กำเนิดป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯที่ร.6พระราชทานทุน


กำเนิดป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯที่ร.6พระราชทานทุน

"สาธารณกุศล" ในสังคมสมัยใหม่ช่วยเหลือและสร้างสิ่งดีๆ ต่อสมาชิกในชุมชนได้มากมาย บนเส้นทางของกลุ่มคนที่รวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ในประวัติศาสตร์ไทยมีบันทึกเกี่ยวกับกลุ่มป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิซึ่งดำเนินงานสาธารณกุศลบนแผ่นดินไทยปรากฏอยู่ด้วย ไม่เพียงแต่ประโยชน์ต่อส่วนร่วม แต่อย่างน้อยเสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมนี้สร้างแรงบันดาลใจสู่คนในสังคมและต่อยอดกลายมาเป็นกำลังในการสานต่อเจตนารมณ์แห่งสาธารณกุศล

ก่อนที่จะเอ่ยถึงมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คงต้องกล่าวก่อนว่าปัจจุบันมีมูลนิธิที่ดำเนินงานด้านสาธารณกุศลมากมาย กลุ่มที่ทำกิจกรรมโดยเพื่อ "การกุศล" อย่างแท้จริงล้วนส่งผลดีต่อเพื่อนร่วมชุมชน ในที่นี้มุ่งเป้าไปที่การก่อตัวของกลุ่มมูลนิธิที่ปรากฏในเอกสารราชการไทยและมีความเป็นมายาวนานอย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อันเป็นกลุ่มที่ส่งอิทธิพลต่อสังคมโดยรวม ไม่เพียงแค่เชิงผลจากกิจกรรม แต่ยังส่งผลต่อเชิงแนวคิด ดังเช่นคำบอกเล่าของบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงและคนเบื้องหลังที่คลุกคลีในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนานเคยเอ่ยถึง

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นคนในวงการบันเทิงอีกรายที่มักทำกิจกรรมด้านการกุศล การให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการเข้าร่วมกิจกรรม บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เล่าว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งมักพักอยู่ใกล้โรงเจในบ้านเกิด และพบเห็นกิจกรรมเก็บศพไร้ญาติประจำปี อีกทั้งยังพบเห็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (บางแห่งอ้างอิงว่า บิณฑ์ เอ่ยถึงมูลนิธิร่วมกตัญญูด้วย) ซึ่งทำกิจกรรมแจกอุปกรณ์ด้านการศึกษาแก่เด็กในจังหวัดต่างๆ บิณฑ์ เล่าว่า เคยได้รับของแจกในโรงเรียนด้วย ภาพจำและสิ่งที่สัมผัสในวัยเด็กมีผลต่อการตัดสินใจทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่นในปัจจุบัน (Sanook, 2559 และ The People, 2562)

สำหรับมูลนิธิด้านสาธารณกุศลในไทยที่มีความเป็นมายาวนานอย่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ต้องย้อนกลับไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ซึ่งติดต่อด้านการค้ามาอย่างยาวนาน

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านการค้าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้น ผู้สืบค้นทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า บ้านเมืองในสุวรรณภูมิติดต่อกับฮั่นไม่ต่ำกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ส่วนหลักฐานด้านการค้าแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพบว่ามีการค้าขายแลกเปลี่ยนในสมัยสุโขทัย ตรงกับปลายราชวงศ์ซ่ง (ประมาณพ.ศ. 1503-1822) พบการมาของคณะทูตจีนเมื่อ พ.ศ. 1825 (สกินเนอร์, 2548) และสัมพันธ์สืบเนื่องต่อมาถึงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1822-1911) (กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และคณะ, 2545)

นับตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มปรากฏชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้เรื่อยมา หลักฐานปรากฏชัดตั้งแต่สมัยอยุธยา กระทั่งถึงต้นรัตนโกสินทร์ ในบรรดาพ่อค้าชาวจีนที่มาตั้งรกรากนี้มี "พ่อค้าจีนธรรมรายหนึ่ง" เชิญรูปเคารพ "ไต้ฮงกง" มายังสยาม แล้วจึงเริ่มมีกิจกรรมเก็บศพไร้ญาติ นั่นจึงเป็นการเริ่มต้นของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งซึ่งก่อตั้งโดยชาวจีนในสมัยรัชกาลที่ 5

