หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายเริ่มแปรปรวนของสาววัยทอง หลายคนคงเห็นภาพจนชิน และคิดว่าภาวะแบบนี้ผู้ชายจะไม่มี แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม เมื่อเข้าสู่วัยทอง ร่างกาย และอารมณ์ก็จะมีปฏิกิริยาคล้าย ๆ กัน ซึ่งบุรุษเพศทั้งหลายนี่แหละ บางทีอารมณ์อาจจะขึ้น ๆ ลง ๆ ยิ่งกว่าผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ
นายแพทย์อรรถสิทธิ์ อมรถนอมโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.เวชธานี อธิบายว่า ภาวะวัยทองในผู้ชาย เป็นผลจากการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของอัณฑะที่ลดน้อยลง ส่งผลไปยังการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งรายละเอียดของการเกิดวัยทองในผู้ชายนั้น อธิบายได้ว่า
“สำหรับวัยทองในผู้ชายจะเกิดช้ากว่าในผู้หญิง แต่ปัจจุบันเราพบว่าด้วยภาวะเร่งรีบจากการการทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ คือปัจจัยที่เร่งทำให้ผู้ชายเกิดภาวะวัยทองมากขึ้น จากเดิมที่เคยพบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันอายุเพียง 30 ปลาย ๆ บางท่านก็อาจจะเริ่มมีอาการวัยทองได้”
อาการของผู้ชายในวัยทองนั้น จะมีอยู่ 3 กลุ่มอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ กลุ่มอาการทางด้านเพศ เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่ ความต้องการทางเพศลดลงและอื่น ๆ , กลุ่มที่สองอาการทางด้านร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เล็กลง อ้วนลงพุงมากขึ้น กระดูกบางจนถึงพรุน พละกำลังและความแข็งแรงลดน้อยลงไป อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ไขมันในเลือดสูงขึ้น และกลุ่มที่สามคืออาการทางด้านอารมณ์ เช่น ท้อแท้กับชีวิต ซึมเศร้า หดหู่ หรือแม้แต่คิดทำร้ายตัวเอง
การแสดงออกของร่างกาย และอารมณ์เป็นเพียงการสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจกำลังเข้าสู่วัยทอง ซึ่งถ้าอยากให้แน่ใจว่าเป็นหรือไม่ ก็ต้องได้รับการตรวจวัดดูระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งจะมีการตรวจทั้งในรูปแบบปริมาณฮอร์โมนทั้งหมด ( total form ), ฮอร์โมนตัวอิสระที่ออกฤทธิ์ ( free form ) และฮอร์โมนที่พร้อมใช้งาน ( bio available form) ซึ่งการตรวจทั้ง3แบบ จะช่วยวัดผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากบางครั้งแม้ว่าเราจะมีระดับฮอร์โมนทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ผลฮอร์โมนอิสระหรือฮอร์โมนที่พร้อมใช้งานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็เข้าข่ายภาวะวัยทองได้
นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างอื่นประกอบด้วย เพื่อช่วยประเมินว่าภาวะวัยทองได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนทำให้เกิดโรคแล้วหรือยัง เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ตรวจน้ำตาล และไขมันในเลือด ตรวจดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจมวลกระดูกและอื่น ๆ รวมทั้งตรวจดูระดับฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ชื่อว่า DHEAS หรือ dehydroepiandrosterone ด้วย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนตั้งต้นก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเราพบว่าบางครั้งภาวะเครียดจากการทำงาน และการพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลให้มีการผลิตฮอร์โมน DHEAS ลดลง ซึ่งทำให้ฮอร์โมนเพศชายผลิตน้อยเกินไปด้วยก็ได้
สำหรับผู้ที่เข้าข่ายว่ามีภาวะวัยทอง การดูแลรักษาหลักเพื่อช่วยลดภาวะดังกล่าวและช่วยเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเพศชายให้ดีขึ้นประกอบด้วยการรักษา ดังนี้
1. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะร่างกายเราจะผลิตฮอร์โมนด้วยการนำไขมันคลอเลสเตอรอลไปใช้ในการผลิต การเลือกรับประทานไขมันชนิดดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันที่มีสารโอเมก้า 3, 6 และ 9 จะช่วยส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี มีการผลิตฮอรโมนที่เหมาะสม
2. ถ้ามีปัญหาไขมันในเลือดสูงและจำเป็นต้องกินยาลดไขมัน ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะบางครั้งพบว่าการกินยาลดไขมันนานเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดคลอเลสเตอรอล ซึ่งส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเพศยิ่งลดน้อยลงไปอีก และจะซ้ำเติมให้อาการวัยทองเป็นมากขึ้น
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ดี อีกทั้งยังช่วยเสริมกล้ามเนื้อซึ่งเป็นตัวหลักที่ใช้ในการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน
4. การรับประทานวิตามินหรือแร่ธาตุเสริม เพื่อช่วยให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น เช่น แร่ธาตุสังกะสี หรือสมุนไพร เช่น โสม ก็ช่วยเสริมเรื่องพละกำลังและเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือกระชายดำก็มีคุณสมบัติเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้
5. การใช้ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยลดอาการวัยทองในผู้ชายและปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากฮอร์โมนที่ลดลงได้ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาฮอร์โมนทดแทนที่ปลอดภัยและได้ผลดี เป็นฮอร์โมนจากธรรมชาติและมีสูตรโครงสร้างทางเคมีเหมือนฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากร่างกาย ที่เราเรียกว่า bioidentical hormone ซึ่งงานวิจัยล่าสุดพบว่าการให้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยรักษาอาการวัยทองได้ดี และถ้าเป็นฮอร์โมนในรูปแบบ bioidentical จะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงและไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายจากมะเร็งต่อมลูกหมาก
สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพ คือ การป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เริ่มมีอาการหรืออาการแสดงที่สงสัยว่าอาจจะเป็นภาวะวัยทอง หรือมีการผลิตฮอร์โมนเพศลดลง อย่ารอช้าที่จะตรวจดูระดับฮอร์โมนและสุขภาพของท่านก่อนที่จะสายเกินแก้
นายแพทย์อรรถสิทธิ์ อมรถนอมโชค
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.เวชธานี