สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. อ้างอิงรายงานที่จัดทำโดยสถาบันโลก แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐ รวบรวมข้อมูลจากประชาชนใน 156 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี 2553-2555 แล้วนำมาจัดอันดับ "ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก" โดยใช้เกณฑ์พิจารณาทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ก่อนประมวลผลออกมาโดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ผลออกมาปรากฏว่า รายชื่อประเทศใน 10 อันดับแรกเป็นประเทศในยุโรปถึง 8 อันดับ และส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวียหรือยุโรปเหนือ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน แคนาดา ฟินแลนด์ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ และออสเตรเลีย
ขณะที่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐมีชื่ออยู่ในอันดับ 17 อังกฤษตามมาเป็นอันดับ 22 เยอรมนี อยู่ในอันดับ 26 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 43 รัสเซียตามมาที่อันดับ 68 และจีนอยู่ในอันดับที่ 93
ส่วนประเทศที่มีความสุข "น้อยที่สุด" เช่นอียิปต์ และพม่า ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตการเมืองภายใน รวมถึง อิตาลี กรีซ สเปน และโปรตุเกส ซึ่งเป็น 4 ประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซนที่ยังคงต้องต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจของตัวเอง
ทั้งนี้ การจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกของสถาบันโลก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดัชนี "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" ( จีเอ็นเอช ) พระราชดำริในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังซุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อปี 2515
เนื่องจากพระองค์ทรงเชื่อว่า ความสุขของราษฎรคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ แนวพระราชดำริของพระองค์ได้รับการยกย่องและมีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายประเทศทั้งอังกฤษ เยอรมนี และเกาหลีใต้