รู้หรือไม่! ทำไมหนุ่มสาวในหลายประเทศ “ละเลยการใช้ถุงยางอนามัย”
เฮย์ลีย์* กำลังสนุกสนานกับการเที่ยวยามดึกหลังเลิกรากับคนรัก และเธอได้พบ แอรอน* ชายที่เคยรู้จักตั้งแต่เรียนชั้น ม.ปลาย ด้วยกัน แต่ไม่ได้พบกันนานหลายปี การพูดคุยออกรสจนกลายเป็นการจีบกัน และลงเอยด้วยการกลับบ้านด้วยกันในคืนนั้น
"เราเมา แล้วฉันก็เดาว่า ฉันคิดว่า เพราะเขาไม่ใช่คนแปลกหน้า ไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็คงไม่เป็นอะไร และก็อย่างที่เห็น มันไม่ใช่อย่างนั้น หลังจากนั้นฉันก็เริ่มมีอาการหนองในเทียม (chlamydia)" หญิงสาววัย 24 ปีเล่า
ในช่วงที่เฮย์ลีย์มีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวย ก่อนที่จะพบกับคนรักคนปัจจุบัน เธอกินยาคุมกำเนิด แต่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยบ่อยนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรู้สึกไม่ดีเวลาใช้ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นเพราะไม่กล้าด้วยเหมือนกัน
"ตอนนั้นฉันคิดโง่ ๆ ว่า 'ฉันไม่อยากให้พวกเขาคิดว่าฉันระวัง หรือว่าฉันน่าเบื่อ'" เธอบอก "จริง ๆ แล้วฉันกังวลเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ฉันไม่มั่นใจพอที่จะหยิบมันขึ้นมาใช้ เรื่องที่อยู่ในหัวฉันคือแค่อยากจะเอาใจผู้ชาย"
สำหรับเฮย์ลีย์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ติดมา ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจมีผลต่อการเจริญพันธุ์ของเธอ และนี่เองที่ทำให้เธอคิดได้ "ฉันไม่ได้มองมันอย่างนั้น แต่การไม่ใช้มันเท่ากับว่าคุณไว้ใจคนบางคนอย่างที่ไม่ควรจะทำเลย"
แม้ว่าจะมีการสาธิตวิธีใช้ถุงยางด้วยการสวมลงบนกล้วย ซึ่งเป็นการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แต่เฮย์ลีย์ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่สอบตกเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
จากการวิจัยของยูกอฟ (YouGov) และสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England-PHE) พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนอายุ 16-24 ปีที่ร่วมในการสำรวจ ยอมรับว่า มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เพิ่งรู้จักโดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย การสำรวจเดียวกันนี้ยังพบว่า 1 ใน 10 ของคนที่มีอายุ 16-24 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยเลย
ตัวเลขจากการสำรวจในระดับชาติพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยของคนอายุ 16-24 ปี ในสหราชอาณาจักรในปี 2013 อยู่ที่ 36% ลดจาก 43% ในปี 2003 ส่วนในสหรัฐฯ ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคชี้ว่า การใช้ถุงยางอนามัยในหมู่นักเรียนมัธยมปลายที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ก็ลดลงจาก 62% มาอยู่ที่ 54% ระหว่างปี 2007 และ 2017
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อัตราการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดได้เพิ่มขึ้น
PHE ระบุว่า คนหนุ่มสาวในอังกฤษได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุก ๆ 4 นาที โดยโรคที่ติดมีทั้งหนองในแท้ และหนองในเทียม ในกลุ่มคนที่มีอายุ 16-24 ปี ล่าสุดในปีนี้และปีที่ผ่านมายังพบกรณีการติดโรค 'ซูเปอร์หนองใน' ซึ่งดื้อยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา และติดซิฟิลิสเพิ่มขึ้นด้วย
