ความทรงจำจางๆ กับ จักรยานคันแรกของประเทศไทย

  เรื่องรถจักรยานที่จะเล่าต่อไปนี้ได้เรียบเรียงมาจากข้อเขียนของคุณสงวน อั้นคง พนักงานประจำหอสมุดแห่งชาติ และเรื่องกรุงเทพฯ ในความจำของคนอายุ ๗๐ ปี ของพระยาอานุภาพไตรภพ เป็นส่วนใหญ่

ก่อนที่จะเล่าถึงรถจักรยานในเมืองไทย ขอเล่าถึงกำเนิดรถจักรยานสักเล็กน้อย เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ที่เราไม่สามารถจะทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ประดิษฐ์รถจักรยานขึ้นเป็นคันแรกของโลก เพราะไม่ปรากฏหลักฐานประการใดเลย เราทราบได้แต่เพียงว่า รถจักรยานเป็นพาหนะที่ใช้ขับขี่กันในท้องถนนหลวงเป็นครั้งแรกในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ คือเมื่อราว ๕๐ ปีเศษ ๆ มานี้เอง รถจักรยานรุ่นแรกของโลกนั้น หามีลักษณะดังที่เราเห็นกันในปัจจุบันไม่ รูปร่างของรถจักรยานสมัยนั้น คือมีล้อเหล็ก ๒ ล้อ และมีไม้ท่อนอันหนึ่งทอดอยู่ระหว่างกลาง แล้วก็มีเบาะหนังติดอยู่เป็นที่สำหรับนั่ง ผู้ขับขี่รถจักรยานครั้งนั้น ต้องขึ้นไปนั่งคร่อมบนไม้ท่อนที่ทอดอยู่ระหว่างล้อทั้ง ๒ เอาก้นนั่งทับบนเบาะหนัง แต่การที่จะให้รถจักรยานวิ่งไปนั้นใช้วิธีเอาเท้าถีบยันพื้นดินหรือพื้นถนน ถีบทีหนึ่งมันก็วิ่งไปได้ไกลโขเหมือนกัน พอวิ่งช้าลงก็เอาเท้าถีบพื้นดินเสียครั้งหนึ่ง ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะถึงที่หมาย จะเป็นด้วยเหตุนี้หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ คนเก่า ๆ ในย่านชนบทในเมืองไทยถึงได้เรียกรถชนิดนี้ว่า "รถถีบ" แต่อันที่จริง รถจักรยานที่เข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกนั้นพ้นสภาพความเป็นรถถีบไปแล้ว การที่คนไทยเรียกรถจักรยานว่ารถถีบจึงเป็นเรื่องที่บังเอิญที่ไปตรงกับสภาพที่ควรเป็นรถประเภทนี้ในสมัยแรกของโลกเข้า ตรงนี้ต้องขอพิจารณาคำว่ารถถีบเสียหน่อย เมื่อรถจักรยานเข้ามาเมืองไทยใหม่ ๆ พวกที่มีการศึกษาดี เช่นพวกเจ้านาย พวกขุนนาง เรียกตามฝรั่งว่า ไบสิเกล มาจากภาษาอังกฤษว่า ไบซิคึล อันแปลว่า วงล้อสองวง ฝ่ายพวกตาสีตาสายายมายายมี ได้ยินพวกเจ้านายพวกขุนนางเขาเรียกกันว่า ไบสิเกล จะเรียกตามเขาบ้างก็เรียกไม่เป็น เรียกก็ยาก ฟังก็แปร่งอย่างไรพิกล ก็เลยเรียกเสียใหม่ตามสะดวกปากแบบไทย ๆ เรียกตามอาการที่มันเคลื่อนไปด้วยเท้าของคนว่ารถถีบ ความจริงแล้วคำว่า "รถถีบ" เป็นชื่อที่เหมาะทั้งความหมายทั้งการเรียกก็ง่าย 
ฟัง ๆ ดูก็เป็นไทยดี 