ความเชื่อเรื่องความตายสู่สุสานสาธารณะ
แม้ว่าชาวจีนส่วนหนึ่งจะประสบความสำเร็จสามารถยกระดับสถานะของตัวเองมาเป็นชนชั้นแนวหน้าได้ แต่บางส่วนก็ไม่สำเร็จดังหมายต้องเดินทางกลับจีน หรือบางรายที่ไม่มีโอกาสก่อร่างสร้างตัว บางคนจบชีวิตโดยไร้ญาติขาดมิตร ชาวจีนเชื่อกันว่า การตายโดยไม่มีหลุมฝังศพจะทำให้จิตวิญญาณไม่เป็นสุข ประกอบกับชาวจีนไม่นิยมเผาศพ เพราะถือว่าร่างกายเป็นของที่บรรพบุรุษให้มา ต้องรักษาให้ดีที่สุด จึงเกิดสุสานสาธารณะที่เรียกว่า "หงี่ซัว" ที่เชิงเขา ถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายยามยากของชาวจีนอพยพ


เสด็จพระราชดำเนินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว เมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2489 (ภาพจาก "ป่อเต็กตึ๊ง" บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย")

หากไม่ลงเอยที่สุดท้าย สภาพร่างที่เป็นศพไร้ญาติอาจเคราะห์ไม่ดี ถูกทิ้งไว้ 2-3 วัน ดังบันทึกของขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) ที่เขียนถึงสภาพบ้านเมืองสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ว่า

"...ข้างกำแพงวัดมหาธาตุมีต้นมะขามใหญ่มากต้นหนึ่ง มีคนนอนตายอยู่โคนต้นมะขามถึง 2-3 วัน จนขึ้นอืดไม่เห็นมีใครมาจัดการอย่างไร (คงจะเป็นคนขอทานหรืออย่างไรไม่ทราบ) ข้าพเจ้าออกไปดูทุกวันจนกระทั่งศพหายไป แสดงว่าพลตระเวณ หรือกรมสุขาภิบาลอะไรยังล้าหลังเหลือเกิน"

"หงี่ซัว" ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง พ.ศ. 2442-2443 โดยชาวจีนเรี่ยไรเงินซื้อที่นาแถบตำบลวัดดอน และตำบลทุ่งคอกกระบือ ทางด้านใต้ของชุมชนจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบ้านทวายเพื่อทำป่าช้า (ทั้งสองตำบลในสมัยใหม่อยู่ในอำเภอยานนาวา อันมีที่ตั้งสุสานจีนหลายแห่ง)

ในหนังสือ "ป่อเต็กตึ๊ง บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมไทย" เล่ากระบวนการช่วยเหลือผู้ตายโดยไร้ญาติว่า การช่วยเหลือเป็นระบบมากขึ้นภายหลังพ่อค้าชาวจีน 12 คนร่วมตั้ง "คณะเก็บศพไต้ฮงกง" เมื่อ พ.ศ. 2452 เก็บศพไร้ญาติโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ คณะเก็บศพฯนี้เองเป็นรากฐานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนานกว่า 90 ปี

ไต้ฮงกง
สำหรับประวัติของไต้ฮงกง ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุอำเภอเตี้ยเอี้ย (เฉาหยัง) เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง แต่ก็ต้องยอมรับประวัติส่วนหนึ่งเป็นการบอกเล่ากันต่อมา ประวัติส่วนหนึ่งเล่าว่า ไต้ฮงกง เกิดในเมืองเวินโจว เมื่อ พ.ศ. 1582 เดิมชื่อหลิงเอ้อ เกิดในครอบครัวฐานะดี สอบได้เป็นบัณฑิตระดับจิ้นซื่อ เข้ารับราชการเป็นนายอำเภอเมื่ออายุ 54 ปี แต่ออกจากราชการเพราะเบื่อหน่ายการแก่งแย่งและสภาพผันแปรทางการเมือง และมาอุปสมบทเผยแพร่ธรรมะในมณฑลฮกเกี้ยนอย่างยาวนาน

