แก่นบุญคือจิต
แก่นบุญคือจิต เราเข้าถึงจิต ปฏิบัติให้ถึงจิต อันนั้นแหละเป็นแก่นบุญ แก่นบาปก็อยู่ในนั้นด้วย ทั้งบุญและบาปอยู่ด้วยกันนั่นแหละ
เพราะอะไรจึงว่าแก่นบุญแก่นบาปอยู่ที่จิต เพราะจิตเป็นใหญ่กว่าโลกทั้งหมด จิตน่ะคุ้มครองตัวของเรา โลกจะมีขึ้นมาได้ก็เพราะจิต แต่ละจิตๆ นั้นเกิดขึ้นมาเป็นรูปร่างขึ้นมา ถ้าจิตไม่มีเสียแล้วโลก คนของเราไม่มี สัตว์ก็ไม่มี แต่มันยากที่จิตมีนะซี คนเราจึงค่อยมี สัตว์จึงค่อยมี
ที่วุ่นวายอยู่ในโลกนี้ก็เพราะ จิตไม่ได้สงบ อบรมจิตไม่ถึง มันจึงยุ่ง
ถ้าต่างคนต่างฝึกฝนอบรมจิตของตน ควบคุมจิตของตนได้แล้วมันจะมีเรื่องอะไรพระอริยเจ้าแต่ก่อนท่านอยู่ด้วยกันตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ องค์ก็ไม่มีทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน คนเราสมัยนี้อยู่ด้วยกัน ๒ คนขึ้นไปก็มีเรื่อง มากคนก็มากเรื่อง เพราะไม่มีใครควบคุมจิตของตนได้นะซี
วิธีการควบคุมจิตมีหลายอย่าง ที่เรียกว่า อบรมกรรมฐาน คือ อบรมจิตนั่นเอง พุทธศาสนาทั้งหมดที่อบรมล้วนแต่กรรมฐานทั้งนั้น ต่างแต่ว่าคณาจารย์ใดชำนิชำชาญทางไหนก็อบรมทางนั้น
ผลที่สุดก็คือควบคุมจิตของตนให้อยู่ในบังคับนั้นเองบางคนก็ ยุบหนอพองหนอ บางคนก็สัมมาอรหัง บางคนก็อานาปานสติ
ตามอุบายของตนที่ถนัด แต่เมื่อควบคุมถึงจิตแล้วคำบริกรรมนั้นหายหมด ยังเหลือแต่จิตอันเดียวที่เรียกว่า สมาธิหรือเอกจิต สมาธิ แปลว่าจิตเป็นหนึ่ง ถ้าหากจับตัวนี้ได้แล้วไม่ต้องไปวุ่นกับเรื่องคำบริกรรมอีก
คุมจิตให้เป็นหนึ่งลงไปเถอะหมดเรื่องกัน
เดี๋ยวนี้จับจิตไม่อยู่เราจึงต้องใช้คำบริกรรม เช่นพุทโธๆ ให้มันอยู่กับคำบริกรรมนั้น คำบริกรรมเป็นเครื่องล่อให้จิตมาอยู่ที่นั่น ให้จิตมันแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วคำบริกรรมนั้นก็จะลืมไปเอง ถึงไม่ลืมมันก็ให้ทิ้งได้
บางคนเข้าใจว่าลืมคำบริกรรมๆ หายไปแล้วตั้งต้นบริกรรมอีก อันนั้นใช้ไม่ได้ คำบริกรรมต้องการให้จิตรวมเข้าเป็นหนึ่งนั้นเอง เมื่อจิตรวมเป็นหนึ่งแล้วจะไปพัวพันอะไรกับคำบริกรรมนั้นอีก ถ้าไปบริกรรมอีก จิตมันก็ถอนละซี
: พุทธศาสนาสอนที่ใจ
: หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี