‎แม่คะ !! ทำไมพี่เค้าไม่มีรถ‬?

‪#‎แม่คะทำไมพี่เค้าไม่มีรถ‬?
เมื่อวานนี้หมอไปรับลูกที่โรงเรียน ขณะเรากำลังขึ้นรถกลับบ้าน ลูกสาววัยสองขวบกว่าก็ถามขึ้นว่า
"แม่คะ ทำไมพี่เค้าไม่มีรถมารับล่ะ?"
หมอมองตามไปก็เห็นเด็กชายที่โตเกือบเข้าวัยรุ่นกำลังขึ้นนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่มารอรับ
หมอพบว่า "คำตอบ" ที่หมอจะตอบลูก ในจังหวะตรงนั้นมันท้าทายตัวเองมากเลยค่ะ
ยิ่งเจอประโยคต่อมาของเด็กหญิงวัยไร้เดียงสา "พี่เค้าไม่มีรถมารับเหมือนเบเน่"
อืมม หมอควรจะตอบเค้าว่ายังไงดี...
"ทำไมคนอื่นไม่มีรถมารับ?"
"เค้าคงมีแหละลูก โรงเรียนนี้ไม่มีรถคงมาเรียนไม่ได้หรอก"
ประโยคที่หมอคงเผลอสอนเรื่องมาตรฐานสังคมที่สูงส่ง แถมสอนว่าเราและใครๆ ก็ต้องมีอะไรที่ไม่ต่างกัน
"อืม เห็นมะล่ะ หนูโชคดีกว่าพี่เค้าเยอะเลยน้า มีรถมารับสบายเลย"
ประโยคที่อาจจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจหรือรู้สึกว่าตัวเองโชคดี...แต่โดยการที่ต้องเหยียบหรือเทียบกับคนอื่น
"อืม พี่เค้าน่าสงสารจังนะ ไม่มีพ่อแม่มารับ ดูสิต้องนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง"
ประโยคที่อาจจะฟังเหมือนสอนให้ลูกเห็นใจและสงสารคนอื่น แต่...ความต่างกันหรือการนั่งมอเตอร์ไซด์ มันไม่ใช่เรื่องที่ลูกต้องไปสงสารหรือเวทนาใคร (เพราะไม่งั้นชีวิตข้างหน้าอีกยาวไกล ลูกอาจจะกลับมารู้สึกอายหรือสงสารตัวเอง)
ตอนนั้นเท่าที่คิดได้หมอเลยตัดสินใจบอกกับลูกไปง่ายๆว่า
"พ่อแม่ ก็มีทั้งคนที่มีรถและไม่มีรถมารับลูกจ้ะ"
"บางคนก็มีความจำเป็นต้องใช้รถมารับลูก"
"บางคนก็อาจมีรถ แต่คิดว่าลูกก็เก่งพอที่จะเดินทางด้วยตัวเองได้แล้ว"
"บางคนก็อาจจะไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อรถมาใช้" 
"บางคนก็อาจจะมีเงิน แต่ไม่ได้คิดว่าการมีรถเป็นเรื่องจำเป็น"
"เราทุกคนไม่เหมือนกัน และไม่ต้องเหมือนกันจ้ะ"
"ตอนนี้หนูมีแม่มารับ แต่พอหนูโตอีกหน่อย เราอาจจะลองกลับบ้านด้วยรถตุ๊กๆ หรือรถเมล์กันบ้างก็ได้นะ"
"เบเน่อยากนั่งตุ๊กๆ"
"อืม แม่ว่ามันก็น่าสนุกดีนะ"
"เอ แล้วอย่างวันนี้ฝนตก แล้วตอนนี้แม่มีรถ ถ้าเราเจอเพื่อนที่ต้องเปียกฝนเพราะนั่งรถมอเตอร์ไซด์ เราจะทำยังไงดีล่ะ?"
"เราก็ชวนเค้าขึ้นรถมามี้ไปด้วยยยย"
"ดีมากเลยจ้ะ ลูกแม่มีน้ำใจมากเลยนะ"
หมอก็ไม่คิดว่าเด็กสองขวบจะเข้าใจอะไรลึกซึ้งมากมายในคำตอบหรอกค่ะ แต่หมอเชื่อว่า

1. คำตอบของพ่อแม่ หลายครั้งมันจะกลายเป็นรากฐานการมองสิ่งต่างๆ ของชีวิตลูก
2. การสอนลูกว่า "มีไม่เหมือนคนอื่น" เป็นเรื่องน่าสงสาร คือการสอนที่น่ากลัว
3. การสอนว่า "เราช่างโชคดี" เพราะได้มีเหนือคนอื่น ก็เป็นการสอนที่ไม่น่าให้อะไรกับการพัฒนาทางใจของลูกเช่นกัน
4. การสอนว่า "เราทุกคนล้วนแตกต่าง" คือรากฐานการทำความเข้าใจ ความเป็นไปของโลกใบนี้
5. บางทีชีวิตดีๆ... ก็อาจได้มาจากการแค่รู้บทบาทของตัวเองว่าเมื่อไหร่ควรช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่การคอยมองชีวิตของคนอื่น

รักลูก... ช่วยลูกให้เข้าใจ "ความแตกต่าง" ด้วยการ "ไม่ต้องตัดสิน" ดูนะคะ
หมอเชื่อว่านี่จะเป็นรากการคิดที่สำคัญของการมองอะไรในโลกใบนี้จริงๆ ^^

‎แม่คะ !! ทำไมพี่เค้าไม่มีรถ‬?

ขอบคุณเนื้อหาจาก ‪#‎หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน‬
ผู้พบว่าการตอบคำถามลูกเป็นอะไรที่ท้าทายสติมากๆ ^^"
Cr.ภาพ http://www.thaihealth.or.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์