จากกระทู้ร้อนในพันทิปที่ว่า
"เรามีเงินเก็บ 50,000 เหมาะสมรึยังกับการลาออกจากงานมาทำชีวิตแบบ slow life"
ได้ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และไม่นานจากนั้นได้มีผู้นำข้อความที่ โน้ส อุดม เคยให้สัมภาษณ์ไว้บนเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาตอบโต้
แม้ว่าทั้งสองเรื่องจะเกิดขึ้นคนละเวลา ต่างกรรม ต่างวาระกัน แต่แรงดันจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็เด้งไปโดนสื่อสารมวลชนและดึงเรื่องนี้มาเป็นคู่ชนจนเป็นวาระทางสังคมสำเร็จจนได้เหมือนกับที่สื่อเคยผ่าตัดฮิปสเตอร์มาก่อน
และแน่นอนอย่างที่ โซเฟีย ลอเรน ดาราค้างฟ้าชาวอิตาลีว่าไว้ "ถ้าเราผ่าตัดอะไร เราย่อมฆ่าสิ่งนั้น"
ฮิปสเตอร์วันนี้ได้ตายไปจากความเก๋ไม่มากก็น้อยด้วยแรงให้คำนิยามและความพยายามจัดประเภทซึ่งถาโถมหนักในช่วงที่ผ่านมา
เพื่อไม่อยากให้สโลว์ไลฟ์ตายไปด้วยผู้เขียนจึงไม่ขอให้นิยาม แต่ขอชวนให้กวาดตามองไปยังแผงหนังสือแนวสโลว์ไลฟ์ในบ้านเรา
เมื่อกวาดตามองนิตยสารที่สะท้อนความสโลว์ไลฟ์ได้ดีที่สุดในประเทศไทยน่าจะเป็นนิตยสารแจกฟรีภาคพิเศษของA Day Bulletin อย่าง Life อีกนิตยสารที่มีสไตล์ใกล้กันคือ Human Ride นิตยสารเกี่ยวกับจักรยานที่มีภาพสวยงาม เกิดทัศนคติเชิงบวกเมื่อได้ชม
ส่วนในออสเตรเลียก็พบนิตยสารเฉพาะกลุ่มที่มีจุดขายอยู่ที่ความเนิบช้าและความประณีตในการใช้ชีวิตเช่นกันชื่อว่าPeppermint ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกสวมเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติและคำนึงถึงแหล่งผลิตจากแรงงานที่เป็นธรรมรวมทั้งความสวยงามและแฟชั่นการทำของประดิษฐ์เก๋ๆ DIY เพื่อลดโลกร้อน ฯลฯ
และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ Kinfolk ตัวพ่อ (คนก่อตั้งเป็นเด็กหนุ่มอายุ 27 ปีตอนเริ่มทำนิตยสาร) ในเรื่องสโลว์ไลฟ์
เรื่องราวของไลฟ์สไตล์ธรรมดาแต่เปี่ยมสุนทรีย์เหล่านี้กลายเป็นเนื้อหาที่ขายได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเบียดเนื้อหาเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรูหราคนเอื้อมไม่ถึงที่มักพิมพ์บนกระดาษอาร์ตหน้าปกมันวาว
ทว่า นิตยสารแนว "สุนทรีย์ธรรมดา" นี้มักตีพิมพ์ลงกระดาษรีไซเคิลหรือกระดาษที่มีสัมผัสเป็นมิตรกับผู้อ่านมากกว่า (ส่วนนิตยสารที่ขายชาวบ้านอย่างคู่สร้างคู่สม หรือนิตยสารการเมืองหนักๆ อย่างมติชนสุดสัปดาห์ก็พิมพ์ลงกระดาษปรู๊ฟต่อไป)
ปรากฏการณ์การเกิดนิตยสารแนวนี้ขึ้นทั่วโลกและยังประสบความสำเร็จอีกด้วยรวมทั้งวลีว่า "ชีวิตช้าๆ" ได้กลายเป็นถ้อยคำติดปากผู้คนน่าจะประกอบด้วยหลายๆ ปัจจัย ทั้งอิทธิพลของชนชั้นกลางที่หานิยามและพื้นที่ให้กับรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของตนเองได้เป็นผลสำเร็จ การเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่นน่าจะมีผลต่อการสถาปนาพื้นที่นี้ ด้วยสภาพแวดล้อมในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่โลก "พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มีความมั่งคั่งที่สั่งสมมาจากช่วงยุคอุตสาหกรรมเบ่งบาน และทัศนคติใหม่ของเจเนอเรชั่นรุ่นต่อมาเติบโตมากับองค์ความรู้และทางเลือกมากมายในยุคเทคโนโลยีและดิจิตอล" (1)
