เรื่อง > dekyingwaiwai ภาพ > สุวิทย์ กิตติเธียร
โปรดเก็บตั๋วไว้ให้ตรวจด้วยนะครับพี่... ขอบคุณครับ
ไม่ว่าจะขึ้นรถเมล์หรือเข้าโรงหนัง เรามักจะได้ยินประโยคนี้จากคนขายตั๋วอยู่เสมอๆ และในทุกๆ ครั้งที่เขาบอกเราก็มักจะ...ขยำทิ้งบ้าง เก็บใส่กระเป๋าเลยบ้าง หรือไม่ก็เหน็บไว้เบาะข้างหน้าบ้าง!
หลายๆ คนมักจะมองข้ามความสำคัญของกระดาษใบเล็กๆ อย่างตั๋วไป แม้ว่าตั๋วจะไม่ใช่ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่จะต้องเก็บไว้แล้วส่งชิงโชค! แต่ตั๋วบางชนิดมีค่าแทนหรือเทียบเท่าเงินเลยทีเดียว เพราะข้อความที่อยู่บนตั๋วทุกใบ ตัวเลข ตัวหนังสือ สัญลักษณ์ สี สามารถบอกถึงความหมายและรายละเอียดของตั๋วใบนั้นๆ ได้ แถมยังเป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่ออกตั๋วและผู้ที่รับตั๋วอีกด้วย แม้ว่าตั๋วบางชนิดจะมีแต่ตัวเลข ที่มองดูแล้วยังไงก็ไม่มีความหมาย แต่หารู้ไม่ว่าตัวเลขเหล่านั้นซ่อนความหมายมากมายอย่างที่คุณคาดไม่ถึง!
ตั๋วการเดินทาง
ตั๋วรถเมล์
การเดินทางที่ถือว่าเป็นที่นิยมมากที่สุด ทั้งราคาและความสะดวก เป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยใช้บริการรถเมล์นั่นเอง ยิ่งเดี๋ยวนี้ ตั๋วรถเมล์เป็นมากกว่ากระดาษธรรมดาๆ ซะแล้ว โดยเฉพาะใครที่มักจะลืมของบนรถเมล์เป็นประจำ แล้วไม่รู้ว่าจะไปตามของที่หายได้จากที่ไหน ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เอาเป็นว่า เพียงแค่คุณเก็บตั๋วรถเมล์ไว้ คุณก็ได้ของคืนแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นเลขรหัสม้วนตั๋ว, เลขหมวดตั๋ว, โลโก้ ที่ปรากฏอยู่บนตั๋วใบเล็กนี่แหละ สามารถสืบทราบถึงสายรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ที่เบิกม้วนตั๋วม้วนนั้น ช่วงเวลาที่คุณใช้บริการรถเมล์สายนั้นๆ ได้ รับประกันได้ว่าถ้าคุณลืมแม้แต่กระเป๋าเหรียญใบกระจิ๊ด ก็ได้คืน
1. เลข 1-15 หมายถึง ตัวเลขแทนช่วงระยะทาง ตัวเลขเหล่านี้หมายถึงระยะทางที่กรมการขนส่งได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งรถเมล์ทุกสายไม่ว่าจะเป็นเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หรือรถร่วมบริการต้องใช้ร่วมกัน อย่างเช่นเลขที่แทนช่วงระยะทางที่ 1 ก็จะมีระยะทางตั้งแต่ตลาดอตก.3 เลี้ยวถึงถนนประชาราษฎร์ ระยะทางที่ 2 ก็จะมีระยะทางตั้งแต่ถนนประชาราษฎร์ถึงสะพานพระราม 7 เป็นต้น ตัวเลขแทนช่วงระยะทางนี้จะมีมากกว่าหรือน้อยกว่า 15 ช่วงระยะก็ได้ ขึ้นอยู่กับองค์กรที่ให้บริการว่าจะให้บริการเส้นทางที่ใกล้ไกล มากน้อยขนาดไหน
นอกจากจะแทนช่วงระยะทางแล้ว ตัวเลขเหล่านี้ยังสามารถบอกให้กับผู้โดยสารและนายตรวจตั๋วได้รู้อีกว่า ผู้โดยสารขึ้นจากรถเมล์ป้ายไหน และนับเป็นช่วงระยะทางที่เท่าไหร่ และถ้าเป็นรถเมล์ที่จ่ายเงินตามระยะทาง ก็จะบอกถึงราคาในแต่ละระยะทางอีกด้วย
2. โลโก้ของบริษัท บริษัทที่ให้บริการผู้โดยสารขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะใช้โลโก้แบบไหน ถ้าหากเป็นรถของขสมก. ก็จะเป็นตราของขสมก. แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ก็จะมีตราบริษัทที่ต่างกันออกไป จะเห็นได้จากตั๋วใบนี้ที่โลโก้เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ BSS
3. เลขรหัสม้วนตั๋ว เป็นเลข 3-4 หลักแรก (ซึ่งในแต่ละองค์กรที่ให้บริการจะกำหนดไม่เท่ากัน) ใน 7 หลัก ซึ่งจะแทนเส้นทางการเดินรถที่ทางขสมก.กำหนดขึ้น รวมทั้งยังแทนสายรถเมล์สายนั้นๆ ด้วย