ไต้ฮงกงปฏิบัติธรรมและยังจัดการเก็บศพผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และตั้งศาลาทานรักษาโรค จัดหาอาหารและสิ่งของให้ผู้ยากไร้ ชักชวนชาวบ้านและศิษย์ให้ประกอบกุศล จนชาวจีนทางตะวันออกเฉียงใต้เลื่อมใสศรัทธาสืบต่อกันมา

ไต้ฮงกงในไทย
ความเลื่อมใสในไต้ฮงกงเข้ามาในไทยอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อนายเบ๊ยุ่น พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลจากฮั่วเพ้ง อัญเชิญรูปจำลองไต้ฮงกงมากรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. 2439 ในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าอัญเชิญมาทางเรือกลไฟจากท่าเรือซัวเถา อันเป็นวิธีเดินทางของพ่อค้าส่วนใหญ่ นายเบ๊ยุ่น อัญเชิญไต้ฮงกงมาที่ร้านค้าของเขาชื่อร้านกระจกย่งชุ้นเชียงแถววัดเลียบ หลังจากนั้นก็เริ่มแผ่ขยายความเลื่อมใสมายังชาวจีนในกรุงเทพฯ

ช่วงเวลา 3-4 ปี (พ.ศ. 2442-2443) หลังจากการอัญเชิญพระพุทธรูปไต้ฮงกงมาบูชาในสยาม ชาวจีนเริ่มจัดซื้อที่นาที่ตำบลวัดดอนและวัดทุ่งคอกกระบือในอำเภอบ้านทวายเพื่อทำป่าช้าสาธารณะโดยมีการเรี่ยไรเงิน ปรากฏผู้บริจาค 710 ราย รวมทั้งหมด 74,199 บาท (สมัยนั้น 1 ตำลึงใช้เป็นค่าภาษีผูกปี้ทดแทนแรงงานได้ 3 ปี)

ช่วงเวลานั้นมีป่าช้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง แต่มีการฝังศพมากกว่าปีละ 800 ศพ กระทั่งในปีพ.ศ. 2452 พ่อค้าชาวจีน 12 คนรวมตัวกัน (ปรากฏนามบุคคลหรือยี่ห้อตามเอกสารในหอจดหมายเหตุด้วย) เรี่ยไรจัดตั้งคณะเก็บศพไม่มีญาติทำสาธารณประโยชน์ในชื่อกลุ่ม "คณะเก็บศพไต้ฮงกง" กลายเป็นรูปธรรมของการสาธารณกุศลที่สำคัญอีกแห่งของไทย ปรากฏการจ้างพนักงานนำโลงกับเครื่องนุ่งห่มสำหรับศพ ไปหามศพมาจัดการฝัง เรียกได้ว่าเป็นการสอนต่อเจตนารมณ์ของไต้ฮงกง และคณะฯนี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแห่งประเทศไทย

พ่อค้าชาวจีน 12 คน สู่คณะเก็บศพไต้ฮงกง
สิ่งที่น่าสนใจของพ่อค้าชาวจีน 12 รายนี้ บางรายเป็นที่รู้จักและเป็นต้นตระกูลบุคคลสำคัญหลายวงการในปัจจุบัน อาทิ พระอนุวัตร์ราชนิยม (ยี่กอฮง) ต้นตระกูลเตชะวณิช, ตันลิบบ๊วย บุตรชายของตันฉื่อฮ้วง บรรพบุรุษต้นตระกูลหวั่งหลี, อึ๊งยุกหลง บุตรชายของอึ้งเหมี่ยวเหงี่ยน บรรพบุรุษต้นตระกูลล่ำซำ

งานวิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพ่อค้า 12 รายนี้ฉายภาพเพิ่มเติมว่า เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว 10 คน จีนแคะ 1 คน และจีนฮกเกี้ยน 1 คน ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีนอิสระยุคคลื่นอพยพในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นกลุ่มนายทุนเจ้าภาษีที่สืบทอดฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า เป็นกลุ่มพ่อค้าที่ต่อสู้ก่อร่างสร้างตัวจากชนชั้นแรงงานเป็นส่วนใหญ่ ย่อมเข้าใจสภาพพื้นฐานในสังคมได้ดี