องค์ประกอบเหล่านี้น่าจะส่งผลให้หนุ่มสาวที่เติบโตขึ้นมาในช่วงนี้มีทางเลือกที่แสวงหาอัตลักษณ์ของตนเองได้กว้างขึ้นการเลียนแบบรสนิยมของชนชั้นสูง อ่านสูตรอาหารที่ใช้เวลาทำทั้งวัน หรือดูเสื้อผ้าโอร์กูตูร์ที่ไม่มีวันได้ใส่จากนิตยสารกระแสหลักไม่ใช่ทางเลือกในการใช้ชีวิตเพียงทางเดียวอีกต่อไป
นิตยสารในกลุ่มniche และ subculture มากมายจึงเติบโตมาได้หลายหัว หากหาคนอ่านของตนเองพบ เพราะผู้คนไม่ได้อยู่ในยุคที่คนเราจะอุทานว่า "มีอย่างนี้ด้วยเหรอ!" บ่อยๆ อีกต่อไป
แต่เป็นยุคข้อมูลข่าวสารที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่น่าแปลกใจอีกแล้ว
อย่างไรก็ตามการอยู่ในสภาวะที่มีทางเลือกมากมายให้นิยามตัวตน และอยู่ท่ามกลางวาทกรรมที่ยังไม่สิ้นสุดหลายต่อหลายชุด และคำถามที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบหลายคำถามเช่นนี้ อาจจะทำให้ผู้ที่ถูกถาโถมด้วยข้อมูลพบปัญหาข้อมูลล้นเกินจนไม่รู้จะเลือกอะไรก็ได้ สจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) ผู้ทำให้ Cultural Studies แพร่หลายไปทั่วโลกกล่าวว่า
"คนในโลกยุคโลกาภิวัตน์แทบไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นใครหรือเป็นอะไร เนื่องจากโลก/สังคม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ทำให้คนต้องดิ้นรน ต่อสู้ ไขว่คว้า แสวงหา เพื่อสร้างหรือไม่ก็เพื่อตรึงเอกลักษณ์/ตัวตนของตัวเองไว้" (2)
คงจะไม่กล่าวเกินจริงไปนัก หากจะกล่าวว่าในยุคสมัยแห่งความสับสนนี้ แม้จะมีทางเลือกมาก แต่ก็หาที่ยึดเหนี่ยวได้น้อยเต็มที
นับจากวันที่โลกาภิวัตน์เริ่มต้นพร้อมๆ กับช่วงปลายของยุคสังคมมวลชน วันนี้สื่อแตกตัวออกไปหลาย platform จนยากที่ผู้คนจะมีความรู้สึกร่วมในเรื่องบางเรื่องได้ง่ายดายเท่าในอดีต
เด็กๆ น้อยรายที่จะมีพ่อแม่เป็นต้นแบบ เพราะแค่ลำพังต้องทำมาหากินและถูกรีดแรงไปด้วยงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็แทบไม่เหลือเวลาคุณภาพ (quality time)
และที่ซับซ้อนไปยิ่งกว่านั้นคือกระแสสังคมที่บอกกล่าวคนในยุคเราอย่างไม่ตรงไปตรงมาในหลายๆ เรื่อง และทำให้เราเข้าใจค่านิยมในชีวิตผิดเพี้ยนไปหลายๆ อย่าง
แค่ลำพังว่าเรายังบอกโลกว่าเรายังเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยอยู่แต่ขณะเดียวกันยอมได้ถ้ามีรัฐประหารหรือชื่นชมคนดีแต่ให้อภิสิทธิ์คนรวย แค่นี้ชีวิตก็สับสนแล้ว
หากจะพิจารณาว่าคนที่ไม่สับสนกับชีวิต เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร อาจลองเทียบตรรกะจากประโยคอันแหลมคมของ คาร์โล เปตรีนี (Carlo Petrini) ผู้ก่อตั้งองค์กร Slow Food ในอิตาลี
เปตรีนีคือผู้ทำภารกิจ "รักษามรดกตกทอดของรสชาติละเอียดอ่อนหลากหลายที่มนุษยชาติสร้างเอาไว้" (3) ด้วยการส่งเสริมระบบเกษตรที่เป็นธรรม ต่อต้านการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และเตือนสติผู้คนให้อิ่มเอมรื่นรมย์กับการใช้ชีวิต
เปรตินีเคยกล่าวไว้ว่า "ผู้รักอาหารแต่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเป็นพวกไร้เดียงสา ส่วนนักนิเวศวิทยาที่ไม่ใช้เวลาดื่มด่ำในรสชาติอาหารและวัฒนธรรมย่อมมีชีวิตที่แห้งแล้งและหมองเศร้า"(4)