แต่เห็นจะเป็นด้วยมารังเกียจคำว่า "ถีบ" กัน ด้วยคิดเห็นกันไปในทำนองว่า เป็นอาการกิริยาอย่างหนึ่งของอวัยวะส่วนที่ถือกันว่าเป็นของต่ำ จึงไม่ชอบใจ ฉะนั้น ต่อมาภายหลังจึงมีผู้คิดคำว่า "รถจักรยาน" ขึ้นใช้แทนคำว่า ไบสิเกล ของฝรั่ง แทนที่จะเรียกว่ารถถีบ พิเคราะห์ดูคำว่า จักรยาน จักร แปลว่า ล้อรถ แปลว่า วงกลม ยาน แปลว่า เครื่องนำไป จักรยาน ก็แปลว่า เครื่องนำล้อรถ หรือ เครื่องนำวงกลมไป ก็ดูเหมาะดีเหมือนกัน แต่ความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว เห็นว่าใช้คำว่า รถถีบ เหมาะเจาะดีว่า รถจักรยาน เป็นไหน ๆ เพราะดูเป็นไทย ๆ แล้วก็เข้าใจดีเสียด้วย แต่เมื่อมารังเกียจคำว่า ถีบ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วเข้า ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ ในย่านชนบททั่ว ๆ ไป ก็ยังนิยมเรียกกันว่า รถถีบ อยู่ ถ้าเผอิญใครนำเอาคำว่าจักรยานไปใช้กับตามียายมาเข้าละก็ แกจะงงเป็นไก่ตาแตกเอาทีเดียว เพราะไม่รู้ว่าหมายความถึงอะไร บางทีแกอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า นั่นเขาพูดภาษาอะไรกัน พูดง่าย ๆ ว่ารถถีบเป็นภาษาของชาวบ้าน รถจักรยานเป็นภาษาของทางราชการ คำว่า รถจักรยานจึงจำกัดความกว้างขวางของมันอยู่เพียงเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาเท่านั้น ในปัจจุบันการศึกษาเจริญขึ้นมาก คำว่ารถถีบจึงดูจะห่าง ๆ หูไปมาก

คำว่า รถจักรยาน นั้น เริ่มใช้แทน รถไบสิเกล มาเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี่เอง ใครเป็นคนคิดบัญญัติขึ้นใช้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน ทราบแต่เพียงว่า มันเกิดขึ้นมาแทนคำว่า ไบสิเกล พร้อม ๆ กับคำว่า สถานี แทนคำว่า สะเตชั่น หรือ สะเตแท่น และคำว่า การประปา แทนคำว่า วอเตอร์เวิค นั่นเอง

ทีนี้ย้อนกลับไปเข้าเรื่องราวของรถจักรยานต่อไป รถจักรยานที่วิ่งเป็นครั้งแรกในโลก ตามท้องถนนเมืองปารีสนั้น ไม่ได้เรียกว่า ไบซิคึล หรือ ไบสิเกล อะไรหรอก เขาเรียกกันว่า Hobbyhorse ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็เห็นจะเป็น ม้าเทียม หรือ ม้าจำลอง อะไรพวกนั้น เพราะแต่เดิมเขาขี่ม้ากัน เมื่อคนมาประดิษฐ์ล้อเหล็กขึ้นสองล้อ เอาไม้ท่อนพาดผูกติดล้อเข้า แล้วนั่งบนไม้ท่อน เอาเท้าถีบยันดินให้ล้อวิ่งวิ่งหมุนเคลื่อนที่ไปได้ ก็เลยใช้เป็นยานแทนขี่ม้าจึงได้เรียกว่า Hobbyhorse เป็นม้าเทียม ไม่ใช่ม้าแท้ พวกม้าอย่างใหม่นี้ เวลาต้องการจะให้มันเลี้ยวไปทางไหน เลี้ยวไม่ได้ดังใจนึก ต้องหยุดมันเสียก่อน แล้วยกให้มันเลี้ยวไปในทางที่ต้องการ มันจึงจะเลี้ยวได้ คนขี่ม้าประเภทนี้กว่าจะถึงที่หมายเห็นจะเหน็ดเหนื่อยพิลึก เพระไหนจะคอยใช้เท้าถีบให้มันวิ่ง ไหนจะต้องคอยยกให้มันเลี้ยวเข้าทางที่ต้องการ ดูต้องใช้แรงทั้งนั้น ถ้าเผอิญผู้เล่าเกิดในสมัยนั้นในเมืองปารีส ถ้ามีม้าไว้ขี่สักตัวหนึ่ง ใครเอา Hobbyhorse มาแลกสัก ๓-๔ ตัวเห็นจะไม่รับประทานละ ถ้าจะไม่มีม้าจะขี่กับเขาก็ขอเลือกเอาเดิน เป็นไม่ยอมเห่อม้าประหลาดไปกับชาวบ้านเด็ดขาด ที่กล่าวมานี้เป็นสภาพของรถถีบ หรือที่เรียกกันโก้ ๆ ว่ารถจักรยานรุ่นแรกของโลก ตามที่จำเขามาบ้าง และตามที่คิดเดาเอาเองบ้าง

