พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย อนุกรรมการคุ้มครองประชาชนในเรื่องการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การโฆษณา ด้านเสริมความงาม แพทยสภา อนุกรรมการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และแก้ไขปัญหาด้านความงาม กล่าวว่า จากที่มีการเปิดเผยถึงผลกระทบว่าการฉีดสารเติมเต็มที่บริเวณจมูก ทำให้ตาบอด เมื่อปี 2557 ที่ประชุมแพทยสภา ได้เชิญ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มาให้ข้อมูล ซึ่งพบว่า อย. อนุญาตให้นำเข้าสารเติมเต็ม ไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่ร่างกายผลิตได้เองในข้อเข่า แต่พบว่าจากรายงานการใช้ทั่วโลกในบริเวณจมูก หว่างคิ้ว คาง สามารถทำให้เกิดตาบอด ผิวหนังตายเน่าเป็นสีดำต้องใช้เนื้อที่อื่นมาแปะ จึงมีข้อกำหนดในฉลากว่า ห้ามฉีดบริเวณ จมูก คาง หน้าผาก โดยอนุญาตให้ฉีดใบหน้าร่องแก้ม ในปริมาณไม่มากเท่านั้น
"แพทยสภาจึงออกข้อบังคับ 1 ห้ามแพทย์ ผู้ใด ฉีด สารเหลวที่ไม่สลายตัว ไม่จะเป็นสารใดก็ตาม 2 การฉีดสารแบบสลายตัว(ฟิลเลอร์) ที่ได้รับอนุญาต ต้องทำตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด ตามที่ อย.ระบุในฉลาก หากไม่กระทำตามจะถือว่า ไม่รักษามาตรฐานวิชาชีพ และผิดจริยธรรม ทั้งนี้ เมื่อปี 2557 ในการประชุมแพทย์ในภูมิภาคภาคพื้นเอเซีย ก็มีรายงานตรงกันว่า การฉีดสารเหลวเพื่อทำจมูกนั้น เกิดปัญหาตาบอดด้วยเช่นกัน" พล.ต.ท.อรรถพันธ์ กล่าว
พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปสารที่ฉีดเพื่อเสริมความงาม จะแบ่งเป็นสารเหลวชนิดไม่สลายตัว เช่น ซิลิโคนเหลว พาราฟิน และสลายตัว คือ ฟิลเลอร์ยี่ห้อต่างๆ และการผ่าตัดจมูกด้วยวิธีมาตรฐาน คือ การใส่ซิลิโคนแท่ง หรือ ใช้กระดูกอ่อนจากใบหู ซี่โครง หรือ ในจมูก ร่วมกับซิลิโคนแท่ง ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแพทย์แต่ละคน ซึ่งวิธีที่ผลกระทบน้อยและเป็นมาตรฐานที่ยอมรับคือ การผ่าตัด ทั้งนี้ สารฟิลเลอร์ มีลักษณะเหมือนนมข้นหวาน คือ เป็นสารหนืดๆ สีใส เมื่อฉีดเข้าไปจะเกิดโอกาสไหลไปตำแหน่งข้างๆ ที่ใต้ตา แก้ม จะไม่คงรูป เหมือนการใส่ซิลิโคน ซึ่งหลังจากฉีด 4-5 วัน จะเริ่มเกิดการอักเสบและกลายเป็นของแข็ง ซึ่งจากการผ่าตัดแก้ไข คนไข้ก็พบว่า สารที่บอกว่าสลายตัวได้ก็ไม่ได้สลายตัวจริงและยังค้างอยู่ทำให้เกิดผิวหนังนูนๆ จะตุงที่จมูก หว่างตา บางรายผิวจมูกขรุขระ บวมแดง ทะลุออกมาข้างนอก สุดท้ายต้องมาเอาออก จำนวนมาก
"การฉีดสารใดๆ ก็ตาม ประชาชนควรถามหมอ ว่าจะฉีดสารอะไร เพราะปัจจุบันมีของปลอมปะปน จึงควรขอดูฉลากยา กล่องยา ให้หมอผสมยาให้ดูต่อหน้า สอบถามว่า อย. อนุญาตให้ฉีดที่ตำแหน่งนั้นๆหรือไม่ ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่หากเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน" พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ กล่าว
