กว่าจะเป็นพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคล
ช่วงนี้ใครที่ผ่านไป ผ่านมาแถวท้องสนามหลวง คงจะเห็นผู้คนกลุ่มหนึ่งตอกโน่น ทำนี่ กันอย่างขะมักเขม้น และถ้าสังเกต ดี ๆ จะเห็นโรงโคที่มีโคคู่งาม 2 คู่อยู่ภายใน
หลายคนคงถึงบางอ้อกันแล้ว... นั่นเป็นเพราะว่าพรุ่งนี้บริเวณมณฑลท้องสนามหลวงจะกลายเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อเป็นสิริมงคลแด่พืชพันธุ์ธัญญาหาร และบำรุงขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรไทย
โคคู่งาม 2 คู่ ที่กล่าวมานั้น ก็คือ
พระโคที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อใช้ในพระราชพิธี ในปีนี้ พระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคเทิดและพระโคทูน ส่วนอีกคู่หนึ่ง เป็นพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคใสและพระโคฟ้า
ด้วยท่วงท่าที่ดูสง่างาม ไม่แสดงอาการตื่นตระหนกเมื่อต้องเผชิญกับผู้คนแปลกหน้าคนแล้วคนเล่า รูปร่างที่สมบูรณ์ ผิวพรรณสะอาดหมดจด สมกับเป็นพระโคแรกนาขวัญ แต่กว่าจะสมบูรณ์ เพียบพร้อมได้อย่างที่เห็นกันนั้น ต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝน
แม่งานในส่วนนี้ ต้องยกให้กับ ศูนย์วิจัยผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ จ.ราชบุรี กรมปศุสัตว์
สาโรช งามขำ ผอ.ศูนย์วิจัยการผสมเทียมฯ เล่าถึงความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายให้ฟังว่า การเตรียมความพร้อมจะมีการดูแลพระโคให้มีความสมบูรณ์ มีพลานามัยที่แข็งแรง ที่สำคัญ มีการฝึกซ้อมในเรื่องของการไถให้พร้อม ซึ่งมีการคัดเลือกพระโค โดยทางกรมปศุสัตว์จะมีหนังสือแจ้งให้ ทางปศุสัตว์จังหวัดทราบว่า เกษตรกรคนใดที่มีโคหรือโค คู่แฝด ที่มีลักษณะดี ถูกต้องตามตำรา มีความประสงค์ จะน้อมเกล้าฯถวาย สามารถแจ้งมาที่กรมปศุสัตว์ได้ ทางศูนย์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจดู ถ้าถูกต้องตามตำราจะคัดเลือกเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวาย
การฝึกซ้อมจะมีการฝึกซ้อมกันที่ศูนย์วิจัยผสมเทียมฯ โดยให้มีความพร้อมก่อนที่จะนำพระโคเข้ามาที่ท้องสนามหลวงเพื่อซ้อมในสถานที่จริงอีกครั้ง
“สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะเป็นเรื่องของอากาศที่ ขึ้นอยู่กับสภาพในแต่ละปี อย่างในปีนี้ อากาศร้อนไม่มากแต่จะกังวลเรื่องของฝนและลม เพราะที่ตั้งของโรงพระโคบริเวณท้องสนามหลวงตั้งอยู่กลางแจ้ง มีโอกาสโดนลมแรง ได้ตลอดเวลา ในส่วนของฝน เนื่องจากพระโคเป็นพระโคสายพันธุ์พื้นเมือง จะมีความทนทานสภาพอากาศเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี ตรงนี้สำคัญ ถ้าพระโคไม่แข็งแรง ไม่พร้อม การประกอบพระราชพิธีก็จะดำเนินไปอย่างลำบาก เพราะพระโคต้องเดินบนลานแรกนาถึง 9 รอบ ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที การปฏิบัติหน้าที่ของพระโคจึงต้องมีความพร้อม”
พระโคที่ใช้ประกอบในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนมากจะเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็นโคที่มีลักษณะดีตรงตามตำรา เช่น ขนสวยเป็นมัน เขาโค้งงามสีน้ำตาลส้ม ขนตา ขอบตา ผิว หาง จะเป็นสีขาว สูงไม่ต่ำ กว่า 150 ซม. น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 700 กก. มีอายุประมาณ 5-6 ปี และยังไม่ได้ทำหมัน เพราะจะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ คำบอกเล่าของ มานิต ปลัดสิงห์ เจ้าหน้าที่ดูแลและฝึกซ้อมพระโค ที่ศูนย์วิจัยผสมเทียมฯ
สิ่งสำคัญในการคัดเลือกพระโค คือ
ลักษณะขวัญ ซึ่งมี 5 จุดที่สำคัญ จุดแรก คือ ขวัญที่หน้าผาก ต่อมาเป็น ขวัญที่โคนหู 2 ข้าง เรียกว่า ขวัญทัดดอกไม้ ส่วน ขวัญที่หลังตรง ที่ใช้สะพายทับ เรียกว่า ขวัญสะพายทับ อีกขวัญหนึ่งจะอยู่ที่ กลางหลัง เรียกว่า ขวัญจักรกะ จะเป็นขวัญที่ค่อนมาทางหัวไม่ไปทางด้านท้ายลำตัว เพราะถ้าไปทางท้าย จะเรียกว่า ปัดตก ซึ่งเป็นลักษณะขวัญที่ไม่ดี
