ชมภาพประวัติศาสตร์ เรือดำน้ำไทยในอดีต - พระราชหัตถเลขาขนานนามทั้ง 4 ลำ
หน้าแรกTeeNee อาหารสมอง อาหารสมอง ชมภาพประวัติศาสตร์ เรือดำน้ำไทยในอดีต - พระราชหัตถเลขาขนานนามทั้ง 4 ลำ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ประเทศไทยได้มีเรือดำน้ำไว้ใช้ในกองทัพเรือเป็นคราวแรก
โดยครั้งนั้น รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างให้บริษัทมิตซุยบิชิ โกเบ ที่ประเทศญี่ปุ่น จัดสร้างเรือดำน้ำ จำนวน ๔ ลำ แต่บริษัทสามารถจัดสร้างเรือดำน้ำแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๙ จำนวน ๒ ลำ และได้ทำพิธีปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๔๗๙ ส่วนอีก ๒ ลำ ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๔๘๐ เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำ นี้ กองทัพเรือได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชนามตามระเบียบการตั้งชื่อของกองทัพเรือ
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล(พระปรมาภิไธยในขณะนั้น)
อันประกอบด้วยนายนาวาเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (พระอิสริยยศในครั้งนั้น) เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และนายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ได้ขนานนามเรือดำน้ำ ทั้ง ๔ ลำ นั้นว่า "มัจฉานุ" ลำหนึ่ง "วิรุณ" ลำหนึ่ง "สินสมุทร" ลำหนึ่ง และ "พลายชุมพล" ลำหนึ่ง ดังได้ปรากฏสำเนาพระราชหัตถเลขาที่ได้นำมาแสดงนี้
อนึ่ง ความคิดเรื่องประเทศไทยควรจะมีเรือดำน้ำนี้ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เคยทรงพระนิพนธ์รายงานเกี่ยวกับเรือดำน้ำไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้ต้องระงับการสร้างเรือดำน้ำไป จนได้มีการรื้อฟื้นการสร้างเรือดำน้ำขึ้นอีกในสมัยรัชกาลที่ ๘
ข้อมูลและภาพจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอก สนอง ธนศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๓๑
ขอบคุณภาพจาก
Royal Archives of OHM