มายาคติ ทางเพศ ระหว่าง...เขา และ เธอ


มายาคติ ทางเพศ ระหว่าง...เขา และ เธอ

มีผลการสำรวจชี้ว่า ความรุนแรงของผู้ชายต่อสตรี เป็นปัญหารุนแรงและกว้างขวางกว่าที่หลายคนคิด

รายงานชิ้นแรกประกาศในเดือนมิถุนายน 2556 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำรวจพบว่า 37.7% ของผู้หญิงทั้งหมดที่มีคู่ทั้งในและนอกสมรสในบังกลาเทศ ติมอร์เลสเต อินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา และ "ไทย" ถูกกระทำความรุนแรงโดยผู้ชาย

อีกหนึ่งผลสำรวจเพิ่งออกมาเมื่อกันยายน 2556 จากทาง Partners for Prevention ซึ่งเป็นหน่วยงานของยูเอ็น เพื่อสนับสนุนการยุติความรุนแรงต่อสตรี นำเสนอผลการสำรวจเกี่ยวกับความรุนแรงที่ชายกระทำต่อหญิงใน 6 ประเทศเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย ศรีลังกา และปาปัวนิวกินี โดยสุ่มสอบถามผู้ชายกว่า 10,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-49 ปี พบว่ามีผู้ชาย 1 ใน 10 ที่ยอมรับเคยบังคับ ขืนใจผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาหรือคนรักของตน

ผู้ชายร้อยละ 72-97 ยอมรับว่า กระทำความรุนแรงดังกล่าวโดยไม่ได้รับโทษใด ๆ ทางกฎหมาย และอีก 4% ของผู้ชายที่กระทำความรุนแรงเหล่านี้ ยอมรับว่าเคยข่มขืนหมู่สตรีและเด็ก

หากวัดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีอันมีบุรุษเป็นผู้ก่อการ โดยไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอะไรกับปัญหาเหล่านี้ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการมองว่า "เรื่องผัว-เมีย อย่าไปยุ่ง"

เช่นเดียวกันถ้าคุณมองเรื่อง "เพศสภาพ" เป็นเรื่อง "ส่วนตัว" เมื่อนั้น คือจุดจบของภารกิจแสวงหาความเท่าเทียมกันในสังคม

"ความเป็นหญิง/ความเป็นชาย" เรื่องที่หลายคนมองว่าเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติ เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเป็นเรื่องการเมือง ใช่หรือไม่ว่า "ความเป็น..." ถูกกระบวนการให้ความหมายและวางกรอบให้เป็นเช่นนั้น จากความเชื่อและขนบธรรมเนียมลากเส้นแบ่งระหว่าง "เขา" กับ "เธอ" ให้เหลื่อมล้ำ และ "เธอ" คือคนมาทีหลัง จำยอมต้องเดินตามหลัง "เขา" มาหลายร้อยปี 

"ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศมีอยู่ทุกแห่งในโลก" วาทกรรมนี้ถูกผลิตซ้ำอยู่ในประวัติศาสตร์ แฝงตัวอยู่ในวัฒนธรรม ขยายซ้ำโดยสื่อ เข้าไปอิงแอบอยู่ในวิธีคิดผู้คน และตีกรอบออกมาเป็น "บรรทัดฐาน" ผ่านกรอบแว่นของ "สังคมนิยมชายเป็นใหญ่" ทับถมตกตะกอนเป็น "อคติทางเพศ" ค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

นี่คือ "มายาคติ" ที่ถักทอรูปแบบความสัมพันธ์ที่เห็นจนเคยชินในทุกวันนี้ 

ด้วยเหตุนี้เอง เรายังคงต้องตั้งคำถามที่อาจฟังดูเชยในศตวรรษที่ 21 ที่ว่า "ความเสมอภาคทางเพศ กับกระบวนการยุติธรรม คืออะไร"

แม้ในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา ในทุกภูมิภาคทั่วโลกจะขยายขอบเขตให้ผู้หญิงมีสิทธิทางกฎหมายมากขึ้น แต่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นนั้น ไม่อาจนำมาซึ่งความยุติธรรมและความเสมอภาคเสมอไป

เหตุแห่งความสะดุดของความเสมอภาคคืออะไร "ดีไลฟ์" ตามไปหาคำตอบในงานประชุมว่าด้วยเรื่อง "ความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของกระบวนการยุติธรรม ในการส่งเสริมการเข้าถึงของสตรีเพศในกระบวนการยุติธรรม" จัดโดยองค์กร "ยูเอ็นวีแมน" (UN Women) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และ Foreign Affairs Trade and Development, ประเทศแคนาดา อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมรับฟังตัวแทนผู้พิพากษาระดับสูงจาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, เมียนมาร์, ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต ในการประชุมนานาชาติครั้งสำคัญนี้ 

ข้อถกเถียงส่วนใหญ่ในเวทีนี้ เรียกร้องการปฏิรูปกฎหมายให้ละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะ โดยยึดโยงเข้ากับหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ซีดอว์" (CEDAW) อนุสัญญาที่มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ หรือ "อนุสัญญาผู้หญิง" เป็นฉบับแรกและฉบับเดียวที่ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง 

