รักเดียวของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

รักเดียวของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยจะมีพระมเหสี เจ้าจอม หรือพระสนมเอกจำนวนมาก นับเนื่องจากกษัตริย์สมัยสุโขทัยลงมาจวบจนกระทั่ง รัชกาลที่ ๖ แต่เมื่อถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านรัก ผู้หญิงคนเดียวในชีวิต นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี พระองค์ทรงเป็น พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระสวัสดิวัฒนวิศิษฏ์ (ต้นสกุลสวัสดิวัฒน์) กับพระองค์วรวงศ์เธอพระองคเจ้าอาภาพรรณี (พระธิดาในกรมหลวงพิชิต-ปรีชา กร ต้นสกุล คัคณางค์)

ท่านหญิงรำไพพรรณีได้ถูกถวายตัวมาอยู่ภายในการดูแลของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕โดยเฉพาะในช่วง วัยรุ่นได้มาประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งมีพระราชนัดดาและหม่อมราชวงศ์ที่สืบสายมาจากสกุลต่างๆ ก็มารับใช้ สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ

รักแรกพบระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณีนั้นเริ่มต้นที่ วังพญาไทนี้เอง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๗ ดำรงพระอิสริยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาได้เสด็จนิวัติเมืองไทย เมื่อปี ๒๔๕๗

หลังจากว่างเว้นภารกิจต่างๆ พระองค์ทรงเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จ พระศรีพัชรินทราฯ ณ วังพญาไท อยู่เนื่องๆหรือในบางครั้งก็ประทับอยู่ที่วังหลายวัน จึงได้มีโอกาส รู้จักหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์จากการใกล้ชิดและพูดคุยกัน และด้วยพระองค์ทรงคุยสนุกและไม่ถือพระองค์ทำให้พระองค์และหม่อมหญิงรำไพพรรณีสนิทสนมใกล้ชิด และได้กลายเป็นความรักผูกพันอย่างลึกซึ้ง และเรื่องราวความรักได้ปรากฏอย่างเด่นชัด

ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงผนวชจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ขณะนั้นสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราช ทรงเล็งเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ทรงเป็นพระราชกุมารลำดับสุดท้ายในจำนวนพี่น้องทั้งหมดที่ร่วมพระราชชนนีเดียวกันถึง ๕ พระองค์ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้สืบราชสมบัติจึงเป็นได้ยากเพราะต้องทรงผ่านลำดับถึง ๔ พระองค์

วันหนึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้กราบทูลเชิญพระองค์ให้คงอยู่ในสมณะเพศตลอดไป เพื่อได้ทรงเป็นประมุขปกครองฝ่ายศาสนจักรต่อไป แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงมีรักผูกพันกับหญิงไว้แล้วคนหนึ่งและหญิงท่านนั้นคือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี หรือ ท่านหญิงนา นั่นเอง หลังจากที่เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา (พระอิสริยศ ขณะนั้น) ได้ทรงลาผนวช ได้เข้ารับราชการในกรมทหาร ปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ตามปกติ

ในปี ๒๔๖๑ พระองค์ได้ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาติและ ในพระราชพิธีสมรสในครั้งนี้ได้เป็นครั้งแรกที่ทรงริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรสในหมู่พระราชวงศ์ไทย

ในเวลาต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ได้เสด็จขึ้นเป็นสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีได้รับพระราชอิสริยายศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี

ในเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุดคือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี ๒๔๗๕ ซึ่งขณะนั้นทั้งสองพระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวล ได้มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จกลับพระนคร ซึ่งในตอนนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถามความเห็นจากสมเด็จฯในฐานะคู่ชีวิตว่า

"หญิงว่ายังไง"

ทางด้านสมเด็จฯนั้นแม้จะทรงเป็นสตรีเพศ แต่ได้กราบบังคมทูลด้วยความเด็ดเดี่ยวไปว่า

"เข้าไปตายไม่เป็นไร แต่ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ"

ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวจึงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าพระนคร โดยมีพระยาทรงสุรเดชตรวจตราดูแลรักษาพระองค์อย่างกวดขัน ไม่ช้าก็มีเสียงติเตียนหาว่าพระเจ้าอยู่หัวขี้ขลาด จะเสด็จไปไหนก็ต้องพกปืนกระบอกเล็กๆไปด้วย บางคนก็หัวเราะเยาะพระเจ้าอยู่หัวว่า ปืนกระบอกเล็กเพียงนั้นจะไปสู้อะไรเขาได้

พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสว่า....