ประโยคนี้สะท้อนว่าคนพูดไม่ประสบวิกฤตตัวตนพร่าเลือนเพราะสามารถยืนยันตัวตนด้วยกระบวนทัศน์ (paradigm) ทั้งหมดในการเลือกใช้ชีวิต มิใช่ยืนยันตัวตนด้วยการบริโภค
"ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนไปบนระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้มากที่สุด(Maximization) ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของ ดร.อี เอฟ ชูมาเคอร์ (Dr.E.F.Schumacher) ที่ปรากฏในหนังสือ Small is Beautiful : Economics as if People Mattered ด้วยข้อเสนอการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด (Minimization) เพื่อยืดอายุทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจควรจะมี "คน" เป็นศูนย์กลางมากกว่าเครื่องจักร และมีขนาดเล็กเพื่อให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในอนาคต" (5)(มนฑิณี ยงวิกุล : 2557)
แนวคิดของชูมาเคอร์เช่นนี้นับว่างดงาม ดีต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์
ขณะเดียวกันก็สวนกระแสโลกาภิวัตน์และการพัฒนาอย่างพลิกกระบวนทัศน์เช่นกัน
เพราะชวนให้คนเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของชีวิตประจำวันและโครงสร้างในการจัดการทรัพยากรกระทั่งความคิดจิตใจ เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ
แนวคิดเรื่องสโลว์ไลฟ์ รวมไปถึงนิตยสารแนวชีวิตดีๆ มีสุนทรีย์เหล่านี้ นับว่ามีจุดร่วมกับทัศนะของชูมาเคอร์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในจุดที่ "คน" ควรเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจมากกว่าเครื่องจักร การเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความเนิบช้า ความประณีต และส่งเสริมให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน ฯลฯ
เหล่านี้สะท้อนออกมาผ่านเนื้อหาและค่านิยมต่างๆ อย่างที่เจ้าของกระทู้ "เรามีเงินเก็บ 50,000ฯ" บอกไว้ว่าปรารถนาที่จะทำ แต่ในส่วนที่ยากไปกว่า เช่น การพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยมให้น้อยลง การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้นนั้นอาจกล่าวได้ว่านิตยสารดีๆ มีสุนทรียภาพหรือกระแสสโลว์ไลฟ์ในประเทศไทยยัง "จุดไม่ติด" เพราะไม่สามารถนำความจริงหรือแง่มุมด้านลบของการพัฒนาจากรัฐ ทุนนิยม และอุตสาหกรรมมาพูดได้ตรงไปตรงมานั่นเอง (ก็สปอนเซอร์นิตยสารแนวสโลว์ไลฟ์กับผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นทุนรายเดียวกันอยู่เลย)
สิ่งที่ขบวนการสโลว์ไลฟ์ไทยทำจึงหนักไปที่การเสริมแรงด้านบวกและแอบหวังลึกๆในใจว่าผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจ จะไปตามหาความจริงอันโหดร้ายที่เหลือกันเอง
แต่การแอบหวังลึกๆ ในใจก็เหมือนแอบรักใครแต่ไม่บอกรัก แล้วคาดหวังว่าวันหนึ่งจะไปติดเกาะ ฝนตกเจอกระท่อมร้าง สถานการณ์เอื้ออำนวยให้เปิดเผยความในใจซึ่งในชีวิตจริงนั้นไม่ค่อยเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ ผลคือสิ่งที่เห็นกันอยู่ ผู้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์...