ปัญหาที่ตัวแทนแต่ละประเทศสะท้อนออกมานั้นช่วยกะเทาะเปลือก "ความไม่รู้" เรื่องความเสมอภาคทางเพศและสิทธิสตรีให้กระจ่างขึ้น 

ชวนคิดถึง "ฐานคิดเรื่องเพศ" ของกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่สำคัญยังสะท้อนไปถึงกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย

"โรแบร์ต้า คลาร์ก" ผู้อำนวยการยูเอ็นวีแมน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ย้ำกับดีไลฟ์นอกเวทีการประชุมถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี ในฐานะเป็นผู้ตัดสินค่านิยมของสังคมเพื่อส่งสัญญาณออกไปในวงกว้างว่า "การกระทำใดไม่เป็นที่ยอมรับ" 

คลาร์ก ชี้ให้เห็นอุปสรรคใหญ่ของผู้หญิงในเอเชีย-แปซิฟิกต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของสตรีนั้น เกิดก่อนขึ้นศาลเสียอีก 

"อุปสรรคใหญ่อยู่ที่วัฒนธรรมและขนบสังคมที่ไม่ยอมรับความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย วัฒนธรรมของเอเชีย-แปซิฟิก บังคับให้คู่หญิงชายประนีประนอม เมื่อมีความรุนแรงระหว่างกันเกิดขึ้นแทนที่จะสู้กันในศาลให้เป็นคดีความ" 

ซ้ำร้ายในหลายวัฒนธรรมยอมรับความรุนแรงเกิดขึ้น โดยมองเห็นเรื่อง "ผิดปกติ" เป็นเรื่อง "ปกติ" เช่น สามีทุบตีภรรยาเป็นเรื่องปกติในครอบครัว 

"ยังมีความเชื่อในหมู่บุคลากรกระบวนการยุติธรรมว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาครอบครัว และเป็นเรื่องปกติ ทำให้ไม่จริงจังในการดำเนินคดีระหว่างคู่สมรสหรือคู่รัก เมื่อเทียบกับความรุนแรงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคนแปลกหน้า ความละเลยและเคยชินเช่นนี้เปิดทางความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น

สรุปความได้ว่า ในภูมิภาคเอเชียมี "วัฒนธรรมการไกล่เกลี่ย" ผนวกกับ "ภาพจำเหมารวม" (Stereotype) ในวิธีคิดของบุคลากรของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับหญิงและชาย ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเป็นชนวนเหตุให้ "ความยุติธรรมเสียสมดุล" 

จึงต้องฝากความหวังไว้เมื่อประตูประชาคมอาเซียนเปิดแล้ว คงได้ฤกษ์เรียกเสวนาโต๊ะกลมครั้งใหญ่ในหมู่สมาชิก 10 ประเทศ เพื่อหาทางวางไม้บรรทัดขีดกติกาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี และความเสมอภาคทางเพศกันในภูมิภาค 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของความยุติธรรมที่เสียสมดุลค่อยๆส่งสัญญาณดีขึ้น ตามความเห็นของคลาร์กมองว่า แม้ผู้หญิงในภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิกยังขาดการคุ้มครองทางกฎหมายที่ครบถ้วน แต่ก็ต้องชมประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีโทษทางอาญาต่อชายที่บังคับให้คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ หรือการข่มขืนในการสมรสเป็นอาชญากรรม

"กฎหมายนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า สตรีมีสิทธิแต่ผู้เดียวในร่างกายตนเอง ต่างจากความเชื่อในบางวัฒนธรรมว่า สตรีได้มอบสิทธิในร่างกายของตนให้กับสามีเมื่อแต่งงาน"

เรื่องนี้ทุกคนรวมถึงรัฐผู้มีภาระผูกพันหลัก ต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนของสตรีต่อไป

แม้หนทางเรียกร้องสิทธิสตรียังเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกกันต่อไป แต่ลองมาฟังคำตอบจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของไทยดูว่า พอจะมีหนทางสร้างบรรทัดฐานความเสมอภาคทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้หรือไม่ กับคำถามที่ว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากแค่ไหน ?

"สุนทรียา เหมือนพะวงศ์" ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครปฐม ผู้ที่คลุกคลีทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับการเพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่อง "ความเป็นธรรมทางเพศ" (Gender Justice) กับสำนักงานศาลยุติธรรม 

"ผู้ชายจำนวนมากในสังคมบอกว่า ผู้หญิงเรียกร้องสิทธิมากเกินไป จริง ๆ แล้วกลุ่มสตรีและคอนเซ็ปต์ดั้งเดิมของอนุสัญญาซีดอว์ไม่ได้บอกว่าสิทธิสตรีต้องมีสิทธิดีกว่าผู้ชาย ต่างจากสิทธิเด็กกับผู้ใหญ่ที่เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า เด็กต้องมีสิทธิดีกว่าผู้ใหญ่ แต่การตีความคำว่า "เสมอภาค" ระหว่างเพศ นี่แหละความยากที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจ แต่ละวัฒนธรรมก็มองต่างกัน และคนในกระบวนการยุติธรรมก็ตีความต่างกัน"