4. เลขจำนวนผู้โดยสาร เป็นเลข 3-4 หลักต่อท้ายจากเลขรหัสม้วนตั๋ว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 000 ในทุกๆ ม้วนตั๋วและจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวัน รู้อย่างนี้แล้วใครที่อยากได้ตั๋วที่ลงท้ายด้วย 000 ไปรอกันที่ท่ารถตั้งแต่รถออกได้เลย
5. เลขหมวดตั๋ว เป็นเลขที่แทนรอบการผลิตตั๋วและแทนรถเมล์สายนั้นๆ ซึ่งจะมีตั้งแต่ 1-1000 เลยทีเดียว อย่างเช่นตั๋วรถเมล์ในรูปนี้ เลขหมวดตั๋วคือ 55
6. สีของตั๋ว สีของตั๋วนอกจากจะบอกถึงราคาแล้ว สำหรับรถเมล์ปรับอากาศคำนวณราคาตามระยะทางยังสามารถบอกถึงช่วงระยะในการเดินทางของผู้โดยสารอีกด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว ลงจากรถเมล์เมื่อไหร่ก็อย่าลืมที่จะเก็บตั๋วมาไว้ด้วยล่ะ เพื่อว่าถ้าลืมของจะได้บอกได้ว่ารหัสม้วนตั๋วคือตรงไหน เลขหมวดตั๋วคือเลขอะไร โอเค้...
คูปองตั๋วโดยสาร
สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถเมล์ขสมก. คงจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาคูปองตั๋วโดยสารอยู่บ้าง รายละเอียดบนหน้าตั๋วคูปองโดยสารจะคล้ายกันกับตั๋วรถเมล์ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นสี ราคา หรือเลขรหัสม้วนตั๋ว เพียงแต่ว่าจะมีสองส่วนในคูปองหนึ่งแผ่น เมื่อผู้โดยสารต้องการจะใช้ก็เพียงแค่ฉีกคูปองทั้งแผ่น ซึ่งกระเป๋ารถเมล์จะฉีกส่วนของผู้โดยสารให้เรา และเก็บส่วนของกระเป๋ารถเมล์ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้ตั๋วคูปองโดยสารของเรานั่นเอง
ตั๋วเรือ
ขึ้นรถแล้วก็ลงเรือบ้างดีกว่า การโดยสารทางน้ำนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แสนสะดวกสำหรับผู้โดยสาร ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางของเรือโดยสารได้แบ่งออกเป็น 3 เส้นทางคือ เส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางคลองแสนแสบ และเส้นทางคลองพระโขนง นอกจากนั้นยังมีเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ซึ่งการเดินเรือในแต่ละเส้นทางก็จะให้บริการในระยะทางที่ต่างกันออกไป ในขณะเดียวกันตั๋วก็จะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันด้วย แต่ที่เห็นจะแปลกสุดคงเป็นตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ยังไงๆ หน้าตาก็คล้ายกันกับตั๋วรถเมล์ ว่าแต่...ความหมายจะเหมือนกันรึเปล่าต้องไปดูกัน
1. แถบสีบอกรูปแบบของราคา มีสองแบบคือ ราคาเดียวตลอดสาย และราคาตามระยะทาง ซึ่งถ้าเป็นแถบทึบทั้งสองด้านจะเป็นราคาเดียวตลอดสาย แต่ถ้าเป็นแถบโปร่งนั่นหมายถึงมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับระยะทางนั่นเอง
2. สีตั๋ว สีของตั๋วเรือจะแบ่งตามระยะทาง และราคาที่ทางบริษัทได้กำหนดไว้
3. เลขรหัสม้วนตั๋ว รหัสม้วนของตั๋วเรือจะคล้ายกันกับรหัสม้วนตั๋วของรถเมล์ มีการกำหนดเลขรหัสม้วนของตั๋วแต่ละม้วน ซึ่งนอกจากตัวเลขแต่ละตัวแทนเส้นทางการเดินเรือแล้ว ยังแทนประเภทของเรือนั้นๆ เหมือนกัน อย่างในรูปนี้เลขรหัสม้วนตั๋วคือเลข 229 นั่นเอง
