วุฒิภาวะนักเลงคีย์บอร์ดไทย จากปัญหาระดับชาติสู่ระดับโลก
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น.
ที่นายชาร์เรส บาเดน ผู้บริหารคนปัจจุบันขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา ได้เปิดโอกาสให้ชาวเน็ตทั่วโลกเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางเยือนดาวพลูโตของยานอวกาศ “นิว ฮอร์ไรซันส์” ผ่านการถ่ายทอดสด ช่อง นาซา ทีวี บนเว็บไซต์ยูทูบ ดอท คอม
ปรากฏว่า มีผู้ใช้งานยูทูบจากประเทศไทยจำนวนมาก ใช้ช่องทางนี้ เข้ามาพิมพ์ข้อความสื่อสารเป็นภาษาไทยด้วยคำพูดที่หยาบคาย และตอบโต้กันไปมาจนสร้างความรำคาญให้กับผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดจากทั่วโลกที่รอคอยจะสนทนากับผู้บริหารนาซากับความสำเร็จของวงการอวกาศครั้งนี้
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า ข้อความจำนวนมากที่คนไทยเข้าไปป่วนการสนทนา ได้ทำให้ข้อความของชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมการสนทนาหายไปจากหน้าจออย่างรวดเร็ว จนผู้บริหารนาซาถึงกับประหลาดใจและต้องตัดสินใจตัดสัญญาณถ่ายทอดสดไปเป็นภาพนิ่งแทน และตัดการสนทนาเร็วกว่ากำหนด จนทำให้มีชาวเน็ตหลายคนจากทั่วโลกออกมาประณามคนไทย พร้อมกับเรียกร้องให้นาซาบล็อกทุกไอพีที่มาจากประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ได้มีคนไทยอีกบางส่วนได้เข้าไปโพสต์ข้อความขอโทษชาวต่างชาติด้วยการติดแฮชแท็ก ขอโทษแทนคนไทย หรือ #SorryforThailand
รวมถึงโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า รู้สึกอับอายและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยนักท่องอินเทอร์เน็ตชาวไทยกลุ่มหนึ่งที่ชอบสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่สาธารณชนด้วยการแสดงความกล้าในทางที่ผิดๆ โดยเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถรู้ตัวตนของพวกเขาว่าเป็นใคร หรือที่เรียกกันว่า “นักเลงคีย์บอร์ด”
จริงๆ แล้ว คำว่า “นักเลงคีย์บอร์ด” ยังหมายรวมถึง นักท่องอินเทอร์เน็ตที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริง โดยอาศัยนามแฝงเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล หรือสถาบันใดๆ สถาบันหนึ่ง อย่างเสียๆ หายๆ และปราศจากข้อเท็จจริง โดยไม่เกรงกลัวความผิด เพราะมีความเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงได้
นักเลงคีย์บอร์ดในประเทศไทย เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับบริการเปิดให้เขียนข้อความถึงกันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
หรือที่เรียกกันว่า บริการประเภท Instant message ที่เป็นทั้งบริการสื่อสารระหว่างบุคคล (one to one) และจากบุคคลไปสู่กลุ่ม (one to many) รวมทั้งการให้บริการกระดานข่าว (web board) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถสื่อสารความคิดและประสบการณ์ของตนลงไป แล้วมีผู้ที่สนใจหรือมีประสบการณ์คล้ายๆ กันมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน
การให้บริการ web board ในประเทศไทยในยุคแรกๆ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตนสามารถมาโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้
ทำให้ผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตนเข้ามาโพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมาย หยาบคายหรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดศีลธรรม รวมทั้งมีการกล่าวหาหรือให้ร้ายบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือแม้แต่กระทั่งสถาบันทางสังคมหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
จนกระทั่งต่อมา เว็บไซต์ที่ให้บริการเว็บบอร์ดชื่อดัง เช่น pantip.com ต้องมีระบบลงทะเบียนสำหรับสมาชิกที่ต้องการเข้ามาตั้งกะทู้และแสดงความเห็นต่างๆ ในเว็บบอร์ดหรือ กระดานข่าวห้องต่างๆ ในเว็บไซต์นี้
