าย จากอาการหน้าแดง กำมือแน่น ยกขาชูสูงขึ้นมาถึงหน้าอก ร้องไห้เสียงดังนานราว 2-3 ชั่วโมง อาการมักเกิดขึ้นหลังการกินนมผ่านไป 15 นาที
สำหรับสาเหตุของอาการโคลิคนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเชื่อว่า มีอากาศในท้องเด็กมากเกินไปโดยไม่ได้เรอออก ท้องของเด็กแน่นไปด้วยลมจนรู้สึกปวดท้อง นอกจากนี้ยังอาจเป็นเพราะลำไส้ของเด็กทำงานหนักเพื่อที่จะขับของเสียออกจนเริ่มเป็นตะคริว
ล่าสุด นักประสาทวิทยาในเด็ก ประจำศูนย์ศึกษาอาการปวดศีรษะ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐ นำโดย ดร.เอมี เกลแฟนด์ ออกมาเปิดเผยว่า คุณแม่ที่ในอดีตเคยมีประวัติปวดหัวไมเกรนมากกว่า 2 ครั้งต่อวันขึ้นไป มีส่วนทำให้ลูกน้อยวัยแบเบาะมีอาการโคลิค
จากกลุ่มตัวอย่าง แม่ 154 คน ที่มีลูกอ่อน พบว่า เด็กที่เป็นโคลิค ร้อยละ 29 มีแม่ที่เคยปวดหัวไมเกรน ขณะที่เด็กๆ อีกร้อยละ 11 ไม่เป็นโคลิคและแม่ของพวกเขาก็ไม่เคยปวดหัวไมเกรนมาก่อนด้วย
ไม่ใช่สำรวจแต่กับแม่เท่านั้น ทีมวิจัยยังสอบถามกับพ่อเด็ก ทำให้ทราบอีกว่า เด็กเป็นโคลิค ร้อยละ 22 มีพ่อที่เคยปวดหัวไมเกรน ส่วนเด็กที่ไม่เป็นโคลิค ร้อยละ 11 นั้น ป๊ะป๋าไม่เคยปวดหัวไมเกรนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลของการวิจัยเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น หากมีผลวิจัยลงลึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างอาการปวดหัวไมเกรนของแม่กับอาการโคลิคของลูกเพิ่มเติม มุมสุขภาพก็จะนำมาอัพเดทให้ทราบต่อไป แต่ระหว่างนี้ คุณแม่และคุณพ่อลูกอ่อนสามารถลองสำรวจอาการปวดไมเกรนของตนเอง แล้วดูสิว่า เจ้าตัวเล็กของคุณร้องไห้โยเยเข้าข่ายโคลิคหรือไม่.