การดูลิ้น ในศาสตร์แพทย์จีน เพื่อวินิจฉัยโรค
การดูลิ้นมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์โบราณจีนเล่มแรก 《Huangdi Neijing》 เป็นการตรวจวินิจฉัยเพื่อวิเคราะห์สภาพร่างกายวิธีหนึ่ง โดยตามทฤษฎีคือ ลิ้นเป็นอวัยวะที่มีเส้นลมปราณของอวัยวะจำนวนมากเดินทางผ่าน ไม่ว่าจะเป็นเส้นลมปราณของหัวใจ ม้าม ไต และตับเป็นต้น ดังนั้นเมื่ออวัยวะนั้นๆมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะปรากฎความผิดปกติออกมาที่ลิ้น นอกจากนั้น ลิ้นยังเป็นอวัยวะที่มีเลือดหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเคลื่อนไหวของลิ้น สี และความแวววาวของลิ้นก็จะสะท้อนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นของระบบเลือดในร่างกาย รวมถึง "น้ำลาย" ถือเป็นสารน้ำที่มีความสัมพันธ์กับไตและม้ามอย่างใกล้ชิด หากอวัยวะทั้งสองนี้ รวมถึงอวัยวะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสารน้ำในร่างกายทำหน้าที่ผิดปกติ การสร้างและขนส่งสารน้ำต่างๆนั้นก็จะเกิดปัญหา และจะสะท้อนไปที่ความชุ่มชื้นของลิ้นและฝ้าบนลิ้น
ลิ้นที่ปกตินั้น ตัวลิ้นจะมีสีชมพูอ่อน ขนาดพอดี (ไม่เรียวเล็กหรือใหญ่เกินไป) ฝ้าบนลิ้นขาวบาง และมีความชุ่มชื้น มีความแวววาวเป็นธรรมชาติ ตัวลิ้นอ่อนนุ่ม และสามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ
1. ดูสีลิ้น สีของลิ้นมีความสัมพันธ์กับความร้อน ความเย็น สภาวะแกร่ง และสภาวะพร่องของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย และยังมีความสัมพันธ์กับเลือดอีกด้วย
ลิ้นซีด (ชมพูซีดไปจนถึงขาวซีด) มีสาเหตุจาก ลมปราณหยางพร่อง , เลือดและลมปราณพร่อง , เลือดและลมปราณพร่อง
ลิ้นแดง (ชมพูเข้มถึงแดงสด) สาเหตุจากมีความร้อนปริมาณมากอยู่ในกระแสเลือด
- ปลายลิ้นแดง : ความร้อนสะสมในหัวใจ
- ข้างลิ้นแดง : ความร้อนสะสมในตับและถุงน้ำดี
- กลางลิ้นแดง : ความร้อนสะสมในม้ามและกระเพาะอาหาร
- ร้อนแบบแกร่ง : ลิ้นแดง+ฝ้าบนลิ้นเหลืองหนา
- ร้อนแบบพร่อง : ลิ้นแดง+ฝ้าบนลิ้นน้อย หรือไม่พบฝ้าบนลิ้น
ลิ้นแดงเข้ม ตัวลิ้นมีสีแดงหรือแดงจัด สาเหตุคือ ความร้อนเข้าสู่ระดับอิ๋งเลือด อินพร่องจนเกิดไฟ
ลิ้นสีเขียวม่วง (สีเขียวอมม่วง) สาเหตุจากเลือดไหลเวียนได้ไม่คล่อง สาเหตุจาก ความเย็น, ความร้อน ,เลือดคั่ง, สารพิษในร่างกาย
2. ดูลักษณะฝ้าบนลิ้น
ความหนาบางของฝ้า
ฝ้าบาง : เกิดโรคในระยะเริ่มแรก , อาการของโรคเบา
ฝ้าหนา : อาหารไม่ย่อย ตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ , มีเสมหะคั่งค้างในร่างกาย
ความชุ่มชื้นของฝ้า
ฝ้าชุ่มชื้น มีน้ำลายมาก (แลบลิ้นออกมาพบน้ำลายหยด) : มีความเย็นหรือความชื้นสะสมอยู่ในร่างกาย
ฝ้าบนลิ้นแห้ง ใช้นิ้วแตะแล้วรู้สึกแห้ง : สารน้ำภายในร่างกายถูกทำลาย หากเป็นมากจะเห็นฝ้าบนลิ้นแห้งจนเห็นรอยแตก
ลักษณะฝ้า
หากฝ้าบนลิ้นหนา ลักษณะเป็นคราบ ขูดออกยาก : มีเสมหะ ความชื้น หรืออาหารคั่งค้างในร่างกาย
หากฝ้าบนลิ้นเป็นก้อนหยาบๆ ลักษณะเหมือนเต้าหู้ : ลมปราณกระเพาะอาหารลดลงมาก หรือมีความชื้นสะสมในปริมาณมาก
หากฝ้าบนลิ้นลอกออกทั้งหมด หรือลอกออกเป็นบางส่วน : ลมปราณกระเพาะอาหารพร่อง อินกระเพาะอาหารพร่อง มีความชื้นสะสม หรือ ลมปราณและเลือดพร่อง
สีของฝ้า
- ฝ้าขาว พบได้บ่อยสุด
ฝ้าขาว + ชุ่มชื้น : ปกติ, โรคในระยะแรก, อาการของโรคไม่หนัก, หยางพร่องจนเกิดความเย็น
ฝ้าขาว + ชุ่มชื้นมาก : ได้รับความเย็น ความชื้น หยางพร่อง สารน้ำคั่งค้าง
ฝ้าขาว+ แห้ง : โรคกระทบภายนอกทำลายสารน้ำ
ฝ้าขาวหนา เป็นคราบ : ความชื้นคั่งค้าง อาหารไม่ย่อย
- ฝ้าเหลือง แสดงว่ามีความร้อนภายในร่างกาย
ฝ้าเหลือง เหมือนคราบน้ำมัน : ความร้อนชื้นสะสม
ฝ้าเหลืองบาง : ลมร้อนกระทบร่างกาย
ฝ้าเหลือง ชุ่มชื้น : หยางพร่อง , เสมหะสะสมเป็นระยะเวลานานเกิดเป็นความร้อน
ฝ้าเหลืองหยาบ ขรุขระ : ความร้อนทำลายสารน้ำ
·ภาพ: http://blog.sina.com.cn/s/blog_55b3caab01013fb9.html http://www.oknation.net/blog/tcmthai/2015/04/29/entry-1