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ก็ยังมีเว็บไซต์ที่ให้บริการกระดานข่าว รวมทั้งเว็บ Social Media ที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ Fcaebook ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนสมัครใช้บริการได้ ทำให้ทุกวันนี้ Facebook กลายเป็นแหล่งปล่อยข่าวลือของบรรดานักเลงคีย์บอร์ดที่ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอว่า อะไรควรโพสต์ อะไรไม่ควรโพสต์ แม้ว่า ล่าสุด ทาง Facebook จะเปิดโอกาสให้มีการแจ้งหรือรายงานว่า ผู้ใช้รายใด นำข้อมูลเท็จหรือหลอกลวงมาโพสต์จนเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ก็อาจมีการพิจารณาระงับบัญชีผู้ใช้รายนั้นได้
แต่ด้วยความที่ระบบการบริการ Social Media ในอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เป็นระบบเปิด
ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถเข้าถึงและสมัครใช้บริการได้ อีกทั้งยังมีหลักการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่างๆ ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่รู้จักแต่การใช้เสรีภาพ โดยปราศจากความรับผิดชอบแฝงตัวเข้ามากระทำการในลักษณะของการเป็นนักเลงคีย์บอร์ดได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่คนไทยอย่างกว้างขวาง โดยความขัดแย้งนี้ได้สะท้อนอยู่ในโลกออนไลน์และ Social Media อย่างเห็นได้ชัด แต่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองในบางครั้ง ได้เกินเลยไปจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามปกติ
บางครั้ง การแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ได้เกินเลยไปถึงขั้นของการสร้างความเกลียดชังและยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากฝ่ายของตน หรือที่เรียกกันว่า Hate Speech และเมื่อ Social Media กลายเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ Hate Speech ก็เกิดการเหมารวมว่า Social Media กับสื่อมวลชนกระแสหลัก เป็นกลุ่มเดียวกันที่สร้างปัญหาความแตกแยกระหว่างคนในชาติ
ประเด็นนี้ จึงเป็นที่มาของความพยายามที่จะเข้ามาจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็นของสื่อมวลชนกระแสหลัก โดยขาดการแยกแยะว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความแตกแยกและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังนั้น เป็นการนำเสนอผ่าน Social Media หรือสื่อกระแสหลัก
ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า มีสื่อกระแสหลักบางส่วน ที่ขาดความรับผิดชอบด้วยการนำเอาข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นที่นำไปสู่ความเกลียดชังและยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงมานำเสนอต่อ ในลักษณะของการขยายความขัดแย้งออกไป จนทำให้ผู้คนจำนวนมากเหมารวมว่า สื่อกระแสหลักมีส่วนในการสร้างความขัดแย้งไปด้วย
โลกอินเทอร์เน็ตเป็นสังคมเปิดที่ช่วยส่งเสริมให้คนทุกชาติทุกภาษาได้ใช้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในชิงสร้างสรรค์ แต่ “นักเลงคีย์บอร์ด” ในประเทศไทย ยังไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นจากพฤติกรรมที่มักง่ายและขาดวุฒิภาวะในการใช้อินเทอร์เน็ตด้วยความรับผิดชอบ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเลงคีย์บอร์ดชาวไทยจำนวนหนึ่ง จะไปแสดงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจในเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนข่าวเชิงสร้างสรรค์ในระดับโลก จนถูกชาวโลกรุมประณาม ว่าเป็นคนไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ด้อยพัฒนาทางความคิดและขาดจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองโลกที่มีความเจริญทางอารยธรรม
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาคมอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย จะต้องมาร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีสำนึกรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่มีอยู่ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะกลายเป็นประเทศที่ทั้งด้อยพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยและด้วยพัฒนาในการเป็นพลเมืองเน็ตของโลกอีกด้วย...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!