ทีนี้พูดถึงวิวัฒนาการของรถถีบต่อไป อีก ๒-๓ ปีต่อมา น่าจะมีคนระอาอ้ายวิธียกรถถีบหรือม้าจำลองให้เลี้ยวและคงจะบ่นกันมาก ว่าเหน็ดเหนื่อยและลำบากลำบนเหลือสติกำลัง จึงได้มีผู้พยายามคิดแก้ไขให้มันเลี้ยวได้เองโดยไม่ต้องหยุดเสียก่อนแล้วยกตั้งท่าใหม่ให้มันหันไปทางที่ต้องการ ปรากฏว่า ท่าน บารอน แห่งดราอิส คิดได้ คือทำที่บังคับล้อหน้าให้หลวมจนสามารถหันเหไปได้ตามต้องการ นอกจากนั้นท่านบารอน แห่งดราอิส ยังได้แต่งโน่นเติมนี่แก้ไขปรับปรุงการถีบให้สะดวกขึ้นอีกหลายอย่าง ปรากฏว่ารถถีบกลายเป็นเครื่องเล่นหรือกีฬาอีกประเภทหนึ่งของพวกเจ้านาย พวกขุนนาง และคนมีสตางค์ทั้งหลาย แต่ยังไม่ปรากฏว่า ถึงขนาดเอามาใช้งานใช้การได้ พวกเดินถนนทั้งหลายจึงยังไม่นิยม เพราะไม่เห็นมันจะมีประโยชน์เกินม้าไปได้ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๑ คือราว ๆ ๙-๑๐ ปีต่อมานับตั้งแต่รถถีบม้าเทียมเริ่มมีครั้งแรก นายเดนนิส จอห์นสัน บ้านตำบลลองเอเคอร์ ประเทศอังกฤษ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แก้ไขให้เข้ารูปของรถ และให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับม้า เมื่อประดิษฐ์สำเร็จแล้วก็นำไปจดทะเบียนสินค้า ปรากฏว่า รถถีบของนายเดนนิส จอห์นสัน มีผู้คนนิยมขึ้นบ้าง

อีก ๒๒ ปีต่อมา นายเคิร์ก แปรตทริก แมคมิลแลน ชาวสก๊อต ได้ดัดแปลงปรับปรุงรถถีบอีก โดยเพิ่มคันโยกติดต่อระหว่างวงล้อหลังกับข้อเสือสำหรับเท้าถีบให้รถวิ่งไปได้โดยไม่ต้องใช้เท้าถีบดินดังแต่ก่อนมา ยอดชายชาวดินแดนแห่งปี่สก๊อตผู้นี้ให้ชื่อรถถีบของเขาเสียใหม่ว่า มาสก๊อต ต่อมาไม่ช้ารถมาสก๊อต ก็กลายเป็นพาหนะที่นิยมกันมากเท่า ๆ กับม้าจริง ๆ