4. เลขจำนวนผู้โดยสาร เลขจำนวนผู้โดยสารจะถูกนับไปเรื่อยๆ คล้ายกันกับตั๋วรถเมล์ แต่มีอย่างหนึ่งที่ต่างกันคือตั๋วเรือจะไม่มีการตัดหน้าตั๋ว แต่จะนับจำนวนคนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ใครที่ต้องการที่จะได้ตั๋วเรือที่ลงท้ายด้วย 000 อย่างตั๋วรถเมล์คงต้องรอให้ตั๋วถูกใช้ไปจนกว่าจะหมดหมวดตั๋วหรือจนกว่าจะหมดรอบการผลิตในแต่ละครั้ง (ซึ่งจำนวนตั๋วในรอบการผลิตแต่ละหมวดตั๋ว จะมีมากกว่าพันใบ) แล้วถึงจะขึ้นตั๋วหมวดใหม่ จึงจะได้ตั๋วใบแรกที่ลงท้ายด้วย 000 นั่นเอง
5. เส้นทางการเดินเรือ เส้นทางการเดินเรือของเรือลำนั้นๆ หมายถึง ต้นสายและปลายสายของการเดินเรือประเภทนั้นๆ
6. โลโก้ของบริษัทที่ให้บริการ บริษัทที่ให้บริการผู้โดยสาร อย่างตั๋วใบนี้ก็จะเป็นโลโก้ของของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา
7. ขึ้น-ล่อง สังเกตได้ว่าถ้าเป็นตั๋วรถเมล์ จะใช้คำว่าไปและกลับ แต่สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยานั้น ขึ้นหมายถึงขาไปนอกเมือง ซึ่งจะมีเส้นทางจากวัดราชสิงขรไปนนทบุรี และล่องหมายถึงขากลับเข้าเมือง ซึ่งจะมีเส้นทางจากนนทบุรีกลับไปวัดราชสิงขร ความหมายเดียวกันแต่ใช้คนละคำนั่นเอง
ตั๋วเครื่องบิน
ขอเหินฟ้ามาต่อกันที่ตั๋วนกเหล็กบ้าง แม้ว่าตั๋วเครื่องบินจะมีรายละเอียดครบถ้วนก็ตาม แต่สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เมื่อได้ตั๋วเครื่องบินมาแล้วคือการตรวจสอบจุดหมายปลายทางของเรา วัน เวลา ชื่อ นามสกุล ยิ่งถ้าเดินทางไปต่างประเทศด้วยแล้วละก็ ชื่อนามสกุลต้องเช็กให้ตรงกับพาสปอร์ตของเราด้วย เพื่อความชัวร์ในการเดินทาง!
สำหรับคนที่ใช้บริการการจองตั๋วทางอินเทอร์เน็ตหรือ E-ticket อย่าลืมตรวจสอบรายละเอียดในใบยืนยันการสำรองตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นชื่อของสายการบิน หมายเลขตั๋วเครื่องบินที่ออก และรหัสการจอง
ก่อนเดินทาง 1-2 วันควรตรวจสอบและยืนยันการเดินทางกับสายการบินโดยตรง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกะทันหันได้
ที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดบนเครื่องบิน
มีผลสำรวจมาว่า ผู้ที่นั่งท้ายเคบิน มีอัตราการรอดชีวิตถึง 69% สำหรับส่วนปีก มีอัตราการรอดชีวิต 56% เท่ากันกับด้านหน้าปีก
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ที่เรียกได้ว่าอาจมีโอกาสรอดน้อยที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก เพราะพื้นที่ตรงนั้นคือเคบินแรกหรือเป็นชั้นโดยสารชั้นหนึ่ง หรือชั้นธุรกิจ มีอัตราการรอดชีวิตเพียง 49% เท่านั้น
แต่ไม่ว่าผลสำรวจจะออกมาเป็นอย่างไร คงไม่มีที่นั่งที่ไหนปลอดภัยเท่ากับการที่ผู้โดยสารรัดเข็มขัด และทำตามคำแนะนำของลูกเรืออย่างเคร่งครัดหรอกนะ...จะบอกให้
ตั๋วรถทัวร์
ต่อกันที่การเดินทางอีกประเภทอย่างรถทัวร์ ในตอนนี้รถทัวร์มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้บริการเป็น 2 องค์กร คือทางกรมการขนส่งเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด และเอกชนเป็นผู้บริหารงานเองนั่นเอง
เดี๋ยวนี้กรมการขนส่งได้อำนวยความสะดวกในการจองตั๋วเพิ่มขึ้น นอกจากการซื้อตั๋วบนรถและหน้าท่ารถแล้ว ยังสามารถจองผ่านอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย แต่ไม่ว่าผู้โดยสารจะจองตั๋วรถทัวร์ในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ ตั๋วรถทัวร์ก็ยังเป็นหลักฐานในการจับจองพื้นที่ของเราเช่นเดียวกัน