เมื่อคัดเลือกพระโคแล้ว จะมีการรีดน้ำเชื้อเก็บไว้ เพื่อนำน้ำเชื้อไปผสมพันธุ์ต่อไป จากนั้นจะทำหมัน เพื่อช่วยลดความก้าวร้าว ดื้อ ไม่เชื่อฟังลง เพราะธรรมชาติของโควัยหนุ่มจะไม่ค่อยยอมทำตามคำสั่ง
หลังจากนั้นจะเข้าสู่การ ฝึกซ้อม ในการฝึกไถจะนำพระโคที่มีอายุมากมาประกบหนึ่งต่อหนึ่ง ให้ไถให้ลากไปด้วยกัน ให้พี่สอนน้อง เมื่อสอนได้แล้ว จะจับแยกคู่ โดยจะให้ประกบคู่ของตนเองและซ้อมไถวันละ 20 รอบ ในปีนี้ พระโคเทิดกับพระโคทูน เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นพระโคตัวจริงมาแล้ว จึงให้เป็นพี่เลี้ยงสอนพระโคใสกับพระโคฟ้าที่เป็นพระโคสำรอง
เมื่อฝึกได้ 3 ปี จะได้เป็นพระโคสำรอง มาระยะหลังประมาณ 2 ปี จะได้เป็นพระโคตัวจริง เพราะพระโคในปัจจุบันหายาก 3-4 ปี ที่ผ่านมา ไม่พบที่ตรงตามตำราเลย
“สิ่งที่เน้นในการฝึก คือ จะไม่ตี ไม่พูดจาไม่ดีหรือคำหยาบคาย ถ้าทำผิดจะแตะที่ตัวพระโคเบา ๆ ให้รู้ว่าทำผิดแล้ว อย่าดื้อนะ จากนั้นจะลูบที่หัวและเกาให้ จะไม่ดุด้วยคำพูดที่รุนแรง หรือการตีแรง ๆ เพราะถ้าตีพระโคแรง ๆ ก็อย่าหวังว่าจะได้เข้าใกล้อีกเพราะเมื่อเข้าใกล้พระโคจะเอียงตัวเตะทันที” มานิตบอกเคล็ดลับการฝึกให้ฟัง
การฝึกใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ บางครั้ง ฟ้าฝนก็ไม่เอื้ออำนวยในการฝึก หลายต่อหลายครั้งที่ความร้อนทำให้พระโคหงุดหงิดไม่ยอมเดิน บางทีโกรธบิดจนแอกหักก็มี
“เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้จะหยุดทันทีไม่อยากเดินก็ไม่เดิน ประมาณ 5-10 นาที โดยจะยืนอยู่ด้วยกันเฉย ๆ มีการเอาน้ำลูบที่ตัวบ้าง จากนั้นจะพูดกับพระโคว่า พอใจจะเดินหรือยัง ถ้าพอใจแล้วก็ไป ถ้ายังไม่ยอมเดินอีก จะทำแบบเดิม ถ้า 3 ครั้งแล้วก็ยังไม่ยอมเดินอีก วันนั้นจะถือว่ายุติการซ้อม วันรุ่งขึ้นจึงค่อยเริ่มกันใหม่ จะไม่เอาแต่ใจเราต้องดูสภาพความพร้อมของพระโคด้วย”
การกิน การนอน การออกกำลังกายของพระโคไม่ได้พิเศษไปกว่าโคทั่วไป
แต่จะแตกต่างตรงที่การอาบน้ำ โดยพระโคจะอาบน้ำทุกวัน เพื่อช่วยลดกลิ่นเหงื่อ กลิ่นไคล กลิ่นที่จะล่อแมลง ซึ่งจะทำให้แมลงรบกวนน้อยลง ความอับ ความชื้นจะไม่ค่อยมี ทำให้พระโคสบายตัวขึ้น
“ของเสี่ยงทายทั้ง 7 อย่าง มีการนำมาให้พระโคกินก่อนทั้ง 7 อย่าง มี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำและหญ้า จะให้กินเมื่อฝึกไถเสร็จ พระโคจะกินหมดเกือบทุกอย่าง ในวันจริงจะไม่มีการงดอาหารพระโคก่อนเข้าประกอบในพระราชพิธี เพราะจะทำให้พระโคไม่มีแรง หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด วันจริงกลับไม่ค่อยกิน”
พระโคจะฝึกซ้อมก่อนถึงวันพระราชพิธีประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะนำพระโคมาอยู่ที่ท้องสนามประมาณ 10 วัน ก่อนถึงวันจริง โดยรถบรรทุก 6 ล้อ คู่ละคัน เพื่อเป็นการสร้างความเคยชิน ให้พระโคปรับสภาพ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เพราะ ถ้านำพระโคมาใกล้วันจริงเร็วเกินไป พระโคมีเวลาปรับตัวน้อย อาจเกิดปัญหาได้
“ตอนเช้า แปดโมง ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับเวลาในวันจริง จะนำออกจากโรงพระโคมาฝึกที่ลานเข้าลู่จริง จะจูงเดินรอบลานซ้อมไถ วันละ 15 รอบ เพื่อสร้างความคุ้นเคย”
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยมีกำลังใจในการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมในแต่ละปี พระโคกินของเสี่ยงทายทั้ง 7 อย่าง เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยแนะแนวทาง เพื่อแก้ไข ตั้งรับ หรือสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพ แต่ต้องควบคู่ไปกับการดูแลเอาใส่ใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนทุกคนร่วมด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้วัวหายแล้วล้อมคอก