ชาวมุสลิมโรฮิงยาต้องตกเป็นเหยื่อของระบบรัฐสมัยใหม่ที่ผลักดันให้พวกเขากลายเป็นคนชายขอบเพียงเพราะเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่าง ทั้งนี้แม้จะมีชาวมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานในรัฐยะไข่ของเมียนมามาหลายร้อยปี แต่คลื่นผู้อพยพชาวมุสลิมจำนวนมากย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้หลังอังกฤษเข้ามายึดครอง ซึ่งหวังใช้คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานในภาคเกษตร
แต่เมื่ออังกฤษถอนตัวไปจากเมียนมา ชาวโรฮิงยาต้องกลายเป็นคนไร้รัฐเมื่อรัฐบาลทหารไม่ยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เป็นพลเมืองของตน ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติที่บังคับใช้ในปี 1982 นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และกดขี่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ จนกลายไปเป็นความขัดแย้งทางศาสนาจากการปลุกระดมของชาวพุทธหัวรุนแรง
เหตุจลาจลเมื่อปี 2012 ในรัฐยะไข่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยรายและยังทำให้ชาวโรฮิงยานับแสนต้องไร้ถิ่นที่อยู่ และการกดดันอย่างต่อเนื่องต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนหนีออกจากถิ่นฐานของตนและกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
กล่าวได้ว่าปัญหาอันเป็นต้นเหตุของคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงยามาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา
ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขได้ง่ายๆ เมื่อทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน หลายประเทศในภูมิภาคจึงไม่กล้าที่จะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้อย่างเต็มปาก
แต่การที่คนไทยหลายคนเพิกเฉยต่อปัญหาเรือผู้อพยพที่ลอยลำอยู่กลางทะเลนานนับสัปดาห์
หรือการแสดงออกให้เห็นว่าต้องการผลักไสคนกลุ่มนี้ให้พ้นไปจากน่านน้ำไทยเป็นสิ่งที่น่าตกใจไม่น้อย เมื่อเทียบกับปฏิกริยาของคนไทยเมื่อครั้งเกิดวิกฤตินิวเคลียร์ในฟุกุชิมะหรือแผ่นดินไหวในเนปาล ที่หลายคนพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ ดารานักแสดงจำนวนมากร่วมทำกิจกรรมเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างแข็งขัน แต่กับชาวโรฮิงยาที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ตรงหน้ากลับแทบไม่มีใครให้ความสำคัญ
กลับกันหากเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่นหรือฝรั่งผิวขาวที่ตกยากในเมืองไทย คนจำนวนมากกลับกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือ การเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาสำหรับบางคนจึงเป็นเรื่องของอคติทางเชื้อชาติ ขณะที่บางรายอ้างว่าการช่วยเหลือคนไร้รัฐต่างจากการช่วยเหลือฝรั่งตกยากเป็นครั้งคราว เพราะฝรั่งพวกนี้มีประเทศที่จะรอรับการผลักไสได้เมื่อถึงเวลา แต่กับคนไร้รัฐไทยอาจต้องรับภาระไปตลอด แสดงให้เห็นถึงความใจบุญแบบไทยๆ ที่พร้อมจะให้ เพื่อสร้างบุญเป็นครั้งคราวเท่านั้น มิได้หวังที่จะช่วยผู้ตกทุกข์ให้พ้นจากปัญหาได้ตลอดรอดฝั่ง ทั้งๆ ที่ปัญหาที่คนไร้รัฐต้องเผชิญเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่า และต้องการความช่วยเหลือยิ่งกว่า
นอกจากนี้ บางคนยังกล่าวหาผู้อพยพกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายในภาคใต้
ซึ่งเหตุผลที่คิดเช่นนี้ได้ไม่พ้นปัญหาอคติทางด้านศาสนาที่ไปเหมารวมชาวมุสลิมว่าเป็นพวกหัวรุนแรงไปเสียหมด ทั้งๆ ที่การก่อการร้ายในภาคใต้ของไทยเป็นปัญหาคนละเรื่องกับกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่างไอเอสที่ต้องการสร้างรัฐอิสลาม ขณะที่รากเหง้าปัญหาในภาคใต้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมมากกว่าเรื่องศาสนา การอ้างว่าชาวโรฮิงยาเป็นมุสลิมจึงต้องการมาช่วยชาวมุสลิมในภาคใต้สู้รบเพื่อสร้างรัฐอิสลามจึงเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก
แน่นอนว่าปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาใหญ่ที่ไทยประเทศเดียวไม่อาจรับภาระได้ หลายประเทศในภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน
การทิ้งคนให้ตายกลางทะเลทั้งที่ตัวเองมีศักยภาพที่ช่วยได้ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไทยเลือกทำ อย่างน้อยการช่วยเหลือระยะสั้นบนเงื่อนไขด้านมนุษยธรรมให้คนเหล่านี้พ้นจากภยันตรายเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่นั่นไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้ไทยต้องรับภาระการเลี้ยงดูคนเหล่านี้ทั้งหมดตลอดไป การร่วมมือกับนานาชาติเพื่อช่วยกันรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งเพื่อขจัดปัญหาต้นทางในเมียนมา รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก ทั้งนี้จากข้ออ้างของนายกรัฐมนตรีของไทย
ทั้งๆ ที่เมื่อปีที่ผ่านมาไทยมีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียง 0.7 เปอร์เซนต์เท่านั้น และด้วยเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มเป็น 3.5-4 เปอร์เซนต์ ซึ่งมากกว่าเดิมถึงกว่า 5 เท่าจึงจำเป็นต้องมีแรงงานสำรองเพื่อรองรับกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไป ดังนั้นหากไทยจะต้องรับผู้ลี้ภัยบางส่วนเอาไว้ก็คงไม่กระทบกับปัญหาการว่างงานอย่างที่ใครพากันกังวล