คณะเก็บศพฯ ที่ก่อตั้งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินไปอย่างราบรื่น 3 ปีแรกเก็บศพไปฝั่งที่สุสานสาธารณะในซอยวัดดอนประมาณปีละ 2,250 ศพ ค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 15,000 บาท โดยส่วนใหญ่ได้มาจากการเรี่ยไรพ่อค้า ในพ.ศ. 2455 คณะเก็บศพฯ ประสบภาวะเงินไม่พอใช้จ่าย สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี ฝนไม่ตกตามฤดูกาล คณะไต้ฮงกง จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือถึงเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ลงวันที่ 16 กรกฎาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)

เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลถวายความเห็นใจความตอนหนึ่งว่า

"...การที่คณะไต้ฮงกงได้จัดทำขึ้นนี้ก็เปนสาธารณะกุศลพิเศษส่วนหนึ่ง แลเปนประโยชน์แก่การศุขาภิบาลสำหรับพระนครด้วยมากอยู่ ถ้าจะเทียบกับโรงพยาบาลเนอซิงโฮมเซนหลุยก็หนักกว่า สมควรที่จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ศุขาภิบาลออกเงินช่วยอุดหนุนคณะนี้สักปีละ 2,000 บาท พอให้เปนกำลัง อย่างที่ได้พระราชทานโรงพยาบาลเนอซิงโฮมอยู่ปีละ 960 บาทนั้น แต่เกรงว่าเงินในกรมศุขาภิบาลปีนี้อยู่ในอาการคับแคบจะไม่พอจ่ายรายการประจำ ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เพิ่มงบประมาณเป็นพิเศษเฉภาะปีนี้ได้ก็จะเปนการสดวก..."

คณะผู้จัดทำวิจัยบรรยายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานเงินดังกล่าวแก่คณะเก็บศพไต้ฮงกง ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่อ ปรากฏพระราชหัตถเลขาว่า

"ดีแล้ว อนุญาต"

การดำเนินงานในช่วงยุคแรกอยู่ภายใต้การดูแลของเบ๊ง่วนหลี และสืบทอดมาถึงรุ่นลูกคือเบ๊กุ่ยคิม การเก็บศพระยะแรกใช้การหาม ไม่กี่ปีก็ถึงจะใช้รถลาก แต่เป็นคนละแบบกับรถลากที่คนกรุงเทพฯนิยม รถลากเก็บศพสมัยก่อนเป็นรถไม้ ใช้ล้อไม้ขนาดใหญ่ มีช่องพอดีวางศพ คนข้างหน้าลาก 1 คน คนข้างหลังใช้ผลักอีก 1 คน

เวลาต่อมา ปลายทศวรรษ 2470 จากการบอกเล่าของศิลปินนักดนตรีเก่าแก่ที่เกิดในย่านสี่พระยา บอกเล่าว่า เมื่อคนตายไม่มีญาติ มักบอกกันให้รถป๋องแป๋งมารับศพ จะใช้ตะโกนกัน และรถมาเร็วด้วย

"ป๋องแป๋งเขาจะเคาะกลองใบเล็กๆ ดังโป๋งปั๋งๆๆ เหมือนอย่างเจ๊กย้อมผ้า...แต่ว่าเจ๊กย้อมผ้าเขามีกลองอีกอย่าง ...ชาวบ้านเห็นคนตายก็จะบอกว่าตายอยู่ตรงนั้น คือเป็นสื่อตลอดทาง คือหาง่าย เดี๋ยวนี้บ้านอยู่ติดกันยังไม่รู้จักเลยว่าบ้านไหน..."

เสียง "ป๋องแป๋ง" ในยุคนั้นเปรียบเสมือนเสียงไซเรน ซึ่งนายสมาน (ใหญ่) นภายน ผู้เล่าบอกไว้ว่า คำว่า "ป่อเต็กตึ๊ง" มาทีหลังคำว่า "ป๋องแป๋ง" เสียงเคาะนี้ยังมีความหมาย นายวัย วรรธนะกุล เล่าว่า "การเคาะเช่นนี้เป็นการภาวนา เหมือนกับการเคาะและภาวนาในพิธีกรรมต่างๆ แบบจีนอย่างที่เคยเห็นกัน เขาภาวนาแผ่กุศลให้ศพไร้ญาติ..."

