โรค HPV คือ ไวรัสตัวร้าย ที่ผู้หญิงควรรู้


เชื้อ HPV คืออะไร มีความร้ายแรงอย่างไรบ้าง หากไปฉีดวัคซีน HPV จะป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมดหรือไม่ ไปดูกันเลย

หลายคนคงเคยรู้จัก ไวรัส HPV กันดีอยู่แล้ว เพราะนี่เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยมีไวรัส HPV กว่า 40 ชนิดที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักได้ แต่ถึงอย่างนั้นบางคนก็ยังคงสงสัยอยู่ว่า HPV คืออะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่

ก่อนอื่นเราคงจะต้องมาทำความรู้จักกับ HPV กันก่อน โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี ได้ระบุว่า เชื้อ HPV หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่มีสายพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด แต่ละสายพันธุ์จะก่อให้เกิดโรคได้ต่างชนิดกัน โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธ์และทวารหนักที่ รู้จักกันดีคือ สายพันธุ์ เบอร์ 6,11,16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อบริเวณ อวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริเวณมดลูกและ สามารถนำไปสูการเกิดมะเร็งที่ปากมดลูกในที่สุด โดยเบอร์ 6 และ 11 เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงก่อให้เกิดมะเร็งได้ต่ำ (Low-risk) ขณะที่สายพันธุ์เบอร์ 16 และ 18 นั้นเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้สูง (High-risk)

การติดเชื้อ HPV

นายแพทย์กมล ภัทราดูลย์ สูติ-นรีแพทย์ด้านมะเร็ง โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า เชื้อ HPV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ทั้งหญิงและชายหากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ทุกทาง ซึ่งสามารถติดต่อและก่อให้เกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ในผู้หญิงก่อให้เกิดมะเร็งช่องคลอด, อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และทวารหนักได้ ส่วนในผู้ชาย สามารถก่อให้เกิดมะเร็งที่องคชาติได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กแรกเกิดก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกัน ในขณะที่คลอดผ่านช่องคลอดของมารดาที่มีเชื้อนี้อยู่ ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อ HPV ที่กล่องเสียงได้

โรคจากการติดเชื้อ HPV

ปัจจุบันพบว่าการติดเชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด จะพบเชื้อนี้ในช่องคลอดสตรี และปากมดลูกมากกว่าบริเวณอื่น แต่การติดเชื้อนี้ส่วนมากจะหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี เมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานเชื้อนี้ขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะคงอยู่และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น

หูดหงอนไก่ (Condyloma accuminata) จะมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ผิวไม่เรียบ หลาย ๆ ตุ่มกระจายเต็มอวัยวะเพศภายนอก อาจมีอาการคันได้ ส่วนมากพบได้ที่บริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก นอกจากนั้นอาจพบในลำคอ คอหอย

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ปัจจุบัน มีหลักฐานมากมายที่บอกว่ามะเร็งปากมดลูกมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV ซึ่งประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมดมักจะเกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 มากที่สุด โดยเชื้อจะทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยน แปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

มะเร็งเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย หรือ มะเร็งองคชาต และโรคมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น




อาการสำคัญของผู้ติดเชื้อ HPV

ผู้ ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ HPV มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรก ๆ แต่หากในผู้หญิงคนใดที่มีอาการเข้าข่ายกลุ่มอาการดังต่อไปนี้ นับว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ HPV

1. มีตกขาวมากกว่าปกติ

2. ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

3. ประจำเดือนมาผิดปกติ

4. มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์

5. มีอาการแสบร้อน คัน หรือตึงบริเวณที่มีการติดเชื้อ

6. มีเลือดออกจากช่องคลอด

7. เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ

8. กรณีเป็นหูดหงอนไก่ จะพบตุ่มเนื้องอกเล็ก ๆ บริเวณปากช่องคลอด หลาย ๆ ตุ่ม ไม่มีอาการเจ็บ

การรักษาเมื่อติดเชื้อ HPV

ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการรักษาใดที่จะสามารถรักษาหรือกำจัดเชื้อ HPV ออกจากร่างกายได้ทั้งหมด มีเพียงการนำส่วนที่ติดเชื้อออกไปเท่านั้น ซึ่งวิธีการผ่าตัดนำชิ้นส่วนที่ติดเชื้อ HPV ออกไปนั้นก็ยังไม่สามารยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาเกิดโรคซ้ำได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HPV นั้นสามารถหายได้เองในปีแรกไดัถึง 70% และหายไปเกือบ 90% ในปีถัดมา

วิธีการดูแลตัวเอง เมื่อติดเชื้อ HPV

1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน

2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ

3. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ

4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ

5. พบแพทย์เมื่อมีโรคหูดหงอนไก่

การลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV

1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

2. รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีประโยชน์

3. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

4. ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีการร่วมเพศ ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้

5. การมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองเพียงคนเดียว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย

6. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้


โรค HPV คือ ไวรัสตัวร้าย ที่ผู้หญิงควรรู้


วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV

สำหรับการฉีดวัคซีน HPV (HPV vaccine) หรือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น เป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่ผู้หญิงที่ยังไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ใด ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือยังไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยองค์การอาหารและยาของอเมริกาได้แนะนำให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ปีก็ได้ เนื่องจากเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่ และสำหรับผู้ที่มีอายุ 13-26 ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน

สำหรับ ราคา วัคซีน HPV นั้นมีความแตกต่างกันไปในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งสามารถสอบถามค่าบริการได้จากแผนกสูตินารีเวชของโรงพยาบาลที่เราสะดวก เข้ารับการฉีดวัคซีน

โดยวัคซีน HPV นี้จะฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ให้ฉีดตามที่กำหนด

ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน

ครั้งที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ทุกชนิด โดยจะป้องกันในสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18 ได้เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งหมด สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70% และไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบแล้วก็ยังต้องมีความตระหนักในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน

ท้ายนี้ แพทย์ได้แนะนำว่า แม้ว่าจะมีการป้องกันการติดเชื้อ HPV หรือแม้จะได้รับวัคซีน HPV แล้วก็ตาม แต่สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ซึ่งมีเพศสัมพันธ์แล้ว ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หรือผู้หญิงมีอายุ 30 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม ควรจะเข้ารับการตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม


โรค HPV คือ ไวรัสตัวร้าย ที่ผู้หญิงควรรู้


tlcthai


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์