ต่อมาอีกราว ๆ พ.ศ. ๒๔๐๗ กะทาชายนายฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อนาย ปีแอร์ ลาละมั้งต์ จะคิดขึ้นมาได้หรือยังไงไม่ทราบว่า อันรถถีบนั้น รากเง่าเผ่าตระกูลมันอยู่ในฝรั่งเศส การที่นายเคิร์ก แปรตทริก แมคมิลแลน คนสก๊อต เอาแนวความคิดไปจากรถถีบหรือม้าจำลองของฝรั่งเศสไปดัดแปลงเสียหรูหรา แถมให้ชื่อเสียใหม่ว่า มาสก๊อต นั้น ดูจะหมิ่นฝีมือคนต้นตระกูลรถถีบไปหน่อยละ จำจะต้องแก้แค้นเสียให้สาสม คิดแล้วก็เอาแนวความคิดของนายเคิร์ก แปรตทริก แมคมิลแลน นั่นแหละมาดัดแปลงบ้าง คือแต่งคันโยกและข้อเสือเสียใหม่ สำหรับใช้เท้าถีบให้ล้อหมุนไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องออกแรงจนเหงื่อไหลไคลย้อยอย่างแต่ก่อน นายปีแอร์ ลาละมั้งต์ ถึงกับเอารถถีบทันสมัยเปี๊ยบของตนเข้าแสดงในการประกวดศิลปกรรม ณ กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ และในการประกวดศิลปกรรมปีนั้นเอง นาย เจอร์เนอร์ ผู้แทนของบริษัทผลิตจักรเย็บผ้า ยี่ห้อ โคเวนตรี้ ซึ่งได้นำจักรเย็บผ้าเข้าประกวดแข่งขันด้วย วันหนึ่งเดินเที่ยวชมงานไปเห็นรถถีบของนายปีแอร์ ลาละมั้งต์เข้า ก็ให้สนใจเป็นกำลัง คิดวนเวียนตลบไปตลบมาอยู่หลายเพลา ครั้นดีดลูกคิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายเจอร์เนอร์ก็เอาแบบรถถีบของ นายปีแอร์ ลาละมั้งต์ ไปผลิต และได้ส่งเข้าประกวดเมื่อ ๔ ปีต่อมา ให้ชื่อรถถีบเสียใหม่ว่า ไบซิคึล ปรากฏว่า รถไบซิคึลหรือรถถีบยุคก้าวหน้าเป็นที่นิยมของประชาชนและจำหน่ายได้ดีมาก