สู่ป่อเต็กตึ๊ง

ในพ.ศ. 2480 คณะเก็บศพฯ ปรับปรุงวัตถุประสงค์และจัดระเบียบข้อบังคับ พร้อมขออนุญาตจัดตั้งเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในพ.ศ. 2480 อันทำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลายเป็นองค์กรที่ทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้กว้างขวางยิ่งขึ้น และแบ่งเบาภาระราชการ ทั้งในช่วงที่บ้านเมืองประสบภัย อาทิ สงครามโลก และสงครามเย็น

(ในปีที่จัดตั้งคณะเก็บศพฯ มีการซื้อที่ดินถนนพลับพลาไชย และได้สร้างศาลเจ้าในที่ดินผืนนี้ ใช้ชื่อว่าศาลป่อเต็กตึ๊ง อัญเชิญพระพุทธรูปไต้ฮงกงที่นายเบ๊ยุ่นอัญเชิญมาจากจีน มาประดิษฐานเป็นพระประธาน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ คณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 1 เล่าความหมายของจารึกชื่อบนประตูทางเข้าว่า "ป่อเต็กตึ๊ง" ว่า ป่อเต็ก แปลว่า การสนองคุณ ตึ๊ง แปลว่า ศาลา หมายถึงสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกพระคุณท่าน)

กำเนิดป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯที่ร.6พระราชทานทุน

คณะกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสมัยที่ 1

เหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เกิดปัญหาทางสังคมและความผกผันทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนหลายครั้ง แต่มูลนิธิฯ ยังยืนหยัดเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนในสังคม บรรเทาสาธารณภัย ครั้งหนึ่งที่เกิดพายุโซนร้อนแฮเรียตเข้าทางภาคใต้ เมื่อพ.ศ. 2505 สร้างความเสียหายรุนแรงใน 12 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะแหลมตะลุมพุก ผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายครั้งนั้นนับพันราย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งร่วมกับมูลนิธิต่างๆ ในท้องถิ่น เก็บและฝังศพผู้เสียชีวิต โดยฝังเป็นหมู่ หลุมละ 6-7 ศพ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด เมื่อเหตุการณ์ผ่านแล้วจึงขุดหลุมชั่วคราวขึ้นมาประกอบพิธีทางศาสนา

ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร มูลนิธิฯ พัฒนาเครือข่ายและปรับปรุงการดำเนินงานมาตามลำดับ มีตั้งแต่การจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว และสถานศึกษาคือวิทยาลัยหัวเฉียว เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่มูลนิธิฯ เสด็จพระราชดำเนินมามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2489 ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ครั้งต่อมาในพ.ศ. 2522 เสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร 22 ชั้น โรงพยาบาลหัวเฉียว และพ.ศ. 2537 เสด็จฯ พิธีเฉลิมพระเกียรติและสถาปนามหาวิทยาลัย พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ"

เส้นทางจากจุดเริ่มต้นมาถึงการปรับปรุงเป็นมูลนิธิฯ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยเฉพาะแง่ความสัมพันธ์ไทยจีน ซึ่งช่วยเพิ่มความใกล้ชิดท่ามกลางความทุกข์ยากสืบต่อกันมา และสอดคล้องกับหลักคุณธรรม 8 ประการที่ชาวจีนอบรมลูกหลาน คือ

ตง - ซื่อสัตย์สุจริจ จงรักภักดี
ห่าว - กตัญญู
หยิ่ง - เมตตา กรุณา
ไอ่ - รัก
ชิ่ง - สัจจะ รักษาคำมั่นสัญญา
หงี - สัจธรรม ความเป็นธรรม
ฮั่ว - อ่อนโยน สมัครสมาน สามัคคี
เพ้ง - เสมอภาค สงบ


เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag

กำเนิดป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯที่ร.6พระราชทานทุน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์