ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัน ฉัตรมงคลหมายถึงวันฉลองครบรอบปีการบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน แต่พิธีนี้ไม่ได้มีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยถึงกรุงศรีอยุธยา
หากแต่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ที่ประดิษฐ์สร้าง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 สมัยโบราณนั้นไม่มีธรรมเนียมวันฉัตรมงคล เพราะไม่จำเป็นต้องทำให้อาณาประชาราษฎร์และบรรดาพระราชวงศ์และขุนนางตระหนัก ถึงความสำคัญในการราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์
รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักว่าใน “อารยะประเทศ” นั้นเขาเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญแก่วันบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์
ด้านหนึ่งเพราะการขึ้นครองราชย์และอาณาจักรของตะวันตกเป็นสัญญาสังคมอย่าง หนึ่งระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระผู้เป็นเจ้าและราษฎร รัชกาลที่ 4 จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย พระบาทสมเด็จรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
พอมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5
ก็เกิดปัญหาการจัดงานพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้น ด้วยวันบรมราชาภิเษกนั้นตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้า ฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม โดยเฉพาะก็คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ความขัดแย้งนี้ด้วยการโปรดเกล้าฯให้สร้างตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูล ขึ้น กับให้มีการพระราชทานตรานี้ในวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษา ประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีวันฉัตรมงคล ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่เพียงแต่เฉลิมฉลองวันครบรอบการบรมราชาภิเษกเท่านั้น หากที่สำคัญยังเป็นการคลี่คลายและยุติความขัดแย้งทางการเมืองลงในระดับหนึ่ง ด้วยระหว่างผู้นำชั้นสูงในการเมืองสยาม
ปัจจุบันนี้พระราชพิธีพระบรม ราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก
ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหณ์เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูล เชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาทเมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธเป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรม ราชาภิเษก
เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม
เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชาภิเษก และตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ได้มีพระราชพิธีประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนั้นเสร็จพระราชดำเนินเพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกษัตริยาธิราช เจ้า ในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินให้ราษฎรได้มีโอกาสชมพระบารมี