ด้านนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบเคสการฉีดฟิลเลอร์จนทำให้ตาบอด แพทยสภา จึงได้มีการพิจารณาเพื่อให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอนฉีดฟิลเลอร์อย่างถูกวิธี โดยให้ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง หรือ รพ.ต่างๆ ไปจัดทำหลักสูตรมาเสนอ แล้วแพทยสภาก็จะพิจารณารับรองหลักสูตรให้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนสอนระยะสั้น 6 เดือน หรือ หลักสูตรระยะยาว 2 ปี แต่ยังไม่มีการทำเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบผู้ป่วยตาบอดเพิ่มถึง 2-3 รายนี้ ถือว่ามากเกินไป ถ้าเจอบ่อยขนาดนี้แพทยสภาอาจจะต้องมีการพิจารณาห้ามฉีดฟิลเลอร์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะบริเวณจมูก แต่ก็ยังต้องหารือร่วมกับราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องทางด้าน หู คอ จมูก ก่อน ต้องดูว่าใช้สารอะไรมาฉีด เป็นสารที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
ด้าน นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะจักษุแพทย์ ถือเป็นผู้ที่ต้องรักษาสุขภาพตา ซึ่งภาวะตาบอดจากการฉีดสารแปลกปลอมเพื่อความสวยงามในตำแหน่งดังกล่าวนั้นถือว่ามีอันตราย จากรายงานของทั่วโลก พบว่า ผู้ที่ตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์นั้น ตาบอดถาวรโดยไม่สามารถรักษาได้เกือบ 100% ซึ่งกรณีเส้นเลือดอุดตันนั้น ทางการแพทย์จะพบในกรณีเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณเส้นเลือดดวงตาได้ แต่จะสามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์หรือผ่าตัด แต่ฟิลเลอร์นั้น ถือเป็นสารหนืด ซึ่งไม่สามารถใช้เลเซอร์หรือผ่าตัดได้ ซึ่งมีความพยายามรักษาด้วยการฉีดสารละลายบางอย่าง แต่ก็ยังไม่พบว่ามีรายงานทางการแพทย์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับว่าสามารถแก้ไขได้
นพ.ไพศาล กล่าวว่า โครงสร้างใบหน้านั้น มีลักษณะของเส้นเลือดโยงใยเหมือนกิ่งก้านสาขา เส้นเลือดจะมีความเชื่อมโยงกันเกือบทั่งหมด และมีเส้นเลือดที่ไปที่ดวงตาทั้งทางตรงและทางอ้อม การฉีดฟิลเลอร์ที่ตำแหน่งใดก็ตามบนใบหน้าจึงถือว่ามีความเสี่ยงเพราะไม่มีทางทราบว่าตำแหน่งใดมีเส้นเลือดเชื่อมไปที่ดวงตา แต่จะมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อฉีดสารที่ตำแหน่งใกล้ดวงตา คือ ที่จมูกและหว่างคิ้ว ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบที่อาจได้รับ ซึ่งปัจจุบันผู้ฉีดสารนี้มีทั้งแพทย์ผิวหนัง แพทย์ธรรมดาที่หัดฉีด และผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งยิ่งเพิ่มความอันตรายมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจักษุฯ จะปรึกษากับแพทยสภาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อหารือในเรื่องข้อจำกัดการใช้สารต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคต
นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรห้ามฉีดฟิลเลอร์ แต่ควรทำให้ถูกมาตรฐานมากกว่า เพราะสารดังกล่าวมีหลักเกณฑ์การใช้อยู่แล้วว่าให้ฉีดตรงไหนได้บ้าง เช่น บริเวณจมูก หน้าผาก เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่จะทำก็ควรเลือกทำกับผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าเกิดปัญหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะรู้วิธีการแก้ไขอยู่ ในขณะที่ถ้าไปทำกับผู้ไม่มีความชำนาญ บางครั้งผู้ป่วยบอกว่าเจ็บระหว่างฉีด แต่ยังยืนยันว่าจะฉีดต่อ จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น