จูบแรก หนูควรเตรียมตัวอย่างไรคะ
สันนิษฐานว่าไม่ใช่วัฒนธรรมไทยดั้งเดิม
สมัยบรรพบุรุษของไทยจนมาถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์คนไทยนิยมกินหมาก ฟันมีสีดำสนิท ไม่มีแปรงสีฟันยาสีฟัน อย่างมากก็ใช้ไม้ข่อยถูฟัน การจูบปากจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ บทอัศจรรย์ในกาพย์กลอนต่างๆ ก็ไม่มีการกล่าวถึง แม้แต่รูปที่วาดตามฝาผนังเกี้ยวพาราสีจนผ้าผ่อนหลุด ก็มีแต่การหอมแก้ม การจูบปากเป็นวัฒนธรรมตะวันตก หนังสือที่แปลจากภาษาอังกฤษบันทึกเรื่องนี้ไว้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนข้อสันนิษฐานว่าคนไทยจูบปากเมื่อไร คาดว่าน่าจะรับมาเป็นรายคนเลียนแบบฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5
เป็นการรวบรวมข้อมูลทางเพศของฝ่ายตรงข้าม
ในทางจิตวิทยาการจูบปากเป็นการรวบรวมข้อมูลทางเพศของฝ่ายตรงข้าม จากการสัมผัส ดมกลิ่น และลิ้มรส เป็นก้าวแรกของความสัมพันธ์ทางเพศ งานวิจัยจาก State University of New York at Albany พบว่าร้อยละ 59 ของชาย ร้อยละ 66 ของหญิง ยุติความสัมพันธ์เพราะจูบเข้ากันไม่ได้
การจูบปากแบบ Wet Kiss หรือ French Kiss ใช้ลิ้นล่วงล้ำเข้าไปในช่องปาก เป็นการกระตุ้นความต้องการทางเพศ จากผลของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนในน้ำลาย และเป็นเหตุการณ์จำลองของการร่วมเพศ
หลั่งฮอร์โมนรัก
ริมฝีปากมีเส้นประสาทจำนวนมากเชื่อมโยงสู่สมอง กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนแห่งความรักออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนแห่งความอยาก ความต้องการโดปามีน ซีโรโทนิน (Dopamine, Serotonin) ฮอร์โมนแห่งความตื่นเต้น เร้าใจ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ฮอร์โมนแห่งความสุข เอ็นโดรฟิน (Endorphine) ลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ช่วยคลายเครียด ทำให้อารมณ์ดี
การจูบมักพาเราไปสู่จุดที่มีอะไรกัน โดยมากฝ่ายชายจูบก่อนมีเซ็กซ์ ส่วนฝ่ายหญิงจูบเพื่อแสดงความรัก เมื่อเปิดโอกาสให้จูบ ผู้ที่ยังไม่พร้อมหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเอาได้
ส่งผลทั้งระยะสั้น ระยะยาว
การจูบส่งผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้น การจูบช่วยเลือกคนรัก ให้มองคนที่มีเคมีเข้ากัน ส่วนในระยะยาว การจูบกระชับความรักความผูกพันในคู่ครอง
เชื่อไหมว่าการจูบหนึ่งครั้งได้รับแบคทีเรียจำนวน 80 ล้านตัว ในบางรายช่วยกระตุ้นสร้างภูมิต้านทาน แต่บางรายอาจติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาอนามัยในช่องปาก มีโรคของเหงือก ฟัน ต่อมทอลซิลช่องคอ การจูบจะเพิ่มโอกาสติดเชื้อเริม เชื้อหูดหงอนไก่ เชื้อไวรัสต่างๆ ได้
โรคของการจูบ
โรคจูบ (Kissing Disease) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious Mononucleosis) ในน้ำลาย มักจะพบในคนอายุ 15-25 ปี ถึงร้อยละ 15 อาการมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต อ่อนเพลียเรื้อรัง ที่รุนแรงอาจเรื้อรังเป็นเดือน ม้ามโต ที่รุนแรงแต่เจอน้อยคือม้ามแตก หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตเอาได้ทีเดียว