การหามุมเล็กๆ สบายๆ เพื่อหลบเร้นความวุ่นวายและความกดดันจากกระแสสังคมที่บีบคั้น เวลาที่เร่งรีบ และทุนนิยมที่รัดล้อม กับการต้องการทำให้สภาพสังคมทุกอย่างที่ว่านี้เปลี่ยนแปลงไปโดยเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ด้วยการมีกระบวนทัศน์ต่างกันนิดหน่อยในจุดเริ่มต้นนี้ ย่อมพาผู้เดินทางเดินทางในเส้นทางที่ถ่างออกจากกันไกลขึ้นทุกที
หากวันใดผู้คนเห็นความเชื่อมโยงว่า"ชีวิตช้าๆ" นั้นจะเกิดได้จริงๆ อย่างยั่งยืน (ไม่ใช่แค่ก่อนเงิน 50,000 หมด) ต่อเมื่อเรามีระบบการจ้างแรงงานที่เป็นธรรมจนคนจนคนรวยมีเวลาคุณภาพได้เหมือนๆ กัน
ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกสัมปทานไปสูบซับผลประโยชน์จนเสื่อมโทรมแต่เหลือให้คนไปทำการเกษตร ทำประมง ท่องเที่ยวได้
มีสวัสดิการรัฐที่ดีที่ดูแลชีวิตเราให้มั่นคง ปลอดภัย สะดวกสบาย มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีทำให้เราใช้เวลาเดินทางน้อยลงและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่แพงนักเพื่อมีเวลาไปเสาะหาประสบการณ์ใหม่ๆ
รัฐไม่สนับสนุนการปลูกพืชGMO ซึ่งเอื้อให้บริษัทผลิตอาหารได้ลดต้นทุนแต่ได้อาหารคุณภาพต่ำ ฯลฯ
หากเราไม่ยอมรับต้นตอที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตต่ำได้ และเลือกที่จะใช้ตัวเองเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง เมื่อนั้น "ชีวิตช้าๆ" ก็คงจะเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานมาสโลว์ไลฟ์
ความคิดที่ว่าต้องหาเงินให้ได้มากๆ แล้วค่อยมาสโลว์ไลฟ์นั้นคือตรรกะที่ติดกับทุนนิยมและตัดรากของสโลว์ไลฟ์ที่แท้จริงไปแล้วในตัวมันเอง
เหมือนการตัดดอกไม้มาชื่นชมในแจกันได้สำเร็จแทนที่จะคอยรดน้ำบำรุงราก
และแทบรับประกันได้ว่าหลังวางแก้วกาแฟดริปแก้วที่หมดลงแก้วนั้นแล้วชีวิตจะยังFast and Furious เหมือนเดิม
หากจะถามผู้เขียนว่าใครกันที่ดูเป็นภาพแทนชีวิต "วัยรุ่น" ในแบบที่ โน้ส อุดม ว่าไว้ได้ดีที่สุด (เรียนจบใหม่ๆ แล้วใช้ของแพงๆ) ณ นาทีนี้ เห็นจะต้องขอให้ลองเปิดอินเตอร์เน็ตดูละคร หนึ่งในทรวง เพื่อดูคุณปุ้ม เวอร์ชั่น ญาญ่า อุรัสยา ละครก็สะท้อนสังคมเช่นกัน
หากพิจารณาจากเสื้อผ้าหน้าผมของคุณปุ้มและละครหลายเรื่องในปัจจุบันนี้จะพบความ"สวยสมบูรณ์แบบทุกขณะจิต" ไม่มีตอนไหนที่จะหลุดความหละหลวมไม่มีรสนิยมออกมาเลย
ค่านิยมในจอแก้วนี้ไม่ต่างจากในชีวิตจริง ปัจจุบันนี้ไม่ว่าไปที่ไหนการจะพบวัยรุ่นที่แต่งตัวดี แต่งตัวเป็น มีรสนิยม รู้จักดูแลตัวเอง ไม่ใช่เรื่องยากเลย ทุกคนเรียนรู้เรื่องรสนิยมได้อย่างรวดเร็ว
แต่สิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา และเรียนรู้-ปรับแต่งได้ยากยิ่งกว่าคือกระบวนทัศน์
เชิงอรรถ
1วิป วิญญรัตน์. (2557). Freedom for Everyone : อิ่มท้อง เปล่งเสียง อยู่ร่วมกัน เสรีภาพ และข้อจำกัด. คิด. ธันวาคม ปีที่ 6 ฉบับที่ 3, น.16.
2ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา : อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ : วิภาษา, 2543
3ภัควดี. (แปล). ไม่สงบจึงประเสริฐ (เขียนโดย Paul Hawken). กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา, 2554
4อ้างแล้วใน (3)
5มนฑิณี ยงวิกุล. (2557). Artisan Economy หวนคืนเศรษฐกิจคนตัวเล็ก. คิด. ปีที่ 5 ฉบับที่ 9, น.17.