เตือน ประจำเดือนมาผิดปกติเสี่ยงมะเร็งโดยเฉพาะสตรีวัยทองมีอัตราเสี่ยงที่สุด เน้นให้ผู้ที่มีอาการสังเกตอย่างสม่ำเสมอ หากยังไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
รศ.นพ.อัมพัน เฉลิมโชคเจริญกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดสหสาขาวิชาผ่านกล้องไทย-เยอรมัน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า พบความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปกติและผิดปกติประจำเดือนของผู้หญิง คือ ปกติ จะต้องมาตรงกำหนดเดิมทุกเดือนและปริมาณเท่าเดิม หากมีความผิดปกติจากเดิม ถือว่าผิดปกติทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะคิดว่า หากมีประจำเดือนทุกเดือน แม้ว่าจะมาเล็กน้อยก็เป็นอาการปกติ ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะการมีประจำเดือนมาแบบกะปริดกะปรอยแบบนี้ อาจทำให้เกิดโรคอั้นประจำเดือนได้เช่นกัน คือ เมื่อประจำเดือนมาก็จะมาเป็นจำนวนมาก
รศ.นพ.อัมพันกล่าวอีกว่า หากประจำเดือนมาเป็นปกติทุกเดือนแล้วมี 1เดือนที่มาผิดปกติ ก็ให้สังเกตไปก่อน 1-2เดือนว่ายังมาผิดปกติหรือไม่ หากมาเป็นปกติเช่นเดิมก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์
แต่หากยังมาแบบผิดปกติอีกก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย อย่างกรณีมีประจำเดือนมามากผิดปกติถือว่าอันตราย เพราะอาจเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีติ่งเนื้อ หรืออาจถึงขั้นเป็นมะเร็ง ซึ่งจะต้องขูดมดลูกหรือดูดเซลล์ เพื่อตรวจดูการกลายพันธุ์ของเซลล์ว่าจะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือไม่ เป็นต้น
"ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อประจำเดือนมาผิดปกติมักไม่ค่อยมาตรวจ กลัวเจอสิ่งผิดปกติ"
"สำหรับผู้ป่วยด้านนรีเวชฯของ ร.พ.ศิริราช พบว่า เป็นเคสประจำเดือนผิดปกติประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด อย่างโรคอั้นประจำเดือนส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดจากฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งจะพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น รักษาโดยการให้ยาปรับฮอร์โมน ส่วนกลุ่มใกล้วัยทองอาจมีความเสี่ยงที่เกิดจากมะเร็งเป็นสาเหตุมากกว่า การตรวจขูดมดลูกหรือดูดเซลล์ไปตรวจพบว่า ร้อยละ 10เกิดจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก" รศ.นพ.อัมพันกล่าว