1. ต้นขั้วตั๋วสำหรับพนักงานเก็บตั๋ว เป็นส่วนที่มีไว้สำหรับพนักงานเก็บตั๋วฉีกบนรถ
2. ส่วนสำหรับให้ผู้โดยสารเก็บไว้ เป็นส่วนที่ผู้โดยสารเก็บไว้เป็นหลักฐานหลังจากที่กระเป๋ารถทัวร์ได้ฉีกต้นขั้วไปแล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะมีใบกำกับภาษีแนบมาด้วย
3. คูปองอาหาร ส่วนนี้จะมีให้สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางไกลกว่า 300 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งผู้โดยสารสามารถนำคูปองนี้ใช้แทนเงินสดในการซื้ออาหารที่จุดซื้ออาหารได้
4. เลขที่อ้างอิง เลขที่อ้างอิงจะสื่อความหมายถึงสาขาของการจำหน่ายตั๋ว รวมถึงที่นั่งทั้งหมดในการขายตั๋วในแต่ละครั้ง
5. รหัสตั๋ว เลขทั้งห้าหลักนี้จะหมุนไปตามลำดับของตั๋วนั้นๆ ซึ่งก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารด้วย
6. หมวดมาตรฐานรถ หมวดมาตรฐานรถ คือประเภทของรถในการให้บริการนั่นเอง สามารถแบ่งได้เป็น 4 หมวด ได้แก่ มาตรฐาน 1 (ม.1) หรือป.1 (ปรับอากาศชั้น 1), มาตรฐาน 2 (ม.2) หรือป.2 (ปรับอากาศชั้น 2, มาตรฐาน 3 (ม.3) ซึ่งรถมาตรฐานนี้จะเป็นรถพัดลม และมาตรฐานสุดท้ายมาตรฐาน 4 (ม.4) รถที่อยู่ในหมวดมาตรฐานนี้ คุณสมบัติคล้ายกันกับรถมาตรฐาน 1 แต่ต่างกันที่จำนวนที่นั่งที่มากกว่า และประเภทรถจะเป็นรถสองชั้นทั้งหมด
7. ลายน้ำ ลายน้ำที่แสดงตราของบริษัทที่ให้บริการในการจองตั๋ว มีไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตั๋วรถทัวร์ปลอมนั่นเอง
8. ลาย Hologram ลาย Hologram เป็นรูป 3 มิติซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทที่ออกตั๋วให้กับผู้โดยสาร มีไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตั๋วรถทัวร์เช่นเดียวกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่ารถที่เรานั่งเป็นมาตรฐานไหน?
สังเกตได้ไม่ยากเลย ถ้าเป็นรถมาตรฐาน 1 จะแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อยคือ มาตรฐาน 1 ก. หรือรถ VIP ตัวรถจะมีสีฟ้าคาดชมพู แต่ถ้าเป็นมาตรฐาน 1 ข.พิเศษ ตัวรถก็จะมีสีฟ้าคาดเหลือง สำหรับมาตรฐาน 1 ข. ตัวรถจะมีสีฟ้าคาดขาว
สำหรับรถมาตรฐาน 2 ตัวรถจะมีสีฟ้าคาดส้ม แต่ถ้าเป็นรถมาตรฐาน 3 ตัวรถจะมีสีส้มและมาตรฐานสุดท้าย มาตรฐานที่ 4 ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ รถมาตรฐาน 4 ก. และรถมาตรฐาน 4 ข. ซึ่งตัวรถจะใช้สีเดียวกันกับมาตรฐาน 1 ก. และมาตรฐาน 1 ข. คือสีฟ้าคาดชมพู และสีฟ้าคาดขาว เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมือนกันนั่นเอง
ตั๋วรถไฟ
ปู๊นๆ... หากนึกถึงการเดินทางสุดคลาสสิกคงหนีไม่พ้นการเดินทางด้วยรถไฟอย่างแน่นอน ซึ่งการเดินทางด้วยรถไฟนี่แหละถือเป็นการเดินทางชนิดเดียวที่มีประเภทของตั๋วเยอะที่สุดถึง 11 ประเภท แต่ที่ยังมีใช้กันอยู่ทุกวันนี้มี 7 ประเภทด้วยกัน ตั้งแต่ตั๋วพิมพ์คอมพิวเตอร์, ตั๋วบาง, คูปองชานเมือง, ตั๋วชาน, ตั๋วสัมภาระ, ตั๋วโดยสารรายเดือน, ตั๋ว VIP ซึ่งทั้งหมดจะมีทั้งรูปแบบ ราคา รวมทั้งลักษณะในการใช้ที่ต่างกันอีกด้วย แต่ตั๋วที่ใช้และพบเห็นบ่อยที่สุดคงเป็นตั๋วพิมพ์คอมพิวเตอร์ มาดูกันดีกว่าว่าตั๋วคอมพิวเตอร์จะมีรหัสลับอะไรให้เราได้ไขบ้าง... เริ่มกันที่
1. สถานีต้นทางและสถานีปลายทาง สถานีต้นทาง-สถานีปลายทางนี้ไม่ได้หมายถึงจังหวัดที่เราขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสถานีในการจำหน่ายตั๋วและเป็นต้นสายที่เราเดินทางอีกด้วย