"ปืนกระบอกนี้มีกระสุนเพียงสองลูก ลูกหนึ่งสำหรับหัวหญิง(สมเด็จพระบรมราชินี) แล้วเป็นของฉันเองอีกลูกหนึ่ง เพราะถ้าจะบังคับให้ฉันเซ็นอะไรที่เป็นการหลอกลวงราษฎรของฉันแล้ว เป็นยิงตัวตาย"

และแล้วในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๗๖ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นเป็นการอำลาสยามไปตลอดของ.....พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

เนื่องจากขณะที่พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ ในขณะที่ทั้งสองพระองค์มิได้เป็น คิงสและควีนแห่งสยามนับเป็นช่วงเวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ

เรื่องที่มีคนรู้ไม่มากนัก คือตอนนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความเป็นอยู่ของรัชกาลที่ ๗ ที่อังกฤษค่อนข้างอัตคัดลำบากตำหนักเล็กๆ ที่ท่านอยู่ ตอนหลังถูกทางการอังกฤษยึดไปให้ทหารเพื่อเอาไปตั้งเป็นที่ทำการ ท่านต้องย้ายถึง ๒-๓ หน วันหนึ่งท่ามกลางระเบิดที่ลงทั่วไป ท่านตื่นบรรทมแต่เช้าทรงพระสนับเพลากางเกงแพร เสื้อคอกลม รับสั่งว่าวันนี้อากาศดี เป็นห่วงบ้านหลังเก่าที่ถูกทางการอังกฤษยึดไป จึงให้พระนางเจ้ารำไพพรรณี เข้าไปดูว่าบ้านช่องเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าพบดอกไม้สวยๆโดยเฉพาะดอกทิวลิปที่ทรงโปรดก็ให้ตัดมาปักแจกันถวายด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงถามว่าประทับอยู่พระองค์เดียวได้หรือท่านตรัสว่า .......

"อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์"

ดังนั้นในเวลา ๙.๓๐ น.. สมเด็จพระบรมราชินีและนางข้าหลวงจึงออกจากพระตำหนักโดยรถยนต์ส่วนพระองค์ที่ทางรัฐบาลอังกฤษจัดถวาย จึงมีเลขทะเบียนพิเศษซึ่งตำรวจจราจรทั้งเกาะอังกฤษจะรู้จักดี ณ บัดนั้นเองเหตุการที่ไม่มีผู้ใดคาดฝันก็เกิดขึ้น อาการพระหทัยพิการของพระเจ้าอยู่หัวได้กำเริบขึ้นกระทันหันขณะที่พระองค์บรรทมอยู่แต่ลำพัง พระหทัยของพระองค์เต้นอ่อนลงอ่อนลงทุกขณะ และในที่สุดพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระอาการช็อค นางพยาบาลได้รีบเข้าไปในห้องพระบรรทมเพื่อถวายการรักษา แต่ก็ช้าไปเสียแล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียแล้ว

เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ครั้นได้สติจึงพากันรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากตำรวจให้จัดการเรียกรถยนต์พระที่นั่งที่สมเด็จพระบรมราชินีประทับไปเก็บดอกทิวลิปให้กลับพระตำหนักโดยด่วน โดยให้ทูลว่า

"มีเหตุสำคัญเกิดขึ้นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

ตำรวจจราจรเมืองอังกฤษนายหนึ่งซึ่งเฝ้าคอยดูทะเบียนรถยนต์พอเห็นรถยนต์พระที่นั่งจอดอยู่ก็ปรี่เข้ามาทันที และแจ้งกับข้าหลวงว่าให้ทูลสมเด็จพระบรมราชินีว่าเกิดเหตุสำคัญที่พระตำหนัก ให้รีบเสด็จกลับโดยด่วน สมเด็จพระบรมราชินีพอได้ทรงทราบก็ทรงสังหรณ์พระทัย พระพักตร์ซีดเผือดลงในทันใด และทุกคนก็เริ่มรู้สึกว่าคงจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นแน่ พอกลับรถเรียบร้อยก็ย้อนสู่ทางเก่า ฝนก็เทลงมาอย่างหนัก สมเด็จพระบรมราชินีพระพักตร์ซีด ขอบพระเนตร์แดงก่ำ ทรงมีพระอาการเหม่อลอยสายพระเนตรมองขึ้นไปบนท้องฟ้าโดยที่มิทรงตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว

