ไม่ใช่แค่ ม.จ.จุลเจิม! เผยประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องราวที่เจอ


ไม่ใช่แค่ ม.จ.จุลเจิม! เผยประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องราวที่เจอ


เป็นประเด็นขึ้นมาทันที หลัง พล.อ.ม.จ.จุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษ แสดงความคิดเห็นเสนอให้ทุบ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทิ้ง หลังกลุ่ม ม็อบเฟสต์ นำผ้าขาวขนาด 30x30 เมตร ขึ้นไปพันรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม เคยนำเสนอเรื่อง "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" เกือบถูก "รื้อ" เพื่อสร้างอนุสาวรีย์ให้ "รัชกาลที่ 7" เขียนโดย เมฆา วิรุฬหก ความว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยกลุ่มคณะราษฎร

แต่เมื่อกลุ่มคณะราษฎรแตกสลาย และ กลุ่มอำนาจเก่าเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็เกือบสิ้นชื่อ เมื่อรัฐบาลในยุคนั้นเสนอให้มีการ "รื้อ" อนุสาวรีย์แห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้าง อนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ขึ้นมาแทนที่




ข้อมูลดังกล่าวปรากฏในบทความ "การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494" โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556

ซึ่งระบุว่า กรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศในเดือนกรกฎาคม 2495 ว่า ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนราชดำเนินตัดกับถนนดินสอ ซึ่งก็ต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ขึ้นแทนที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จและทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483

คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ พล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รมว.มหาดไทย พระยาราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ท. หลวงบุรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาล หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร ม.จ. ยาใจ จิตรพงศ์ ม.ร.ว. เทวธิราช ป. มาลากุล ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นกรรมการ และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการในการดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว


ไม่ใช่แค่ ม.จ.จุลเจิม! เผยประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องราวที่เจอ


ที่น่าแปลกใจก็คือ คณะรัฐมนตรี ที่เสนอให้มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เพิ่งก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 เพื่อลดบทบาทของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีอิทธิพลมากขึ้นด้วยผลของรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยม พ.ศ. 2492 ซึ่ง ศรัญญู กล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ "เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิยมเจ้าเข้ามามีบทบาทในวุฒิสภาและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ"

การก่อรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 คณะผู้ก่อการได้ประกาศให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับกษัตริย์นิยม โดยอ้างถึงความสำคัญทางแบบพิธีในฐานะที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 และในบทบัญญัติก็ได้วางแนวทางการแก้ไขไว้แล้ว "ไม่เป็นการสมควรที่ใครจะยกเลิกและสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าในชั่วเวลาไม่ถึง 20 ปี ก็ได้มีการแก้ไขและทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หลายครั้ง"


ไม่ใช่แค่ ม.จ.จุลเจิม! เผยประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องราวที่เจอ


ส่วนแนวคิดอันมาที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ นั้น ศรัญญูอธิบายว่า "เพื่อลดกระแสต่อต้านจากราชสำนักหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ที่นำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้แทน" พร้อมกับสดุดีพระปกเกล้าฯ ในฐานะผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แรกทีเดียวแผนโครงการต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมมุขตะวันออก แต่คณะกรรมการฯ มองว่า พื้นที่ดังกล่าวคับแคบไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าไปสักการะ พล.ต.บัญญัติ ประธานคณะกรรมการฯ จึงเสนอว่า

"ควรจะสร้างตรงอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยปัจจุบันนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้เป็นอนุสสาวรีย์ซึ่งเป็นของสิ่งหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน จึงมิใช่พระองค์ท่าน เป็นเพียงวัตถุส่งของเท่านั้น ฉะนั้นเหตุใดจึงไม่เอาพระบรมรูปของพระองค์ท่านตั้งแทน"

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

แม้คณะกรรมการฯ จะประกอบด้วยบุคคลที่มีส่วนในการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ด้วย แต่การคัดค้านการสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าขึ้นแทนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเรื่องยาก ซึ่งศรัญญูกล่าวว่าเนื่องมาจาก "กรรมการฯ ส่วนใหญ่มีแนวคิดและอุดมการณ์โน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม"




ด้าน จอมพล ป. เมื่อได้ทราบว่าคณะกรรมการฯ ต้องการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้า ก็มิได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่เป็น พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น และหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎรที่ทำหนังสือถึงจอมพล ป. ขอให้หาทำเลใหม่ในการจัดสร้างแทน แต่การคัดค้านไม่เป็นผล

ส่วนเหตุที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงอยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน ศรัญญู กล่าวว่า เป็นเพราะโครงการประสบปัญหาขาดงบประมาณ แม้ฝ่ายราชสำนักจะพยายามผลักดันให้มีการสร้างอย่างเร่งด่วน แต่ กระทรวงการคลังที่พล.ต.ประยูร นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีอยู่ด้วยนั้นไม่อาจจัดหาเงินมาได้ และเสนอให้ใช้งบในปี พ.ศ. 2496 แทน คณะกรรมการฯ จึงไปขอให้จอมพล ป. นำงบจากกองสลากมาใช้ แต่จอมพล ป. อ้างว่า เงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้ไปหมดแล้ว

สุดท้าย พล.ต.บัญญัติ จึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ให้ระงับการจัดสร้างไว้ก่อนเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งจอมพล ป. รับทราบ พร้อมแสดงความเห็นว่า "เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม"

 




ศรัญญู กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ได้เงียบหายไป จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีการเสนอให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ร่วมอยู่ด้วย แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้รื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามแนวทางเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี โครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของรัฐบาลถนอมก็มิได้เกิดขึ้น และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลถนอมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ประสบผลสำเร็จ (แล้วเสร็จในปี 2523 หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ อนุมัติในปี 2517) ซึ่งศรัญญูกล่าวว่า เป็นเพราะอุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยของพระปกเกล้าคือพลังสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร


ไม่ใช่แค่ ม.จ.จุลเจิม! เผยประวัติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องราวที่เจอ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์