2. ประเภทขบวนรถไฟ ประเภทขบวนรถไฟหมายถึงชนิดของขบวนรถไฟที่เรากำลังจะโดยสารซึ่งมีทั้งหมด 8ประเภท ประกอบไปด้วย ขบวนรถด่วนพิเศษ, ขบวนรถด่วน, ขบวนรถเร็ว, ขบวนรถธรรมดา, ขบวนรถชานเมือง, ขบวนรถท้องถิ่น, ขบวนรถรวม และขบวนรถท่องเที่ยว
3. เลขที่ขบวนรถไฟ รถไฟของการรถไฟฯ ที่ให้บริการอยู่ในตอนนี้มีกว่า 90 ขบวน ตั้งแต่เลขขบวนรถที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งขบวนรถที่ 1 หรือรถไฟขบวนแรกนี้ มีเส้นทางคือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ นอกจากนั้นตัวเลขที่ว่านี้ยังแทนเส้นทางของรถไฟ หรือเรียกได้ว่าเป็นรหัสแทนเส้นทางในการเดินทางนั่นเอง
4. ชั้นและประเภทตู้ ชั้นจะมีตั้งแต่ชั้น 1-3 เรียงตามความพิเศษของชนิดรถไฟ ประเภทตู้มีทั้งหมด 2 ประเภทใหญ่คือ รถโบกี้และรถกำลังดีเซลราง รถทั้ง 2 ประเภทนี้จะถูกแบ่งออกเป็นอีก 10 ชนิดด้วยกัน ตามรูปแบบในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแบบรถนอน รถนั่ง ปรับอากาศหรือไม่ปรับอากาศ อย่างเช่นในตั๋วใบนี้ ชั้นและประเภทตู้จะเป็น 3 บชส. 76 หมายถึงรถโบกี้ชั้นสาม มี 76 ที่นั่ง
5. เลขที่นั่ง เลขที่นั่งจะปรากฏบนหน้าตั๋วก็ต่อเมื่อผู้โดยสารมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้า ซึ่งรูปแบบที่นั่งจะขึ้นอยู่กับประเภทตู้รถไฟที่ให้บริการ
6. ราคาตั๋ว ราคาตั๋วจะขึ้นอยู่กับระยะทางของเส้นทางในการเดินทาง ซึ่งราคาในเที่ยวไปและเที่ยวกลับก็จะต่างกัน แม้ว่าจะเป็นเส้นทางเดียวกันก็ตาม นั่นก็เพราะระยะทางที่เพิ่มขึ้นหรือสถานีที่ต่างกัน รวมทั้งประเภทรถไฟก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคารถไฟต่างกัน
ตั๋วรถไฟทั้งเจ็ด
*ตั๋วบาง สำหรับผู้โดยสารที่โดยสารจากที่หยุดรถ หรือป้ายหยุดรถที่ไม่มีช่องจำหน่ายตั๋ว พนักงานจะให้ตั๋วที่เรียกว่าตั๋วบางสำเร็จรูป
*คูปองชานเมือง สำหรับผู้โดยสารที่โดยสารขบวนรถชานเมืองทุกขบวน ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีหัวหมาก ใช้ได้ทั้งเที่ยวไป-กลับ
*ตั๋วชาน สำหรับผู้โดยสารที่โดยสารผ่านเข้าชานชาลาสถานีกรุงเทพฯ
*ตั๋วสัมภาระ สำหรับผู้ที่ต้องการนำสิ่งของหรือยานพาหนะขึ้นรถไฟด้วย
*ตั๋วโดยสารรายเดือน แบ่งเป็นสองรูปแบบ ทั้งเที่ยวเดียวและไปกลับ เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่ต้องเดินทางในระยะไกลบ่อยๆ
*ตั๋ว VIP สำหรับผู้โดยสารเฉพาะรถไฟชั้น 3 ทั้งเที่ยวไปและกลับ มีเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ (ฝั่งธนบุรี) - เชียงราก - ตลิ่งชัน - หัวตะเข้
*ตั๋วคอมพิวเตอร์ เป็นตั๋วที่พบเห็นบ่อยที่สุด มี 2 ประเภทคือ แบบสำรองที่นั่ง และไม่สำรองที่นั่ง
ตั๋วการแสดง
เมื่อพูดถึงการแสดงที่ต้องมีการจองตั๋วทุกชนิด หนีไม่พ้นบริษัทที่รับจองตั๋วอย่าง Thaiticketmajor อย่างแน่นอน การเปิดให้จองตั๋วของที่นี่มีให้จองตั้งแต่การแสดงนานาชนิดไปจนถึงกีฬาระดับโลกเลยทีเดียว ซึ่งเรียกได้ว่า 80 % ของตั๋วทั้งหมดก็จะเป็นตั๋วพลาสติกอย่างที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี สำหรับการผลิตตั๋วกระดาษของทาง Thaiticketmajor นั้นคงมีให้เห็นเฉพาะคอนเสิร์ตแบบ Open Air หรือคอนเสิร์ตที่ไม่ต้องจับจองที่นั่งล่วงหน้าเท่านั้น
