เผยแพร่ผลการตรวจสอบและวิจัยปรากฏการณ์ "เดดโซน" หรือจุดที่มีออกซิเจนต่ำมากๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านวารสารวิชาการ "ไบโอจีโอไซนซ์" เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าจุดที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะมีระดับออกซิเจนในน้ำต่ำมาก ต่ำจนไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตใดๆ ใช้ชีวิตอยู่ได้แล้ว ยังสามารถทรงตัวอยู่นานนับเป็นเดือนๆ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศชายฝั่งได้หากเคลื่อนที่เข้าใกล้
ในรายงานที่เผยแพร่สู่สาธารณะดังกล่าวระบุว่า ทีมวิจัยค้นพบพื้นที่ "เดดโซน" ดังกล่าวในน่านน้ำเปิดเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก
อยู่ภายในพื้นที่น้ำวนขนาดใหญ่ที่ยาวราว 160 กิโลเมตร ที่อาจหมุนวนอยู่แบบนี้แต่ละครั้งนานหลายเดือน คุณลักษณะสำคัญของ "เดดโซน" ก็คือ พื้นน้ำบริเวณที่มีออกซิเจนเจือปนอยู่ต่ำมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้ที่สัตว์ต่างๆ จะรอดชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น หากสัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดผ่านเข้าไปในพื้นที่เดดโซนดังกล่าวก็ต้องเร่งหลบหนีออกไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ตายสถานเดียวเท่านั้น
ปรากฏการณ์ "เดดโซน" ที่เป็นที่รู้จักกันแต่เดิมนั้นมีให้พบเห็นกันบ่อยครั้งไม่น้อยบริเวณพื้นที่ชายฝั่งและมักเกิดเป็นฤดูกาล ตัวอย่างเช่น เขตเดดโซนที่ก่อตัวขึ้นในพื้นที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นหนึ่งในเดดโซนที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะเกิดขึ้นทุกๆ หน้าร้อน เกิดจากการที่แม่น้ำมิสซิสซิปปีพัดพาเอาสารอาหารจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เติบโตขยายตัวของสาหร่ายทะเลมากเป็นพิเศษในพื้นที่ดังกล่าวที่เรียกว่า "ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง" ที่สร้างของเสียจำนวนมหาศาลตามมา เมื่อจุลชีพอื่นๆ เข้าไปย่อยสลายของเสียดังกล่าวก็จะดึงเอาออกซิเจนออกไปจากน้ำมากเป็นพิเศษเพื่อใช้ในกระบวนการย่อยสลาย ส่งผลให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำในบริเวณดังกล่าว
แต่ปรากฏการณ์เดดโซนที่พบใหม่นี้เกิดขึ้นจากกระบวนการที่แตกต่างกันออกไป โยฮันเนส คาร์สเตนเซน
ผู้เขียนรายงานระบุว่า สาเหตุหลักของการขาดออกซิเจนในพื้นที่เดดโซนใจกลางมหาสมุทรนั้น เกิดจากการที่ภาวะน้ำที่หมุนวนได้สร้าง "กำแพงน้ำ" ขึ้นบริเวณใจกลางที่กักน้ำในบริเวณนั้นเอาไว้ น้ำที่ถูกกักจะสูญเสียออกซิเจนไปอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากภาวะหมุนวนของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับผืนน้ำโดยรอบน้ำวนดังกล่าวได้ ออกซิเจนจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว
คาร์สเตนเซนตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ภาวะน้ำวนดังกล่าวนั้นไม่ได้ลึกมากมายนัก น้ำจะวนอยู่เพียงแค่ระดับ 20-30 เมตร ในเวลาเดียวกันพื้นผิวด้านบนสุดของน้ำวนก็พัดพาเอาสารอาหารไปสะสมไว้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งย่อยๆ ขึ้นตามมา ยิ่งทำให้การสูญเสียออกซิเจนในบริเวณดังกล่าวรวดเร็วขึ้นไปอีก
ทีมวิจัยตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในพื้นที่เดดโซนหลายจุดที่ค้นพบ พบว่าค่าออกซิเจนในน้ำต่ำจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีออกซิเจนเลย สัดส่วนสูงสุดที่พบนั้น มีออกซิเจนเจือปนอยู่เพียง 0.3 มิลลิลิตรต่อน้ำทะเล 1 ลิตร ในขณะที่สัดส่วนของน้ำทะเลทั่วไปนั้น ค่าของออกซิเจนต่ำสุดที่เจือปนอยู่ในน้ำทะเลจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือวัดได้ 1 มิลลิลิตรต่อน้ำทะเล 1 ลิตร
คาร์สเตนเซนระบุว่า "เดดโซน" ใหม่ที่ค้นพบนี้เคลื่อนที่ได้ ทำให้มันมีโอกาสเคลื่อนที่เข้าไปส่งผลกระทบต่อประชาชนของหมู่เกาะเคปเวอร์เดได้ ด้วยการทำให้น้ำทะเลใกล้ชายฝั่งมีออกซิเจนต่ำมาก ทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้นไปทั้งหมดนั่นเอง