รถไบซิคึล ของบริษัทโคเวนตรี้ ในระยะแรก ๆ นั้น ทำสองล้อเท่ากันแบบรถถีบรุ่นปู่ของฝรั่งเศส แต่ต่อ ๆ มาก็ได้ดัดแปลงให้ล้อหลังเล็กลง ให้ชื่อว่า รถเพนนีฟาร์ทิง และได้ดัดแปลงต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๒ จึงได้ใช้ยางรอบวงล้อขึ้นเป็นครั้งแรก ใช้โลหะทำโครงตัวรถทั้งคัน และให้มีลูกปืนสำหรับอำนวยความคล่องในการหมุนของส่วนประกอบต่าง ๆ อีกด้วย จึงนับว่าเป็นรถที่มีสภาพสมบูรณ์และสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ในสมัยก่อน เมื่อแรกเริ่มมีรถจักรยานหรือรถีบใช้ในโลกนั้น ปรากฏว่า คนต้องตายเพราะอุปัทวเหตุอันเกิดแต่การถีบรถบ่อย ๆ ก็น่าตายหรอก เพราะรถถีบสมัยนั้นเป็นเพียงขั้นริเริ่ม ย่อมเป็นของธรรมดาที่รูปร่างลักษณะและความสะดวกสบายในการถีบหรือการใช้ จะต้องไม่สมบูรณ์แบบดังเช่นรถถีบในปัจจุบัน นักถีบรถในสมัยนั้นต้องใช้ความสามารถในการถีบเป็นพิเศษทีเดียว ใครถีบรถวิ่งไปตามท้องถนนได้ เห็นจะโก้ไม่น้อย ด้วยเป็นของที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนเดินถนน และคงเป็นเพราะว่า ผู้คนสนใจมองดูรถถีบและคนถีบรถกันมากกระมัง เจ้านักถีบรถก็คงจะออกฤทธิ์ออกเดชอวดอภินิหารของตนในการสวี๊ดสว๊าดพลิกแพลงให้เป็นที่น่าเสียวไส้และหมั่นไส้ของคนดูเข้าบ้างเป็นแน่ จึงมีเหตุถึงคอหักแขนหักตายกันบ่อย ๆ จนพวกนักถีบรถที่ไม่มีฤทธิ์เดชทั้งหลายพากันกลัว และเพ่งเล็งไปในทางถือเคล็ดถือลางกันต่าง ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและเชื่อกันไปว่า ต้องมีภูตผีปีศาจสิงอยู่ในรถถีบเป็นมั่นคง แต่ถึงกระนั้น ความนิยมในการถีบรถก็หาได้ลดน้อยลงไม่ กลับทวีจำนวนนักถีบรถขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่อีกใจหนึ่งก็เกรงกลัวกันอยู่ นักนิยมถีบรถก็เห็นจะเป็นคนหนุ่ม ๆ นั่นแหละมากกว่าพวกอื่น ด้วยพวกหนุ่ม ๆ โดยมากมักเห็นและเชื่อไปว่า อันการใดที่ทำด้วยยากไซร้ ถ้าเราทำได้ท่านว่าโก้ดีนักแล
ความเชื่อในเรื่องผีสิงห์รถถีบนี้มีมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เกิดมีบุคคลจำพวกไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องภูติผีปีศาจกลุ่มหนึ่ง มีความเห็นว่า การที่มีคนล้มตายแขนหักขาหักพิกลพิการอยู่เสมอนั้น หาได้เป็นเพราะผีสางแม่นางกงแต่ประการใดไม่ เป็นเพราะความบกพร่องบางอย่างของของรถถีบมากกว่า กลุ่มหัวสมัยไม่เชื่อผีกลุ่มนี้ ได้ร่วมกันตั้งสมาคมขึ้นสมาคมหนึ่ง ให้ชื่อว่า สมาคมจักรยานสแตนเลย์ อันนับว่าเป็นสมาคมจักรยานแห่งแรกในโลก สมาคมจักรยานสแตนเลย์ได้เปิดประชุมสมาชิกเป็นประจำทุก ๆ วันเสาร์ เพื่อค้นคว้าวิจัยกิจการรถถีบ เพื่อดัดแปลงแก้ไขรถถีบให้อยู่ในสภาพที่ดี ใช้สะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น จะเนื่องด้วยผลการค้นคว้าของสมาคมนี้ หรือด้วยเหตุอื่นหารู้ไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ อันเป็นเวลาภายหลังสมาคมจักรยานสแตนเลย์ตั้งขึ้น ๑๘ ปี ชาวโลกก็ได้มีโอกาสได้ตื่นเต้นกับรถถีบอีกแบบหนึ่ง ชื่อว่า Hillman's Kangaroo หรือแบบ จิงโจ้ของฮิลล์แมน รถถีบแบบใหม่นี้ มีรูปร่างผิดไปจากแบบเดิม ๆ มาก คือมีล้อหน้าใหญ่มากแต่มีล้อหลังเล็กเพียงนิดเดียว มีที่นั่งและแฮนด์อยู่บนล้อหน้า และมีบันไดสำหรับถีบให้รถวิ่งไปอยู่ตรงเพลาล้อหน้า ส่วนล้อหลังมีหน้าที่ช่วยเพียงประคับประคองให้ล้อหน้าตั้งอยู่ได้เท่านั้น รถถีบแบบจิงโจ้ครองความเป็นรถทันสมัยอยู่ได้เพียงปีเดียว ก็มีรถอีกแบบหนึ่ง เป็นรถยี่ห้อ โรเวอร์ Rover เกิดขึ้น รถถีบแบบนี้มีล้อหน้าใหญ่กว่าล้อหลังเพียงเล็กน้อย มีบันไดสำหรับถีบอยู่กลางระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง มีสายโซ่จากบันไดถีบมาหมุนล้อหลังตรงเพลา อันเป็นวิธีเดียวกับรถถีบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เกิดรถถีบยี่ห้อ ซิงเกอร์(Singer) ขึ้นอีกแบบหนึ่ง มีลักษณะเพิ่มเติมพิเศษออกไปอีก คือมีบังโคลน มีห้ามล้อ และบันไดมียางหุ้ม ล้อหน้าและล้อหลังมีขนาดเท่ากัน หนักประมาณ ๔๘ ปอนด์ นับว่าการรถถีบก้าวหน้าต่อมาอย่างรวดเร็ว ต่อมาอีก ๒-๓ ปีก็มีผู้ผลิตยาง ดันลอป (Dunlop) ออกใช้ ทำให้สะดวกสบายแก่ผู้ขับขี่ และมีผู้นิยมรถถีบกันมากยิ่งขึ้นและแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว รถถีบยี่ห้ออื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากก็ดัดแปลงให้เกิดความสะดวกสะบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่เลียนแบบมาจากรถถีบยี่ห้อ Singer