แต่ด้วยความทันสมัยแล้ว ไม่ว่าจะตั๋วพลาสติกหรือตั๋วกระดาษ ก็ล้วนแต่มีลวดลายและรูปแบบที่สวยงามแตกต่างกันไป ทำให้นักสะสมตั๋วได้มีโอกาสเก็บตั๋วเหล่านี้ไว้เป็นคอลเล็กชั่นของตัวเองอีกด้วย ซึ่งในการผลิตตั๋วแต่ละแบบก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการแสดงนั้นๆ ด้วย
ตั๋วพลาสติก
1. หมายเลขเครื่องที่ออกตั๋ว T + ตัวเลขสองหลัก หมายถึงสาขาที่ออกตั๋ว
2. เลขบัตร เลขบัตรจะถูกนับจำนวนตามการออกบัตร
3. ชื่อบริษัทที่ทำบัตร หมายถึงชื่อบริษัทที่ผลิตบัตรให้กับบริษัท Thaiticketmajor
4. รหัสบัตร หมายเลขของบัตรที่นับตามจำนวนผู้เข้างาน
5. หมายเลขกำกับภาษี
6. ราคาบัตร ราคาที่ปรากฏอยู่ในช่องนี้ เป็นราคาที่แทนโซนในการชมการแสดง
แต่ถ้าหากเป็นบัตรที่ผู้จัดงานออกให้กับสื่อมวลชนและลูกค้าของผู้จัดงาน จะระบุเป็นประเภทของบัตรที่แทนด้วยคำว่า Comps แต่ถ้าเป็นบัตรที่สปอนเซอร์ออกให้ลูกค้า จะระบุแทนด้วยคำว่า Pro
ตั๋วคอนเสิร์ต (กระดาษ)
ตั๋วกระดาษมักจะถูกนำมาใช้ในงานที่ไม่ต้องจองที่นั่ง หรืองานที่จัดแบบ Open Air ดังนั้นรายละเอียดบนหน้าตั๋วก็จะน้อยกว่าตั๋วพลาสติก แต่ที่รับรองว่าตั๋วกระดาษทุกใบจะต้องมีคือ
1. รหัสตั๋ว เพื่อนับจำนวนคนที่เข้างาน
2. โซนในการเข้าชม (หลังตั๋ว) โซนในการเข้าชม ในบางคอนเสิร์ตราคามักจะเป็นตัวกำหนดโซนของการแสดงนั้นๆ อยู่แล้ว ซึ่งเราจะสามารถรู้ถึงโซนที่เราจะเข้าไปชมได้จากแผนผังหลังตั๋วนั่นเอง
ตั๋วการคลัง
ตั๋วเพชร
ไม่บอกก็รู้ว่าเพชรเป็นอัญมณีที่เรียกได้ว่ามีราคาค่างวดสูงที่สุดในบรรดาอัญมณีด้วยกัน ดังนั้นจะซื้อแต่ละทีก็ต้องมีสิ่งที่การันตีความมีค่านี้ซะหน่อย ซึ่งหากใครที่จะไปซื้อหรือจับจองอัญมณีสักชิ้น อย่าลืมขอตั๋วเพชรเขามาด้วยล่ะ
ใครที่กำลังงง ตั๋วพ้งตั๋วเพชรอะไรไม่เคยเห็น เราจะอธิบายให้ฟังดังนี้... ตั๋วเพชรที่ว่านี้ก็คือใบ Certification ของเพชรหรือเครื่องประดับที่ทำจากเพชรนั่นเอง ซึ่งทางร้านจะออกให้ก็ต่อเมื่อลูกค้าซื้อเครื่องประดับชิ้นนั้นๆ ไป
แม้ว่าหน้าตาของตั๋วเพชรแต่ละร้านจะไม่เหมือนกันแต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะความสำคัญมันอยู่ที่รายละเอียดบนหน้าตั๋วที่จะบอกถึงน้ำหนัก สีสัน การเจียระไน ความสะอาด ชนิดของเพชรในรูปแบบนั้นๆ ที่อยู่ในมือคุณ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดที่อยู่ในตั๋วเพชรในแต่ละใบจะเป็นเหมือนบัตรประจำตัวที่จะอยู่กับเครื่องประดับชิ้นนั้นๆ ตลอดไป และยังบอกได้ว่าเพชรที่อยู่ในมือคุณนั้นมีคุณภาพมากน้อยขนาดไหน
แม้ว่าบนหน้าตั๋วเพชรจะบอกถึงรายละเอียดที่สร้างความมั่นใจให้กับคนซื้อได้ว่ามีคุณภาพอย่างแน่นอน เรายังมีตัวช่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยการันตีได้ว่าเพชรเม็ดนั้นเป็นเพชรแท้ ไม่ใช่ของปลอมอย่างแน่นอน นั่นคือคุณสมบัติ Diamond 4C ซึ่งประกอบด้วย
1. Carat Weight น้ำหนักเพชร
2. Color สีของเพชร โดยทั่วไปเพชรที่เราเห็นกันจะอยู่ในกลุ่มของเพชรที่มีสีขาว และแบ่งความขาวออกเป็น 23 ขั้น คือตั้งแต่สี D (ขาวที่สุด) ไล่ไปจนถึงสี Z (เหลือง) ซึ่งเป็นเพชรขาวที่หายาก
3. Cut การเจียระไน สามารถแบ่งระดับความสวยงามตามมาตรฐาน GIA ได้ 5 ระดับคือ Excellent, Very Good, Good, Fair, Poor
