ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จาก อุกกาบาตเชลยาบินสก์


ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จาก "อุกกาบาตเชลยาบินสก์"



ปรากฏการณ์ชนิดที่ร้อยปีจะเกิดสักครั้งเหมือนอย่างกรณีอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่สามารถทานแรงเสียดสีจนเข้ามาใกล้เมืองเชลยาบินสก์ ในเขตไซบีเรียตะวันตกของประเทศรัสเซีย ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดวินาศภัยครั้งใหญ่ขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นความสนใจในเชิงวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ได้อย่างเอกอุ

มีข้อเท็จจริงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวมาบอกเล่าสู่กันฟัง เพื่อทำความเข้าใจในทางวิชาการได้ดังต่อไปนี้

อุกกาบาต-ดาวเคราะห์น้อย-ฝนดาวตก

สะเก็ดดาว (เมทีโอรอยด์) คือชิ้นส่วนของ หินอวกาศ (สเปซร็อก) ที่ส่วนใหญ่แตกออกมาจาก ดาวหาง (โคเมท) หรือ ดาวเคราะห์น้อย (แอสเตอรอยด์) มีขนาดตั้งแต่เท่ากับเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายสิบกิโลเมตร เมื่อสะเก็ดดาวเหล่านี้หลงเข้ามาอยู่ภายใต้แรงดึงดูดจากแรงโน้มถ่วงของโลก มันจะตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนใหญ่มักเกิดเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจนไหม้หมดไปบนท้องฟ้า เรียกกันว่า "ดาวตก" (ผีพุ่งไต้) หรือ "ฝนดาวตก" (เมทีออร์ หรือ เมทีออร์ ชาวเวอร์) แต่หากยังมีส่วนที่เผาไหม้ไม่หมด ตกลงสู่พื้นโลก เหมือนเช่นกรณีที่ เชลยาบินสก์ เรียกว่า อุกกาบาต (เมทีโอไรท์)

สะเก็ดดาวมีมากแค่ไหน? ตกสู่โลกบ่อยแค่ไหน?



นักวิทยาศาสตร์ประมาณเอาไว้ว่า ดาวเคราะห์น้อย ที่มีขนาดเท่าหรือใหญ่กว่า 2012 ดีเอ 14 ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตรอยู่ในห้วงอากาศใกล้โลก ระหว่าง 500,000 ถึง 1 ล้านดวง นักดาราศาสตร์สามารถตรวจพบและกำหนดวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ได้แล้ว 9,600 ดาว หรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด สำหรับไว้ตรวจสอบว่าดวงใดจะโคจรเข้ามาใกล้จนอาจเป็นภัยคุกคามต่อโลกในวันเวลาใด ในจำนวนที่ตรวจพบทั้งหมดนั้น มีมากถึงเกือบ 1,300 ดวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร สะเก็ดดาวที่มีขนาดเล็กกว่านั้นลงไป มีมากมายกว่านั้นหลายร้อยหลายพันเท่า

ในส่วนของดาวตกและฝนดาวตกนั้น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ระบุเอาไว้ ชั้นบรรยากาศของโลกถูกถล่มด้วยสะเก็ดดาวเหล่านี้มากถึงวันละ 100 ตัน แต่ส่วนใหญ่มีขนาดเท่าเม็ดทราย และส่วนใหญ่มักไหม้หมดในชั้นบรรยากาศ

ในกรณีที่เป็นอุกกาบาตนั้น มักเกิดขึ้นระหว่าง 5 ถึง 10 ครั้งต่อปี อุกกาบาตขนาดใหญ่ แบบเดียวกับที่ก่อเหตุที่เชลยาบินสก์นั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่ามาก แต่ แอดดี้ บิชโฮฟฟ์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทลัยมึนสเตอร์ ในเยอรมนี เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ 5 ปี ส่วนมากมักตกในพื้นที่ที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย กรณีที่เชลยาบินสก์เป็นการตกใกล้เขตชุมชนซึ่งหาได้ยากมาก หลายร้อยปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง

อุกาบาตเชลยาบินสก์มีขนาดเท่าใด? ทำไมถึงมีคนบาดเจ็บมากขนาดนั้น?

นักวิทยาศาสตร์ของนาซาประเมินว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อุกกาบาตเชลยาบินสก์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เมตร มีมวลหนักประมาณ 7,000 ตัน ลูกไฟที่เกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศของอุกกาบาตลูกนี้สุกสว่างกว่าแสงของดวงอาทิตย์ และถือเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการรายงานกันมาในรอบกว่าศตวรรษ นับตั้งแต่เกิดเหตุอุกกาบาตถล่ม พื้นที่ป่าทังกัสกา ในไซบีเรีย เมื่อปี 1908 (พ.ศ.2451) การเผาไหม้ปลดปล่อยพลังงานออกมาเทียบเท่ากับแรงระเบิดของระเบิดทีเอ็นทีหลายแสนตัน (ระหว่าง 300,00 ถึง 500,000 ตัน) พลังงานที่เกิดขึ้นในรูปของคลื่นกระแทก หรือ ช็อกเวฟ ที่เกิดจากการพุ่งฝ่าบรรยากาศด้วยความเร็วสูง ระหว่าง 30,000-40,000 กิลโลเมตรต่อชั่วโมง จนทำให้มวลอากาศแยกออกจากกันแล้วกระแทกเข้าหากันอย่างรวดเร็วกลายเป็นระลอกมวลอากาศแผ่ออกไปทุกทิศทุกทาง ทำลายกระจกหน้าต่างบ้านเรือนเสียหายหลายพันหลัง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเศษกระจกและวัตถุตกใส่มากถึง 1,200 คน

แรงระเบิดที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเทียบเท่ากับ 20 เท่าหรือมากกว่านั้นของแรงระเบิดที่เกิดจากการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐอเมริกาหย่อนลงถล่มเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ระเบิดฮิโรชิมาระเบิดที่ความสูงเพียง 2,000 ฟุต (ราว 610 เมตร) แต่อุกกาบาตเชลยาบินสก์ระเบิดที่ความสูงระหว่าง 30-50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ลดความเสียหายลงได้มาก

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จาก อุกกาบาตเชลยาบินสก์



นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้อะไรจากอุกกาบาต?

แอดดี้ บิชโฮฟฟ์ เชื่อว่า ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ที่เชลยาบินสก์ นักวิทยาศาสตร์และนักล่าสมบัติ คงแย่งกันเข้าไปในพื้นที่เพื่อค้นหาชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวจากอวกาศที่อาจหลงเหลืออยู่ เศษอุกกาบาตบางชิ้่นมีค่าสูง ขึ้นอยู่กับว่าต้นกำเนิดของมันมาจากไหนและมีองค์ประกอบอย่างไร บางชิ้นสามารถขายได้ถึง 670 ดอลลาร์ หรือราว 20,100 บาทต่อกรัม ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าราคาทองคำในปัจจุบัน ที่มีค่าเช่นนั้นเนื่องจากสะเก็ดดาวมักไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลานับเป็นพันๆ ล้านปี ไม่เหมือนหินบนโลกที่ถูกัดกร่อนหรือได้รับผลกระทบทางอื่น ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาสภาวะของจักรวาลในยุคเริ่มต้นได้ดี

อลัน แฮร์ริส นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันแอโรสเปซเยอรมัน ในกรุงเบอร์ลิน ระบุว่า เชื่อกันว่า สะเก็ดดาวบางดวงมีอินทรียสารบรรจุอยู่ และอาจมีอิทธิพลสูงต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก

หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556



ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จาก อุกกาบาตเชลยาบินสก์

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์