และในที่สุดรถยนต์พระที่นั่งก็เลี้ยวเข้าสู่ประตูพระตำหนัก ณ ที่บันไดใหญ่นั้นเอง พระประยูรญาติได้ยืนรอรับสมเด็จพระบรมราชินีอยู่ ทุกคนทำได้เพียงโค้งคำนับถวายความเคารพไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูลอะไรใดๆ ในแววตาของทุกคนแดงก่ำความเศร้าสลดละเลงอยู่บนใบหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงัดแม้แต่ลมก็เหมือนถูกสาปหลับนิ่งเงียบไปหมดทั้งๆที่ฝนตกแรงยังกับพายุ ท้องฟ้าครึ้มลงทันทีทั้งๆที่เป็นเวลาเพียงบ่ายเศษๆ สมเด็จพระบรมราชินีทรงก้าวพระบาทลงจากรถด้วยความอ่อนพระทัย หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ รีบเข้าประคองและนำสมเด็จขึ้นบันไดไปบนพระตำหนัก พระองค์ก้าวพระบาทช้าๆ ด้วยความเงียบสงัดทำให้เสียงรองพระบาท(เสียงรองเท้า)ดังสะท้อนไปทั่วพระตำหนัก พระพักต์ของสมเด็จพระบรมราชินีซีตเนื้อตัวสั่นไปทั้งองค์และทรงเอื่อมพระหัตถ์เปิดประตูด้วยพระองค์เอง

"ทรงทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหงายอยู่บนเพระแท่น สมเด็จพระบรมราชินีเริ่มมีพระอาการซวนเซหมดพระกำลังคล้ายจะประชวรพระวาโย(เป็นลม) น้ำพระเนตรไหลนองออกมาเป็นสาย ทรงหลับพระเนตรเหมือนกำลังรวบรวมพระกำลังแข็งพระทัยเดินต่อไปให้ถึงเตียงและตรงเข้าทรุดพระองค์ลงกราบแล้วจูบไปที่พระบาทของพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงกรรแสงออกมาดังเสมือนพระทัยของพระองค์จะสูญสิ้นตามพระเจ้าอยู่หัวไปก็มิปาน"

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสองนาที สมเด็จพระบรมราชินีกลับทรงนิ่งไม่ปริปากตรัสอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว พระองค์ฝืนพระทัยข่มพระอารมณ์ได้อย่างน่าประหลาด ไม่มีคำพูอะไรหรือตัดพ้อใดๆ หลุดออกมาจากพระโอษฐ์เลยแม้แต่คำเดียว เสมือนว่าพระองค์จะร้องไห้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วแล้วจะไม่ให้ใครเห็นน้ำพระเนตรของพระองค์อีก หลังจากนี้ต้องลุกขึ้นยืนและเข็มแข็งสู้ต่อไป จากนั้นพระองค์จึงตั้งสติแล้วให้ทุกคนรีบจัดงานพระบรมศพโดยเร็วและเรียบง่ายตามพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัวที่เคยสั่งไว้

หลังการเสด็จสวรรคต ๓ วัน มีการถวายพระเพลิงที่สุสานเล็กๆไม่มีพระมาสวดแม้แต่รูปเดียว ท่านเคยรับสั่งไว้ก่อนเสด็จสวรรคตว่า ไม่ต้องมีพระบรมโกศ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเป่าปี่ ไม่ต้องประโคม ให้ใส่หีบแล้วก็เผา

"ที่จริงท่านสั่งไว้ด้วยว่าไม่ให้นำกระดูกกลับประเทศไทยท่านขอเพียงอย่างเดียว ขอเพลงบรรเลงไวโอลินเพราะๆ หวานๆ สักเพลง"

ถึงกระนั้นพอปี ๒๔๙๑ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯกลับประเทศไทย แล้วนำพระบรมอัฐิกลับมาเพื่อทำพิธีให้สมพระเกียรติยศ เรียกว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่เสด็จสวรรคตโดยที่ไม่ได้ลงพระบรมโกศทั้งที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ และเสียสละต่อคนไทยมาก

พระชะตากรรมและความขมขื่นที่ได้บังเกิดขึ้นกับทั้งสองพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี นับว่ายากที่จะอธิบายกลั่นกรองออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษรได้ ถือได้ว่าพระองค์ทรงราชินีที่อยู่นอกบัลลังก์พระองค์แรกของอาณาจักรไทย พระองค์เป็นอีก ๑ จอมนางที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง และสามารถควบคุมพระสติได้อย่างมั่นคงอีกด้วย จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสถาบันสูงสุดได้สละอะไรไปบ้างเพื่อให้ประชาชนได้มีสิ่งที่เรียกกันว่า........ประชาธิปไตย

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

@ปลา ปภาวรินทร์

หมายเหตุ :
ภายซ้าย : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
ขวาบน : พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ขวาล่าง : วังไกลกังวล หัวหิน

เอกสารประกอบการเขียน : 
สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น โดย หม่อมเจ้า(หญิง) พูนพิศมัย ดิศกุล
FB: คลังประวัติศาสตร์ไทย

FB: นิทรรศการพลังแผ่นดิน
อัศจรรย์งานศิลป์ แผ่นดินสยาม
https://m.facebook.com/profile.php?id=388723421244559

รักเดียวของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์