4. Clarity ความสะอาดของเพชร จะกำหนดไว้ 10 ระดับหลักๆ คือตั้งแต่ IF (และ FL), VVS1, VVS2, VS1, VS2, SI1, SI2, I1, I2, I3 ตามลำดับ ทั้งนี้เพชรที่มีความสะอาดในระดับที่ไม่มีผลต่อประกายความสวยงามของเพชรคือต้องไม่ต่ำกว่า SI1 นั่นคือไม่มีสิ่งเจือปนที่มีสี
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นตัวการันตีของเพชรที่มีคุณภาพ นั่นคือสัญลักษณ์ของสถาบันอัญมณีศาสตร์อย่าง GIA HRD หรือIGI รับรองได้ว่าถ้าคุณได้ตั๋วเพชรที่มีการประทับตราของสถาบันเหล่านี้อยู่ในมือ ไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
ตั๋วจำนำ
หลายๆ คนอาจยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของตั๋วจำนำ ซึ่งตั๋วจำนำก็เป็นตั๋วอีกประเภทหนึ่งที่ข้อมูลบนหน้าตั๋วสามารถบอกได้ถึงรายละเอียดสินค้า หรือสิ่งของที่เรานำไปจำนำ ซึ่งผู้ที่นำสิ่งของไปจำนำจะต้องเก็บตั๋วจำนำไว้ให้ดีที่สุด เพราะตั๋วจำนำนี้จะเปรียบเป็นหลักฐานในการนำของไปจำนำ รวมทั้งยังเป็นหลักฐานที่จะบอกว่าเราจะต้องส่งดอกเบี้ยเท่าไหร่ เหลืออีกเท่าไหร่อีกด้วย
แล้วถ้าตั๋วจำนำหายล่ะ จะทำอย่างไร ...ไม่ยากเลย เพียงแค่เจ้าของตั๋วรับจำนำต้องมาแจ้งที่สถานธนานุบาล ทางสถานธนานุบาลจะออกใบแจ้งตั๋วหายให้ นำใบแจ้งตั๋วหายที่ทางสถานธนานุบาลออกให้ไปแจ้งความที่สน.ท้องที่ที่สถานธนานุบาลตั้งอยู่ภายใน 3 วัน หลังจากนั้นนำใบแจ้งตั๋วหายและบันทึกประจำวันจากสน.ไปที่กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (แผนกควบคุมโรงรับจำนำ) เพื่อประทับตราอนุญาตให้ส่งดอกเบี้ยหรือไถ่ถอน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถส่งดอกเบี้ยหรือไถ่ถอนได้ต่อไป
แต่เดี๋ยวก่อน!!! ที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ ระยะจำนำก็ยังเท่ากับระยะเวลาของตั๋วเดิมที่หายไปด้วย
ตั๋วที่ประทับใจของบก.
เล่าเรื่องตั๋วมาก็เยอะแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะให้บก.นักเดินทางของเรามาเล่าความทรงจำเกี่ยวกับตั๋ว และการเดินทางที่น่าประทับใจให้ได้อ่านกัน เรียกได้ว่าตั๋วที่เลือกมานี้เป็นสุดยอดของความประทับใจทั้งนั้นแหละ แต่จะรูปแบบไหนต้องไปอ่านดู
1. Boarding Pass สำหรับบอร์ดดิ้งพาสนั้น ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเก็บ เพิ่งเก็บช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี่เอง มันเริ่มจากเวลาเดินทางกลับจากต่างประเทศก็จะคาบอร์ดดิ้งพาสเอาไว้ในกระเป๋าใส่พาสปอร์ต เป็นเร็กคอร์ดเพื่อเตือนความจำว่าไปไหนมาบ้าง เพราะเวลาเราจะไปเมืองนอกแล้วต้องเขียนคำขอวีซ่ามันจะมีช่องให้กรอกประมาณว่า ในรอบสามปีที่ผ่านมาเดินทางไปไหนมาบ้าง
ผมเป็นคนเดินทางบ่อย ก็กลัวเขียนตกหล่น เดี๋ยวไม่ตรงกับบันทึกในคอมพิวเตอร์ของเขาเดี๋ยวเขาไม่ยอมให้วีซ่าอีก เพราะช่วงสี่ห้าปีมาหลังเทศกาลการก่อการร้าย การขอวีซ่าจะยุ่งยากกว่าก่อน ข้อมูลต้องกรอกให้ครบ จะดูจากพาสปอร์ตมันก็มั่วๆ เละๆ ไปทั้งเล่ม ก็เลยต้องเก็บบอร์ดดิ้งพาสเอาไว้ มัดหนังยางเอาไว้เป็นปีๆ จะได้จำได้ว่าไปไหนมาบ้าง พอเก็บไปเรื่อยๆ แล้วเอามาดูใหม่มันก็ให้อารมณ์ความรู้สึกดี หยิบใบไหนขึ้นมาดูมันก็จะจินตนาการย้อนไปทริปที่เคยไป ให้ความรู้สึกดีๆ เหมือนได้ย้อนกลับไปเที่ยวอีกรอบ