รถถีบหรือรถจักรยาน แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งของโลกไป เมื่อพูดถึงความนิยมกันแล้ว ประเทศเนเทอร์แลนด์ เห็นจะเป็นประเทศเดียวที่นิยมรถถีบมากที่สุดในโลก เนเทอร์แลนด์มีพลเมือง ๑๐ ล้านคน แต่มีรถถีบใช้ถึง ๗ ล้านคัน เกือบจะเรียกได้ว่า มีกันคนละคันทีเดียว
ทีนี้พูดถึงรถถีบในเมืองไทยบ้าง ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาในเมืองไทยเมื่อใด แต่เมื่อกี้ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อแรกมีรถถีบในเมืองไทยนั้น รถถีบมีลักษณะเป็นรถแบบจิงโจ้คือล้อหน้าใหญ่ ล้อหลังเล็ก รถแบบจิงโจ้นั้นฝรั่งผลิตออกใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า รถถีบคงจะเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปีนั้น หรือไม่ก็คงในปีถัดมาเป็นอย่างช้า คืออย่างช้าก็คงเป็น พ.ศ. ๒๔๒๘ ไม่ช้าไปกว่านี้ เพราะรถแบบจิงโจ้ที่ฝรั่งทำออกจำหน่ายอยู่ได้เพียงปีเดียว ก็มีรถแบบอื่นที่ดีกว่าออกมาตีตลาดรถถีบเสียย่อยยับไป รถแบบจิงโจ้ที่มามีในเมืองไทยครั้งนั้น ไม่มากมายอะไร มีเพียง ๒-๓ คันเท่านั้น เข้ามาครั้งเดียวแล้วไม่ปรากฏว่ามีเพิ่มเติมเข้ามาอีก ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะตลาดรถถีบของโลกหันความสนใจจากรถแบบจิงโจ้ไปสู่รถแบบอื่นที่ดีกว่าเสีย ต่อมามีผู้สั่งรถถีบแบบล้อเท่ากันเข้ามาเห็นจะในราว พ.ศ. ๒๔๔๑-พ.ศ. ๒๔๔๒ หรือก่อนนั้นขึ้นไปสักปีหนึ่ง ดังปรากฏตามคำกล่าวของเจ้าพระยามหิธร ในคราวอบรมนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์ธรรมศาสตร์ปีเดียวกันตอนหนึ่งว่า

"สมัยหนึ่ง ราว ร.ศ. ๑๑๗-๑๑๘ ในกรุงเทพฯ เล่นรถจักรยานกันมาก จนถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และเจ้าพระยาภาษกรวงศ์ ซึ่งเป็นคนอ้วนใหญ่ก็ยังถีบรถจักรยาน การเป็นดังนี้จะไม่สนุกใหญ่อย่างไร เวลานั้น ใครเจ็บไข้ไปหาหมอ ๆ มักแนะนำให้ไปถีบรถจักรยาน เหมือนสมัยเล่นกอล์ฟ หมอก็แนะนำให้ไปตีกอล์ฟ"

