เดิมทีประชาชนในหมู่บ้านนางอย จะมีอาชีหลัก คือ การทำนา แต่หลังจากมีโครงการเข้าไปช่วยสอนอาชีพการเพาะปลูกสินค้าเกษตรใหม่ๆ จนประชาชนมีความรู้ด้านการเพาะปลูกและมีผลผลิตทางการเกษตรออกมาค่อนข้างมาก ต่อมาในปี 2525 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งจัดตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นที่หมู่บ้านนางอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เพื่อสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้าง "เส้นทางมะเขือเทศ" บริเวณลุ่มน้ำโขง พัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่าเกษตรกรในชุมชนนี้ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งหลังจากก่อสร้างโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) แล้วเสร็จ ต่อมาปี 2526 ได้เริ่มทำการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นแบบกระป๋อง
ในปี 2537 ได้มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลภายใต้ชื่อบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร รวบรวมโรงงานทั้ง 3 แห่ง คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ 1 ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทำหน้าที่ผลิตน้ำมะเขือเทศสูตรเข้มข้นในรูปแบบขวด และสตรอเบอร์รี่อบแห้ง และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ 2 ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไว้ด้วยกันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เวลาผ่านไปหลายสิบปี จนกระทั่งถึงปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ทรงทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของโรงงาน จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ทำการปรับปรุงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ขึ้นมาใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ชุมชนได้รับประโยชน์ และธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้"
ขณะเดียวกัน ก็มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้เข้ามาช่วยเสริม เนื่องจากมะเขือเทศมีผลผลิตระยะสั้น คือ ช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค.เท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เกษตรกรนำผลผลิตอื่นๆ ที่มีอยู่ในครัวเรือนไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มะละกอ กระเจี๊ยบ หรือขิง นำมาแปรรูปเป็นผลไม้อบแห้งภายในโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านนางอยได้มีอาชีพตลอดทั้งปี
สืบสาน ส่งต่อความยั่งยืน
จากความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนใน อ.เต่างอย ให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร มีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการจิตอาสาพัฒนาเต่างอย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชาออกมาในรูปแบบของการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนโดยรอบโรงงานหลวงแห่งที่ 3 (เต่างอย)
ทั้งนี้ ได้ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยสยาม และศิลปินท้องถิ่นกลุ่มสะกะละ จัดการอบรม และทำกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เยาวชนในชุมชนเต่างอย จ.สกลนคร เพื่อให้สามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริมาปรับใช้กับชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้แก่เยาวชน และสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและชุมชน
สำหรับโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชนเต่างอยในปีนี้ คือเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 3 แล้ว โดยในส่วนของกิจกรรมดังกล่าวได้มีการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบของการจัดโครงการยังคงมุ่งเน้นการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและชุมชน ด้วยการนำความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริต่างๆ มาปรับใช้กับชุมชนในรูปแบบ "ค่ายศิลปะเยาวชน"
เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 40 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในพื้นที่ชุมชนเต่างอย และชุมชนบ้านยาง อ.เต่างอย จ.สกลนคร โดยในส่วนของเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้สีจากธรรมชาติภายในชุมชนเต่างอย พืชให้สีชนิดต่างๆ สีจากกากวัตถุดิบและเศษวัสดุเหลือใช้ของโรงงานหลวงแห่งที่ 3 (เต่างอย) เช่น ใบไม้ ดิน คราม กากกระเจี๊ยบแห้ง ครั่ง กากชา กาแฟ ใบสัก ใบกระถินณรงค์ เปลือกประดู่ เปลือกไม้แดง และมะเขือเทศเข้มข้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจะมีการนำสีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน เช่น การย้อมผ้า และการวาดลวดลายลงบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ด้วยสีชุมชน พร้อมทั้งพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โปสต์การ์ดภาพพิมพ์ ผ้าพันคอ เข็มกลัดเซรามิก และต่อยอดการเรียนรู้เรื่องสีชุมชนและสีโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 (เต่างอย) จากกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนเต่างอย ประจำปี 2558 ด้วยการพัฒนาฝีมือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น และใช้งานได้อย่างเหมาะสม สร้างเสริมมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้จากโรงงานหลวงฯ และชุมชน
ตลอดระยะเวลาที่จัดทำโครงการดังกล่าวทุกครั้งที่จัดล้วนได้รับผลการตอบรับดีจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วม และรวมไปถึงเยาวชนในชุมชน โดยตลอดระยะเวลา 3 วันที่จัดกิจกรรมในปีนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้การนำดินในชุมชนมาปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ เพื่อนำเป็นเครื่องปั้นดินเผาและงานเซรามิก รวมไปถึงทำสมุดทำมือ รวมไปถึงการย้อมสีผ้า และการย้อมคราม ซึ่งสีต่างๆ ที่นำมาย้อมผ้าจะเป็นพืชต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน เช่น ฝักคูน จะให้สีแดงอิฐ ใบหูกวางจะให้สีเทา ใบมะม่วงแก้ว และตะไคร้หอมจะให้สีเขียวอมเหลือง ครามฝักตรงจะให้สีฟ้าคราม เป็นต้น
แนวทางการพัฒนาแหล่งชุมชนต่างๆ ใน จ.สกลนคร ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศไทย เพราะนอกจากจะมีการสร้างแหล่งน้ำ ซึ่งภาคอีสานถือว่ามีแหล่งน้ำที่มีความแตกต่างไปจากทุกภาคแล้ว ยังมีการพัฒนาป่าไม้ พัฒนาอาชีพให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
อีกหนึ่งพระราชดำริที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และโรงงานหลวงสำเร็จรูปแห่งที่ 3 ที่เกิดขึ้นใน จ.สกลนคร คือ การก่อตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เพื่อดำเนินงานในด้านชลประทาน งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่ทรุดโทรม งานส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการประมง งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ งานศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์ดิน และน้ำ งานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน งานส่งเสริมการเกษตรด้วยการนำความรู้มาเผยแพร่ให้แก่เกษตรกร งานศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่างจัดระเบียบชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงงานฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร
จากพระราชดำริดังกล่าวศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงทำหน้าที่เสมือนเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" (Living Natural Museum) เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง สาธิต และการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมเป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสามารถพึ่งพาตัวเองได้
จากบ้านพ่อที่สร้างขึ้นภูพาน นำมาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่และเป็นต้นแบบในการพัฒนาอีกหลายพื้นที่ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ พร้อมทั้งสืบสานศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่เยาวชน เพื่อความยั่งยืนสืบต่อไป ถือเป็นบ้านพ่อ ที่สร้างเพื่อลูกๆ โดยถ่องแท้