เงินเป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน
ตำราทุกเล่มบอกเราเช่นนั้น
แต่ในปัจจุบัน เงินเป็นมากกว่านั้น .............................................
เงินเป็นสื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยน
ตำราทุกเล่มบอกเราเช่นนั้น
แต่ในปัจจุบัน เงินเป็นมากกว่านั้น มันได้ยกระดับจน
กลายเป็นสินค้าที่คนทั้งโลกพากันซื้อขายเพื่อหากำไรจากส่วนต่าง
ทุกวันนี้ตลาดเงินตราระหว่างประเทศมีอิทธิพลอย่างมาก
ต่อเศรษฐกิจโลกและสามารถสร้างความวิบัติให้แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้
ดังประเทศไทยได้ประสบมาแล้ว
เงินถูกสถาปนาให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของสรรพสิ่ง
ตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ซุมชน องค์กร ไปจนถึงประเทศ
แม้แต่ความสำเร็จของรัฐบาลก็ดูกันที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ของประเทศยิ่งกว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมหรือ
ดัชนีวัดคุณภาพชีวิตของประชากร
ในระดับบุคคล เงินได้กลายเป็นเครื่องวัดคุณค่าชีวิตไปแล้ว
คนรวยจึงถือว่ามีคุณค่ามากกว่าคนจน
ใครที่มีเงินเดือนน้อยก็รู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่าด้อยกว่าเศรษฐี
เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินจึงกลายมาเป็นจุดหมายของชีวิตไปในที่สุด
ผลก็คือ ชีวิตของเราถูกเงินครอบงำและผลักดันในแทบทุกด้าน
ไม่เว้นแม้กระทั่งความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือทัศนะต่อตนเอง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในนามความเจริญก้าวหน้าของชีวิตและการพัฒนาประเทศ
.............................................
เมื่อเราตั้งคำถามกับอิทธิพลของเงินในชีวิตของเรา...
คำถามพื้นฐานก็คือ... เงินทำให้เรามีความสุขจริงหรือ...
การตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน ช่วยให้เราสมหวังกับชีวิตเพียงใด
และสิ่งที่เราสูญเสียไปกับการทำมาหาเงินนั้น
คุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้มาหรือไม่
เมื่อเราบวกลบคูณหารด้วยตัวเองแล้ว
เมื่อเราพบว่า สิ่งที่เราได้มานั้นน้อยกว่าที่คิด
และสิ่งที่เราเสียไปนั้นมากเกินกว่าที่นึกเสียอีก
ที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เราเสียไปนั้น เราเอาคืนมาไม่ได้
แม้จะมีเงินมากมายเพียงใด
เพราะสิ่งที่เสียไปนั้น คือเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในโลกนี้
หากเงินทำให้เรามีความสุข ผู้คนทุกวันนี้ย่อมมีความสุขกันถ้วนหน้า
เพราะมีเงินมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
.............................................
การสำรวจของศูนย์วิจัยทัศนคติแห่งชาติของมหาวิทยาลัยชิคาโกระบุว่า
นับแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ.2541
ชาวอเมริกันที่ยอมรับว่าตนมี "ความสุขมาก"
ได้ลดลงจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 30
ทั้งๆที่รายได้เฉลี่ยของประชาชนได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
รายงานดังกล่าวบอกเราว่า
แม้ผู้คนรวยขึ้นเป็น 2 เท่า แต่กลับเป็นสุขน้อยลง
...................................................
ผู้คนมีความสุขน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เพราะมีเวลาว่างน้อยลงที่จะแสวงหาความสุข
นับวันเราจะหมดเวลาไปกับการหาเงินมากขึ้นเรือยๆ จนไม่มีเวลา
แม้แต่จะใช้เงินที่ได้มาด้วยซ้ำ มิพักต้องพูดถึงการมีความสุขโดยไม่ต้องใช้เงิน
เช่น การนอน หรือ การสังสรรค์กับคนในครอบครัว
ซึ่งผู้คนสมัยนี้ให้เวลาน้อยลง ...
เพราะยิ่งมีเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกว่า เวลามีค่ามากเท่านั้น
ดั้งนั้นจึงต้องใช้เวลาให้ "คุ้มค่า" มากที่สุด
ซึ่งก็มักจะหมายถึงการมีผลตอบแทนเป็นตัวเงินเยอะๆ
ในขณะที่การพักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือกับคนในครอบครัว
ถือเป็นการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่า หรือ "ไม่สมเหตุสมผล"
ด้วยเหตุนี้ เราจึงตั้งหน้าตั้งตา "หาเงิน" กันไม่เลิกราเสียที...
------------------------------------------------------
โดย พระไพศาล วิสาโล. บทนำจากหนังสือ "เงินหรือชีวิต".
โดมิงเกซ, โจ. "จะเลือกเงินหรือชีวิต : เปลี่ยนทัศนคติต่อเงินสู่อิสรภาพของชีวิต".กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2546.