พระยา อานุภาพไตรภพ ก็ได้เล่าไว้ในมหานครกรุงเทพฯ ในความจำของคนอายุ ๗๐ ปีว่า

 "ในสมัยที่ว่านี้ รถจักรยานฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายฝ่ายในก็ทรงหัดจักรยาน บรรดาลูกหลานขุนนางและพ่อค้าธนบดีต่างมีจักรยานใช้ ถึงกับมีการตั้งสโมสรจักรยานขึ้นที่วัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (น้องยาเธอ) กรหลวง (กรมหมื่น) อดิศรอุดมเดชซึ่งเวลานี้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของกระทรวงเศรษฐการ ในคราวรับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ คราวเสด็จเข้ามาเยี่ยมประเทศไทยประมาณในระยะเวลาเดียวกัน สโมสรนี้ได้อำนวยให้มีการแต่งรถจักรยานด้วยดอกไม้สดประกวดกัน และทำสงครามบุปผาชาติที่ท้องสนามหลวงเป็นงานใหญ่ ในระยะนี้เองข้าพเจ้าก็เพิ่งนั่งจักรยานเป็นโดยสมเด็จพระพันปีหลวงรับสั่งกับข้าพเจ้าก่อนเสด็จเข้าห้องเสวยเวลากลางวันที่วังสราญรมย์ ระหว่างประทับกับทูลกระหม่อมว่า ‘ถ้าเจ้าถีบรถได้ในระหว่างข้ากินข้าวกลางวัน ข้าจะให้รถเจ้าคันหนึ่งในวันนี้'ดังนั้นพอเที่ยงเสด็จเข้าห้องเสวยแล้ว ข้าพเจ้าก็ยืมรถของเพื่อนมาเริ่มหัดคนเดียว ราว ๑๔.๐๐ น. เสด็จจากห้องเสวยมาประทับที่หน้ามุขกลางทอดพระเนตร เห็นข้าพเจ้าขึ้นลงรถเองได้ แม้จะยังเปะปะอยู่บ้าง ก็ทรงเห็นขันและพอพระทัย เลยโปรดให้ คุณหญิงทรามสงวน อภัยรณฤทธิ์ ผู้เป็นข้าหลวงผู้ใหญ่จัดซื้อรถจักรยานชื่อ ‘เดตอน' มาพระราชทานในเย็นวันนั้นเอง"

เมื่อคราวแต่งรถจักรยานประกวด ทำสงครามบุปผาชาติที่ท้องสนามหลวงนั้น กรมพระนราธิปประพันธพงศ์ กับ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงสั่งรถจักรยานเข้ามาจำหน่ายเพื่อร่วมสนุกในงานครั้งนี้ด้วยองค์ละร้อยคัน (บันทึกของ ม.ร.ว. ถัด สีหศักดิ์ สนิทวงศ์ ชุมสาย) อันนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจำหน่ายรถจักรยานหรือรถถีบในประเทศ

ต่อจากนั้น พวกพ่อค้าในกรุงเทพฯ ก็สั่งจักรยานมาขายกันมากมาย ความนิยมในรถจักรยานมีมากในกรุงเทพฯ ก่อน แล้วก็แพร่ขยายออกไปต่างจังหวัด จนทั่วประเทศ ความนิยมอันนี้ยืนยงต่อมาจนถึงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สมัยเมื่อผู้เล่ายังเป็นนักเรียน ครั้งนั้น ถ้าใครมีจักรยานถีบไปโรงเรียนถือกันว่าโก้เก๋พิลึกละ คนไม่มีก็ให้นึกอิจฉาคนที่มีในใจ ให้อยากมีเป็นกำลัง บางคนก็ไปอ้อนวอนพ่อให้ซื้อให้จนได้ บางคนพ่อไม่ยอมซื้อให้ ก็เลยเล่นไม้ตายเอากับพ่อว่า ถ้าไม่ได้ขี่จักรยานไปโรงเรียน เป็นไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นเด็ดขาด พ่อต้องยอมแพ้ในที่สุด การขี่จักรยานเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งของนักเรียนรุ่นนั้น แต่แทนที่จะไปถึงโรงเรียนโดยเร็ว กลับไปช้ากว่าไม่มีจักรยานเสียอีก เพราะมัวไปวนตลาดขี่อวดคนเสียตั้งหลายรอบกว่าจะวกมาโรงเรียน เรียกกันว่า "ขี่รถฉาย"

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา รถจักรยานหรือรถถีบก็ลดจำนวนลง เพราะระหว่างสงคราม ไม่มีตกเข้ามาประการหนึ่ง พอเลิกสงครามแล้ว ยานพาหนะอื่น ๆ มีมาก รถจักรยานก็เลยน้อยลง ที่น้อยลงเห็นจะไม่ใช่เพราะความนิยมหรือไม่นิยมหรอก คงเป็นเพราะเกรงว่า จะถูกรถอื่นมันขยี้เอาเสียแหละมากกว่า คงกล้าขี่กันก็เฉพาะคนหัวเห็ดไม่กลัวตายเท่านั้น นี่พูดเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัด รถจักรยานยังคงใช้แพร่หลายกันอยู่.


ความทรงจำจางๆ กับ จักรยานคันแรกของประเทศไทย


ความทรงจำจางๆ กับ จักรยานคันแรกของประเทศไทย

ที่มา wikisource.org


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์