แม้จะมีโครงการรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวรับถุงยางอนามัยฟรีที่ร้านขายยา แต่คนก็ยังไม่ใช้มันมากพอ เหตุผลที่เป็นไปได้ประการหนึ่งที่สำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือเอ็นเอชเอส พบคือคนหันไปใช้ห่วงคุมกำเนิดมากขึ้น แม้การผลิตถุงยางอนามัยจะมีวิวัฒนาการที่ช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ทำไมความนิยมใช้ก็ยังลดลง
"ช่วง 2-3 ปีแรกที่ผมมีเพศสัมพันธ์ประจำ เอชไอวี มีภาพที่น่าหวาดกลัวมาก" ซามูเอล* ปัจจุบันอายุ 27 ปี กล่าวถึงความรู้สึกกลัวและตราบาปเกี่ยวกับไวรัสเอชไอวีช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น
"เราได้ยินจากคนรุ่นก่อนว่า มันจะทำให้เราตาย ดังนั้นผมคิดว่า ผมเคยระมัดระวังเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยตอนที่เริ่มมีเซ็กส์ [10 ปีก่อน] มากกว่าตอนนี้มาก"
นอกจากนี้สื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นอันตรายของเอชไอวีก็ลดลงในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ซามูเอล ซึ่งเป็นชายรักชาย ยังชี้ถึงการเข้าถึงยาเพร็ป (pre-exposure prophylaxis--PrEP) ยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และการพัฒนาของยาต้านไวรัสที่ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคว่ามีผลเช่นกัน
ที่ออสเตรเลียมีการศึกษาพบว่าในช่วงปี 2013-2017 มีการใช้ยาเพร็ปเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 16% ในหมู่ชายอายุมากกว่า 16 ปี ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี ในรัฐวิกตอเรียและรัฐนิวเซาท์เวลส์ ขณะที่การใช้ถุงยางอนามัยกลับลดลงจาก 46% เป็น 31%
การพูดถึงเรื่องถุงยางอนามัยยังอาจทำให้บางคนหมดอารมณ์ทางเพศไปได้ บ้างอาจเขินอาย บุคคลที่บีบีซี ทรี พูดคุยด้วยกังวลว่า ถุงยางอนามัยอาจส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ
ศ. ซินเทีย เกรแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทางเพศและเจริญพันธุ์ มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน อธิบายว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกว่า เป็นปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศจากการใช้ถุงยางอนามัย "ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ" ทั้งในกลุ่มชายวัยหนุ่มและสูงวัย ความประหม่า ถุงยางหลวมหรือแน่นจนเกินไปล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นได้ รวมทั้งภาวะทางจิตวิทยาก็ล้วนมีผลต่อการพุ่งความสนใจไปที่การมีเซ็กส์ของผู้ชายได้ทั้งสิ้น
แต่ ศ. เกรแฮม เห็นว่าความคิดที่ว่า ถุงยางอนามัยมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศนั้น เป็นเรื่องที่กังวลกันไปล่วงหน้า และยังมีความเข้าใจผิดกันด้วยว่า "คุณควรจะต้องอึดและแข็งตัวอยู่ตลอด" แท้จริงแล้วการที่อวัยวะเพศอ่อนตัวลงเล็กน้อย ตอนเริ่มสวมถุงยางอนามัย "มันก็ไม่ได้หมายความว่า จะกลับมาใหม่ไม่ได้"
นี่เองอาจเป็นเหตุผลที่ควรต้องทำให้ถุงยางอนามัยน่าดึงดูดใจมากขึ้น และบุคคลหนึ่งที่พยายามทำสิ่งนี้คือ สเตซี ชิน ผู้ประกอบการชาวอเมริกัน บริษัทของเธอได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ในการทำถุงยางอนามัยที่หล่อลื่นตัวเองได้ เพื่อผู้ใช้รู้สึกดีและปลอดภัยในเวลาเดียวกัน
ถุงยางที่ว่านี้จะยังคงความหล่อลื่น แม้จะมีการเสียดสีเข้าออกอย่างน้อย 1,000 ครั้ง
ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพและวางแผนขอจดทะเบียนรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น