2. ตั๋วพิพิธภัณฑ์ อาชีพทำหนังสือเวลาไปไหนต่อไหน อดไม่ได้ที่จะหาเรื่องมาเขียน นอกจากบันทึกการเดินทางประจำวันที่ผมมักจะทำเวลาเดินทาง ผมมักจะแปะตั๋วติดไว้กับไดอารี่ด้วย เวลาไปไหนถ้ามีเวลาและโอกาส ผมมักจะแวะพิพิธภัณฑ์กับหอศิลป์แถวนั้น จะใหญ่จะเล็กถ้าแวะได้แวะหมด ความรู้สึกดีเวลาเราเข้าพิพิธภัณฑ์ก็คือ เวลาเราเดินอยู่ในนั้น เราจะรู้สึกว่าตัวเราช่างเล็กเหลือเกิน เพราะผลงานต่างๆ ที่เก็บไว้ในนั้นมันช่างยิ่งใหญ่จนทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นอณูจ้อยๆ บนโลกใบนี้ พิพิธภัณฑ์สำหรับผมนั้นเปรียบเสมือนเป็นที่ลดอัตตา ใหญ่มาจากไหน ให้มองไปรอบๆ พิเคราะห์พิจารณาสิ่งของต่างๆ ที่คนใหญ่จริงกว่าเราเขาสร้างสรรค์ทิ้งไว้บนโลกใบนี้ แล้วตัวเราก็จะค่อยๆ หดลงๆ จนเหลือตัวเล็กจ้อย อัตตาที่เคยเบ่งบานเกือบเท่าไดโนเสาร์จะเหลือแค่นาโน
3. ตั๋วระทึกขวัญ สองปีก่อน ผมเดินทางไปลอนดอน ครั้งนั้นไม่ได้ไปเที่ยว ไม่ได้ไปทำงาน แต่ไปในฐานะผู้ติดตามภรรยาที่ทำงานอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปประชุมที่ตลาดหลักทรัพย์ที่ลอนดอน เวลาเดินทางตามภรรยาไปประชุมต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว ฮ่องกง นิวยอร์ก หรือดีซี
ผมมักจะมีความสุข เพราะแต่ละวันไม่มีโปรแกรมอะไร ว่างทั้งวัน เมียประชุมตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผมก็ว่างแสนว่าง ส่วนใหญ่มักจะไปเดินเล่นตามพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ต่างๆ ในเมืองนั้น ครั้งไปลอนดอน ช่วงนั้นผมมักจะบ่นให้ใครต่อใคร (รวมทั้งคนอ่าน mars ด้วยในบทบก. ถ้ายังจำได้) ว่า ช่วงนั้นผมมันตัวซวย เดินทางไปไหน แถวนั้นมักจะมีเรื่องฉิบหายวายป่วงเกิดขึ้น ประมาณว่า ไปแถวโรม โป๊ปก็ตาย ไปอียิปต์ ก็มีผู้ก่อการร้ายยิงรถนักท่องเที่ยว ทริปนั้นผมยังเล่าให้คุณยุทธ วรฉัตรธาร ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วมทริปไปกับเมียผมฟังถึงเรื่องนี้ระหว่างกินเป็ดที่โฟร์ซีซั่น คุณยุทธหัวเราะและบอกว่า หวังว่าทริปลอนดอนนี่คงปลอดภัยนะ
ปรากฏว่ารุ่งขึ้น ชาวตลาดหลักทรัพย์ไปประชุมกัน ก็มีวางระเบิดครั้งใหญ่ที่ลอนดอน แม้อาจจะถูกมองว่าเป็นตัวซวย แต่ดวงคงยังไม่ถึงฆาต จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะขึ้นรถไฟใต้ดินสายที่ถูกบอมบ์ในช่วงเวลานั้นพอดี แต่ตอนที่ก้าวเท้าออกจากโรงแรม ผมเกิดเงยหน้ามองไปเห็นยอดโดมโบสถ์เซนต์ปอลที่อยู่ใกล้ๆ เลยเปลี่ยนใจเดินไปเที่ยวเซนต์ปอล ระหว่างที่มีบอมบ์ ผมไม่รู้เรื่องเลย ระหว่างอยู่ในโบสถ์ แม่โทรมาหาจากเมืองไทย ผมยังนึกว่าแม่ล้อเล่น ออกมาจากเซนต์ปอลถึงได้รู้เรื่อง ผมเลยเก็บตั๋วรถไฟใต้ดินแบบ 7 วันที่ซื้อเอาไว้เป็นที่ระลึก แถมด้วยตั๋วรถบัสที่ซื้อไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ขึ้น เพราะระบบขนส่งของลอนดอนในวันนั้นเป็นอัมพาตหมดทุกระบบ นับว่าเป็นลอนดอนที่ตื่นเต้นที่สุดตั้งแต่เคยไปมา
ขอขอบคุณ
- นายท่า สมพร ม่วงพลับ : นายตรวจตั๋วรถประจำทาง สาย 72 ท่าเทเวศร์
- บริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ จำกัด : สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม editor@thaiticketmajor.com 0-2262-3456
- สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ) สาขาเทเวศร์
และขอขอบคุณอีกครั้ง
เรื่อง > dekyingwaiwai ภาพ > สุวิทย์ กิตติเธียร
นิตยสารเจ๋งๆ น่าอ่าน Mars Magazine
www.marsmag.net
wm-- รู้ไหมว่า คำว่า "ตั๋ว" ในภาษาอีสาน แปลว่า "โกหก" นะจ๊ะตัวเอง