ผู้พิพากษาสุนทรียาบอกปัญหาใหญ่ที่อยากพูดในวันนี้ "ไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมาย แต่เป็นเรื่องการแก้ความรู้ความเข้าใจ และทัศนคติที่เป็นลบเกี่ยวกับสตรีต่างหาก ความไม่เข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศย่อมนำไปสู่ความอคติ (Bias) หรือการตัดสินใจแบบผิด ๆ แต่ส่วนใหญ่คนเรากลับไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังมีอคติ"

ยกตัวอย่างคดีความคสาสสิกที่เป็นปัญหาดีเบตในหลายประเทศ คือ "คดีข่มขืน" ในบางกรณี เช่น เพราะแต่งตัวโป๊ถึงถูกข่มขืน นั่นเป็นผู้หญิงทำผิดเสียเอง เป็นมุมของผู้ชายมองผู้หญิงเป็นคนทำให้เกิดเหตุ 

แต่สิทธิของคนทั่วไปต้องไม่ถูกละเมิดไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ว่าจะนุ่งกระโปรงสั้นแต่งโป๊ก็ไม่มีสิทธิ์ถูกข่มขืน 

ขณะเดียวกันอุปสรรคก็ติดอยู่กำแพงในใจของตัวผู้หญิงเอง เพราะจะมีผู้หญิงที่โดนข่มขืนสักกี่คนที่กล้าไปแจ้งความกับตำรวจ

"ในมุมของผู้หญิงก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติเหมือนกัน เราต้องรู้ว่านี่คือสิทธิของเรา และใช้สิทธินั้นให้มากที่สุด อย่างน้อยถ้าคุณสามารถหยุดได้คดีหนึ่ง จะช่วยคนอีกจำนวนมากไม่ถูกกระทำอย่างคุณ"

ดังที่นักสตรีนิยมชอบกล่าวไว้ว่า "Personal is Political" มีนัยถึงเรื่องเพศสภาพไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

อีกหนึ่งฐานคิดที่พบบ่อยในการตัดสินคดีความในเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ผู้พิพากษาสุนทรียาเห็นด้วยกับ ผอ.คลาร์ก 

"ผัวตบเมียเป็นเรื่องธรรมดา คนอื่นอย่าเข้ามายุ่ง ถ้ายิ่งยุ่งมาก เขาจะยิ่งไม่ดีกัน ปล่อยพวกเขาไปเถอะ เดี๋ยวเขาก็ดีกันเอง หลายกรณีตำรวจจะพยายามไกล่เกลี่ยคดี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็นอยู่ที่การต่อรองทางอำนาจระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนคนกลางที่ไกล่เกลี่ยเป็นกลางทางเพศหรือยัง ไม่ใช่แค่เคลียร์ให้จบ ๆ กันไป แต่เข้าใจไหมว่า ผู้หญิงต้องการอะไร ความเป็นธรรมที่ควรได้รับเป็นเช่นไร ถึงตรงนี้เป็นปัญหาทางกฎหมาย หรือทัศนคติมีปัญหากันแน่"

มายาคติเช่นนี้ครอบอยู่ในศีรษะของคนในสังคมเผลอคิดเป็นเรื่องธรรมดา 

เช่นเดียวกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและคนในสังคมที่มองเรื่องเพศสภาพอย่างเข้าใจยังมีน้อย ดังนั้นการพัฒนาเป็นกฎหมายและนำไปใช้จริงจึงมีน้อยไปด้วย

แต่ถ้าเช็กเรตติ้งบทบาทผู้หญิงในภูมิภาคอาเซียน ผู้พิพากษาผู้นี้ก็มองเช่นเดียวกับ ผอ.คาร์ก 

"ถือว่าสตรีไทยเป็นประเทศนำในอาเซียนได้เลย ทั้งบทบาทนักธุรกิจหญิง ข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงมีนายกฯเป็นผู้หญิง หรือแม้แต่ในศาลก็มีจำนวนสตรีเข้าไปมากขึ้น วันนี้เห็นผลที่งอกเงยแล้วในเชิงปริมาณภาพรวมถือว่าดี แต่เชิงคุณภาพไม่แน่ใจ" 

แต่สิ่งสำคัญที่ยังขาดคือ "แว่นตาเลนส์พิเศษ" ไว้มองเรื่องเพศสภาพโดยเฉพาะ (Gender Lens) สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรต้องมองเห็นอะไรที่เป็นพิเศษละเอียดอ่อนกว่า เพื่อการสร้างความยุติธรรมระหว่างเพศ ผู้พิพากษาสุนทรียาทิ้งท้าย 

งานยากกว่าคือต้องสวม "เจนเดอร์เลนส์" ให้สังคมไทยก่อน


ที่มา :: prachachatlife


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์