รู้ยัง? อาหารผ่านกระบวนการแปรรูป “อย่างหนัก” ทำให้กินจุ-อ้วนง่าย
ผลการทดลองที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกยืนยันว่า อาหารที่ผ่านการปรุงและแปรรูปมามากเป็นพิเศษ (Ultra-processed food) ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น และลงเอยด้วยการกินมากกว่าที่ควรโดยเฉลี่ยถึงวันละกว่า 500 แคลอรี
ทีมนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) เผยว่าได้ให้อาสาสมัคร 20 คน เข้ารับการทดลองติดตามพฤติกรรมการกินอาหารในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม
อาสาสมัครดังกล่าวจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้รับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปมาอย่างหนัก ในขณะที่อีกกลุ่มจะรับประทานแต่อาหารธรรมชาติที่ไม่ผ่านการแปรรูป
อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มจะสลับชนิดอาหารที่รับประทานกันเมื่อเวลาผ่านไปครบ 2 สัปดาห์ โดยอาหารที่ใช้ในการทดลองทั้งสองชนิดผ่านการตรวจสอบแล้วว่า มีรสชาติความอร่อยทัดเทียมกัน ทั้งมีปริมาณแป้ง น้ำตาล ไขมัน และใยอาหารใกล้เคียงกันด้วย
หลังจากนั้นทีมผู้วิจัยพบว่า ในช่วงเวลาที่อาสาสมัครกินอาหารซึ่งผ่านการแปรรูปมามากเป็นพิเศษนั้น พวกเขามีแนวโน้มจะกินจุมากขึ้น โดยกินอาหารมากกว่าปกติโดยเฉลี่ยถึงวันละ 508 แคลอรี และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 1 กิโลกรัม
ดร.เควิน ฮอลล์ ผู้นำทีมนักวิจัยบอกว่า "นี่เป็นการทดลองครั้งแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่า อาหารแปรรูปกับความอ้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ซึ่งก็ชี้ว่าอาหารชนิดนี้อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนในหมู่ประชากรส่วนใหญ่ด้วย"
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ประมานการว่า โรคอ้วนที่ "แพร่ระบาด" ในหมู่ชาวอเมริกันนั้น เกิดจากการกินอาหารในปริมาณมากเกินควรไปเพียงวันละราว 200-300 แคลอรี
ดร. ฮอลล์บอกว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารแปรรูปมีผลเสียต่อสุขภาพเช่นนั้น อาจเป็นเพราะมันส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความรู้สึกอยากอาหาร "เมื่อคนเรากินอาหารธรรมชาติที่แทบไม่ผ่านการแปรรูป ฮอร์โมน PYY ซึ่งช่วยระงับความอยากอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่ทำให้หิวก็จะลดลง แม้ว่าจะกำลังกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำกว่าอยู่ก็ตาม"
อาหารที่ผ่านการแปรรูป "อย่างหนัก" ได้แก่อะไรบ้าง ?
โดยทั่วไปแล้ว อาหารแปรรูปคืออาหารที่ถูกกระบวนการผลิตทำให้เปลี่ยนไปจากสภาพตามธรรมชาติ เช่น อบ ทอด ตากแห้ง แช่แข็ง หรืออัดกระป๋อง ซึ่งเป็นอาหารที่พบส่วนใหญ่ในท้องตลาด บางชนิดผ่านการแปรรูปมาหลายขั้นตอนเป็นพิเศษ
แม้นิยามทางวิทยาศาสตร์ของอาหารที่ผ่านการแปรรูป "อย่างหนัก" จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ดร. ฮอลล์ บอกว่าอาจสังเกตพบอาหารประเภทนี้ได้ง่าย ๆ จากข้อมูลในฉลากสินค้าดังนี้
- มีส่วนผสมในอาหารที่คุณไม่รู้จักหรืออ่านออกเสียงแทบไม่ถูก
- มีส่วนผสมต่าง ๆ ในอาหารมากกว่า 5 อย่างขึ้นไป
- มีส่วนผสมในอาหารที่คนรุ่นก่อนหรือรุ่นคุณตาคุณยายไม่ถือว่าเป็นของกินได้
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น